ธุรกรรมระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริการะหว่างวิกฤติการเงิน

ธุรกรรมระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริการะหว่างวิกฤติการเงิน

ในช่วงวิกฤติการเงินสหรัฐอเมริกา ความเคลื่อนไหวของธุรกรรมต่างประเทศในตลาดเงินและตลาดทุนสหรัฐอเมริกา

ดูเหมือนจะรุนแรง แต่เมื่อดูในระยะยาวแล้ว ตลาดเงินและตลาดทุนก็ไม่ได้มีความเคลื่อนไหวหรือมีความผันผวนไปมากกว่าตลาดสินค้าและบริการ ตัวอย่างเช่น ค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของการไหลเข้าของตลาดสินค้าและบริการ ไม่แตกต่างไปจากการไหลเข้าออกของตลาดเงินและตลาดทุนในช่วงปี 1999-2015 

แต่ถ้าหากเข้าไปดูในรายละเอียดของการไหลเข้าออกของเงินทุนในเชิงของประเภทของสินทรัพย์และหนี้สินของสหรัฐอเมริกาแล้ว จะพบว่าองค์ประกอบแตกต่างกันมาก

เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้อมูลพอจะนำไปสู่ข้อสรุปได้ว่า การไหลเข้าออกของสินค้าและบริการกับการไหลเข้าออกของเงินทุนมักจะเคลื่อนไหวในลักษณะที่ทำให้เกิดความสมดุลภายในบัญชีชำระเงินระหว่างประเทศ ความแตกต่างที่เกิดขึ้นเป็นเพียงสิ่งที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกในแต่ละจุดของเวลาที่ทำให้องค์ประกอบของการไหลเข้าออกของเงินทุนแตกต่างกันออกไป ส่วนองค์ประกอบของการไหลเข้าออกของสินค้าและบริการน่าเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่มีความฝันผวนน้อยกว่า 

Carol C. Bertaut and Laurie Pounder (2009) แห่ง Federal Reserves Board ได้ศึกษาเกี่ยวกับการไหลเข้าออกของเงินทุนในช่วงวิกฤติการเงินสหรัฐอเมริกา 2007-2009 และได้พบการเปลี่ยนแปลงสินทรัพย์และหนี้สินของหน่วยเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา ดังนี้ 

ในช่วง 2007-2009 ภาครัฐบาลต่างประเทศและภาคเอกชนต่างประเทศได้เพิ่มปริมาณการถือหลักทรัพย์รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว โดยเฉพาะภาครัฐบาลต่างประเทศซึ่งก็คือ ธนาคารกลางประเทศต่างๆ 

สำหรับการถือหลักทรัพย์อื่นๆ ของภาคเอกชนต่างประเทศ อันได้แก่ หุ้นทุน พันธบัตรระยะยาว ตราสารหนี้ระยะสั้น และพันธบัตรของหน่วยงานรัฐบาลนั้น ได้ลดลงจนเหลือประมาณ 1 ใน 4 ในครึ่งหลังของปี 2007 และครึ่งปีแรกของปี 2008 และ กลายเป็นขายสุทธิในครึ่งปีหลังของ 2008 และครึ่งปีแรกของ 2009 แต่ส่วนที่ลดเพียงเล็กน้อยก็คือ หุ้นทุนของธุรกิจเอกชน

แต่สำหรับภาครัฐบาลต่างประเทศแล้ว การลงทุนได้เน้นหนักไปที่หลักทรัพย์กระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แม้แต่หลักทรัพย์ของหน่วยงานรัฐบาลก็ไม่ได้มีการลงทุนใหม่เลยแม้แต่น้อย 

ส่วนการลงทุนในต่างประเทศของสหรัฐอเมริกามีการถือทั้ง หุ้นทุน ตราสารหนี้ระยะยาว และระยะสั้น แต่ตราสารหนี้ระยะยาวมีสัดส่วนกว่าครึ่งของเงินลงทุนทั้หมดและมีการเทขายสุทธิในช่วงครึ่งหลังของปี 2008 เนื่องจากมูลค่าของหลักทรัพย์เหล่านี้ลดลงทั่วโลก 

ในครึ่งหลังของปี 2007 และครึ่งแรกของปี 2008 ธนาคารยุโรปที่เคยระดมเงินทุนระยะสั้นในสหรัฐอเมริกาไม่อาจระดมได้อีก และยังต้องชำระส่วนที่ครบกำหนดด้วย ทำให้ต้องกู้ยืมทั้งจากสาขาของตนและธนาคารอื่นในสหรัฐอเมริกาที่ยังคงมีสภาพคล่องอยู่ ในขณะเดียวกันสถาบันการเงินสหรัฐอเมริกาทั้งธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์ที่ขาดสภาพคล่องก็ต้องกู้ยืมจากบริษัทในเครือของตนในต่างประเทศ แต่โดยรวมแล้วเงินทุนไหลเข้าสุทธิยังมีอยู่เล็กน้อย

ในครึ่งหลังของปี 2008 ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาเริ่มให้กู้ยืมแก่ธนาคารกลางต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ธนาคารต่างๆ ในยุโรปที่เคยกู้ยืมจากสหรัฐอเมริกาจึงเริ่มคืนเงินกู้และหันมากู้จากธนาคารกลางของตนแทน ส่วนธนาคารของสหรัฐอเมริกาเองที่เคยให้กู้ยืมแก่ธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์ที่ขาดสภาพคล่องก็หยุดให้กู้ยืมลงเนื่องจากตลาดซื้อคืนพันธบัตร (Repos) อันเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญหมดไป แต่คราวนี้สำนักงานธนาคารในสหรัฐอเมริกาที่ไม่ใช่ของยุโรปเข้ามาให้กู้ยืมแทน ตลาดเงินโดยทั่วไปจึงยังคงอยู่ในสภาวะสมดุลได้ 

ที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดเป็นเรื่องของเงินทุนเฉพาะส่วนที่ไหลเข้าออกข้ามพรมแดนเฉพาะในช่วงวิกฤติ แต่มูลค่าหลักทรัพย์ที่ถือไว้คงค้างทั้งฝ่ายสหรัฐอเมริกาและฝ่ายต่างประเทศทั้งหมดยังไม่ได้กล่าวถึงเลย มูลค่าหลักทรัพย์คงค้างในสหรัฐฮเมริกาที่ต่างประเทศถือไว้ เพิ่มขึ้นตลอดก่อนหน้าปี 2008 แต่ภายหลังจากนั้น มูลค่าไม่ได้ลดลงเลยในช่วงวิกฤตเพียงแต่มูลค่าคงค้างรวมไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่านั้น ส่วนมูลค่าหลักทรัพย์คงค้างในต่างประเทศที่สหรัฐอเมริกาถือไว้ก็คล้ายๆ กัน เพียงแต่มูลค่าลดลงบ้างเพียงเล็กน้อยในระหว่างปี 2008 มูลค่าที่พูดถึงนี้เป็นมูลค่าตามหน้าตั๋วของหลักทรัพย์ แต่ถ้าเป็นมูลค่าตลาดก็คงลดลงมากทั้งสองกรณี 

นอกจากนั้น ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์และปริมาณธุรกรรมกู้ยืมระหว่างธนาคารก็ลดลงครึ่งต่อครึ่งในช่วงครึ่งหลังของปี 2008 อันเป็นการสะท้อนถึงนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศสหรัฐอเมริกาที่ไม่มั่นใจในความเสี่ยงภายหลังจากที่สถาบันการเงินขนาดใหญ่ล้มติดต่อกันทั้ง Bear Stearns และ Lehman Brothers

ส่วนในประเทศกลุ่มยูโรและสหราชอาณาจักรนั้น การซื้อหลักทรัพย์ต่างประเทศได้ลดลงในช่วงวิกฤติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหลักทรัพย์ในสหรัฐอเมริกาอยู่แล้ว แต่การซื้อหลักทรัพย์ในประเทศเหล่านี้ของประเทศอื่นๆ ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด เนื่องจากวิกฤตที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดในประเทศเหล่านี้แต่อย่างใด

กล่าวโดยสรุปแล้ว การลงทุนของภาครัฐบาลต่างประเทศในสหรัฐอเมริกาเป็นการเปลี่ยนแปลงไปถือหลักทรัพย์กระทรวงการคลังเกือบทั้งหมดโดยที่ไม่ได้ลดปริมาณการซื้อลง แต่กลับเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำไป เนื่องจากไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้แล้ว การถือเงินดอลลาร์เป็นเงินสำรองในปริมาณมหาศาลโดยไม่นำไปฝากหรือลงทุนไว้ที่สหรัฐอเมริกา จะฝากที่ไหนได้อีก? ส่วนการลงทุนในหลักทรัพย์เอกชนของภาคเอกชนต่างประเทศลดลงหรือขายสุทธิ เนื่องจากความเกรงกลัวความเสี่ยง ขอย้ำว่าที่กล่าวถึงนี้เป็นการลงทุนใหม่ที่เป็นส่วนเพิ่ม ไม่ใช่ส่วนคงค้างเดิมแต่อย่างใด 

สำหรับการลงทุนของสหรัฐอเมริกาในต่างประเทศซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาคเอกชนและลงทุนในหลักทรัพย์ภาคเอกชนเป็นที่แน่นอนว่า ลดลงหรือขายสุทธิ ด้วยความเกรงกลัวความเสี่ยงว่าจะมีปรากฏการณ์เช่นเดียวกับในสหรัฐอเมริกา 

อย่างไรก็ตาม ต้องขอย้ำว่าการตรวจสอบข้อมูลการไหลของเงินทุนที่เข้าออกของสหรัฐอเมริกา 3 ช่วงเวลา คือ ปี 2002-2006, 2007-2010 และ 2011-2015 พบว่า มูลค่าของเงินทุนที่ไหลเข้าออกสำหรับการลงทุนแต่ละประเภทไม่มีความแตกต่างที่มีนัยสำคัญสำหรับช่วงเวลาที่ติดกันแต่เงินทุนจากต่างประเทศที่เข้าสู่สหรัฐอเมริกาเพื่อลงทุนเป็น portfolio และ เงินให้กู้ยืมลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งก็ทำให้เงินทุนที่ไหลเข้าโดยรวมลดลงไปด้วย 

แต่เมื่อพิจารณาข้อมูลดุลบัญชีเดินสะพัดแล้ว พบว่า สหรัฐอเมริกาขาดดุลน้อยลงภายหลังวิกฤตการเงิน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่สนับสนุนข้อสันนิษฐานว่า การไหลเข้าออกของเงินทุนจะปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของดุลบัญชีเดินสะพัดด้วย