ธุรกิจดี สังคมดี เกิดขึ้นได้ใน SE

ธุรกิจดี สังคมดี เกิดขึ้นได้ใน SE

วิสาหกิจเพื่อสังคม นับเป็นทิศทางใหม่ที่ดี มีรูปแบบการดำเนินการไม่แตกต่างจากการทำธุรกิจทั่วไปแต่นำเอาดอกผลที่ได้ไปสนับสนุนสังคม

การจัดการที่ดีที่มีใช้ในบรรษัทข้ามชาติ และวิสาหกิจขนาดใหญ่ของไทย นอกจากจะมีการเรียนรู้และถ่ายทอดไปยังวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ธุรกิจขนาดย่อมในครัวเรือน เพื่อให้มีการบริหารจัดการที่ดี มีผลิตภาพ คุณภาพ และมาตรฐาน อีกทั้งยังมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังสามารถนำไปมาปรับใช้ในกิจการเพื่อสังคมได้อีกด้วย

การดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่มองดูผิวเผินอาจจะคิดว่าไม่ใช่หน้าที่และความรับผิดชอบของใครหลายคนก็ตาม แต่ถ้าจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐเพียงฝ่ายเดียว คงไม่มีทางที่จะดูแลให้ดีได้อย่างทั่วถึง ยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาที่มีงบประมาณจำกัด การเลือกที่จะทำหรือไม่ทำ ทำอะไรก่อนอะไรหลัง ย่อมทำให้คนคิดถึงความไม่เท่าเทียมกันได้ การรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมเพื่อสังคม ไม่ว่าจะเกิดจากการรวมกลุ่มแบบหลวมๆชั่วคราว หรือแบบรวมตัวกันเหนียวแน่นจนตั้งเป็นสมาคม ชมรม หรือมูลนิธิก็ตาม จึงเข้ามาช่วยอุดช่องว่างลดช่องโหว่ ผ่านงานจิตอาสาที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้

 

กลุ่มหรืองค์กรเพือสังคมคงจะไม่ยั่งยืนหรือมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องได้ ถ้าขาดงบประมาณที่เพียงพอเหมาะสม แนวคิดและวิธีการใหม่ที่เกิดขึ้น และแตกหน่อขยายออกมาจากกลุ่มองค์กรเหล่านี้คือ ก่อตั้งหน่วยธุรกิจในรูปแบบของวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) กำลังเป็นทิศทางใหม่ที่ดี โดยมีรูปแบบการดำเนินการเพื่อหารายได้และสร้างผลกำไรไม่แตกต่างจากการทำธุรกิจทั่วไป ยกเว้นเพียงแต่ว่าไม่มีเจ้าของ อีกทั้งวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งเพื่อเป็นแหล่งรายได้ใหม่ ที่สม่ำเสมอต่อการดำเนินการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยไม่รอเพียงเงินบริจาคทางเดียว ซึ่งมีจำกัดและไม่มีความแน่นอน

ทั้งๆที่ความจริงแล้วควรเป็นความรับผิดชอบของทุกคน ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลหรือหน่วยงานรายการโดยลำพัง หรือปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคนบางกลุ่มเท่านั้น

 บางกิจการที่เราพบเห็น เราอาจจะไม่รู้หรือแยกไม่ออกเลยด้วยซ้ำว่านั่นเป็นกิจการแสวงหากำไรเพื่อเจ้าของ/ผู้ถือหุ้น หรือเป็นกิจการแสวงหารายได้เพื่อนำเงินไปใช้ประโยชน์ต่อสังคม เพราะเกิดขึ้นได้ในเกือบทุกประเภทของธุรกิจ เฉกเช่นเดียวกับบริษัทเอกชนทั่วไปที่เราคุ้นชิน ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านหนังสือ โรงแรมที่พัก หรือแม้แต่โรงงานผลิตสินค้าก็ตาม

หากแต่มีจุดต่างหลักๆอยู่ 2-3 อย่าง อาทิ วัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง (แม้ว่าจะเกิดขึ้นเพื่อทำธุรกิจและเห็นโอกาสที่จะสร้างรายรับได้ แต่ยังอยู่ภายใต้หรือดำเนินการเป็นกลไกหนึ่งขององค์กรเพื่อสังคมเดิมที่เป็นผู้ก่อตั้ง) การดำเนินการ (มีความใส่ใจในสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงไม่สร้างผลกระทบเสียเอง) ความเป็นเจ้าของ (ไม่มีใครผูกขาดความเป็นเจ้าของ หากแต่บริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม โดยมีโครงสร้างและตำแหน่งงานเหมือนธุรกิจเอกชนทั่วไป) และสุดท้ายคือผลกำไรและรายได้จะกลายเป็นทุนในกิจกรรมเพื่อสังคม

 ดังนั้นนอกจากการสื่อสารให้ผู้คนทราบแล้ว การนำเครื่องมือและวิธีการบริหารจัดการที่ใช้ได้ดีในองค์กรธุรกิจเอกชนทั่วไปมาใช้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าเป็นไปเพื่อทำให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ไม่เช่นนั้นวัตถุประสงค์ที่คิดไว้ว่า จะสร้างหน่วยธุรกิจของตนเองเพื่อเป็นแหล่งรายได้ใหม่ที่ยั่งยืนก็จะไม่เกิด และไม่มีเงินทุนย้อนกลับไปยังองค์กรทางสังคมที่เป็นผู้จัดตั้ง แนวคิดการดำเนินการแบบธุรกิจจึงไม่ใช่สิ่งเสียหาย ถ้าตราบใดเรารู้ตัวอยู่ตลอดเวลาว่าดอกผลที่ได้ จะกลายเป็นเงินทุนเพื่อไปส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาสังคมในที่สุด

 ตัวชี้วัดหลัก (Key Performance Indicator หรือ KPI) ที่ใช้เป็นตัววัดความสำเร็จในการทำธุรกิจ ก็สามารถนำมาใช้ได้ โดยอาจดัดแปลง แก้ไข หรือเพิ่มมุมมองพิเศษบางอย่างเข้าไป ขออนุญาตยกตัวอย่างตัวชี้วัดที่นิยมและมักพบเห็นได้ทั่วไปในภาคเอกชน ซึ่งวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ต้องการจัดการให้ดีมีสมรรถนะสูง จะได้นำไปพิจารณาใช้กัน ดังนี้

 ตัวชี้วัด สมรรถนะและความสามารถการแข่งขัน

  1. ด้านส่วนแบ่งการตลาด – สื่อสารถึงลูกค้าที่มีความตระหนักและต้องการช่วยเหลือสังคม ทางอ้อม
  2. ด้านอัตราการเติบโตของรายได้  – เพิ่มการจับจ่ายใช้สอยสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันของทุกคน นอกเหนือจากช่องทางเดิมคือบริจาคเงิน
  3. ด้านความสามารถในการทำกำไร – พอประมาณ ตามลักษณะธุรกิจที่จัดตั้ง

 ตัวชี้วัด เพื่อตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้า

  1. ด้านภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือ - ตอกย้ำจุดยืนของการจัดตั้งธุรกิจให้คนรับรู้
  2. ด้านการส่งมอบ - ถูกที่ (ใช่ลูกค้าที่สั่ง) ถูกเวลา (ตรงเวลาที่รับปากไว้)
  3. ด้านคุณภาพสินค้าและบริการ – ถูกต้อง (ตรงกับสเปก หรือที่โฆษณาไว้)
  4. ด้านความสัมพันธ์กับลูกค้า/คู่ค้า - มีความเป็นมิตร และเป็นพันธมิตรที่มีจิตใจดีเหมือนกัน

 ตัวชี้วัด เพื่อตอบสนองความพึงพอใจขององค์กร

  1. ด้านระบบและการจัดการ – มีระบบงานที่ดี แข่งขันได้
  2. ด้านการมีส่วนร่วมของพนักงาน – มีค่านิยม ความคิด ความเชื่อ เพื่อทำประโยชน์ส่วนรวม
  3. ด้านกระบวนการภายใน - มีขั้นตอน กระบวนการ ที่เป็นมาตรฐาน และปรับปรุงให้ดีอย่างต่อเนื่อง
  4. ด้านทรัพยากรบุคคล – มีโครงสร้างและตำแหน่งงานที่ชัดเจน ตลอดจนมีการฝึกอบรมและพัฒนาให้มีความรู้มากขึ้น
  5. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน – ทันสมัยและมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพียงพอ

 สำหรับผู้บริหารวิสาหกิจเพื่อสังคม จำเป็นต้องสื่อสารกับพนักงานอยู่เสมอว่า งานและความรับผิดชอบที่ทุกคนทำนั้น นอกจากเงินเดือน สวัสดิการที่ควรได้ ไม่ต่างจากการทำงานในบริษัทเอกชนทั่วไปแล้ว ผลกำไรที่เกิดขึ้นจะไม่ไปเข้ากระเป๋าใคร แต่จะกลายเป็นเงินทุนเพื่อใช้ในกิจกรรมเพื่อสังคม จึงไม่ใช่มีเพียงความมั่นคงทางเศรษฐกิจของตัวเองเท่านั้น หากแต่ได้ทำให้เกิดประโยชน์กับสังคมโดยอ้อมด้วย