Dollar Cost Average ใช้กับการลงทุนตลาดหุ้นอย่างไร

Dollar Cost Average ใช้กับการลงทุนตลาดหุ้นอย่างไร

นักลงทุนจะไม่ขาดทุนจากพอร์ตการลงทุนใน 1-3 ปี เนื่องจากท่านอาจเริ่มลงทุนในตลาดหุ้นไทยช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยผ่านวัฏจักรรุ่งโรจน์ไปแล้ว

ปัจจุบันนักลงทุนในประเทศไทยตื่นตัวกันมากกับการลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งหากพิจารณาอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นรอบระยะเวลา 10 ปีย้อนหลังจะมีค่าเฉลี่ยอัตราผลตอบแทนปีละ 8% (ไม่รวมอัตราเงินปันผลอีกเฉลี่ยปีละ 3.30%) ทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นไทยสามารถเป็นอีกทางเลือกเพื่อการออมสำหรับวัยเกษียณ

อย่างไรก็ดี นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่ค่อยเข้าใจมากนักในเรื่องการวิเคราะห์เศรษฐกิจ และ การเงิน การขาดข้อมูลที่มากเพียงพอสำหรับการตัดสินใจ รวมถึงปัญหาการตัดสินใจซื้อขายหุ้น รวมถึงการเลือกหุ้น ทำให้หลายท่านไม่สามารถบรรลุอัตราผลตอบแทนการลงทุนตามเป้าหมาย ดังนั้น นักลงทุนมากมายจึงเริ่มหยิบยกวิธีการลงทุนหุ้นในลักษณะ Dollar Cost Average มาใช้

Dollar Cost Average (DCA) คือ อะไร

ความหมายอย่างง่าย คือ การสร้างวินัยสำหรับการลงทุนหุ้นโดยหยิบเอาวิธีการฝากเงินประจำกับธนาคารที่เราคุ้นเคยมาใช้ โดยเรานำเงินมาลงทุนในตลาดหุ้นด้วยการซื้อหุ้นที่ใช้เงินเท่าเดิมทุกเดือน เวลาการเข้าซื้อเหมือนเดิม (อาจเป็น รายเดือน รายไตรมาส หรือ ราย 6 เดือน/ครั้ง)

อย่างไรก็ดี วัตถุประสงค์ของ DCA คือ วินัยการลงทุนที่ต่อเนื่อง ไม่สนใจความผันผวนของวัฏจักรการเงิน การเมือง เศรษฐกิจ และ อารมณ์ของตลาดหุ้น แสดงว่า เรากำลังตัดการแกว่งตัวของตลาดหุ้นไทยในเวลาใดเวลาหนึ่งออกไป และ พิจารณาบนแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศ กำไรของบริษัทจดทะเบียนในช่วงเวลาระยะยาวเกินกว่า 7 ปีขึ้นไป ใช่ครับ ฟังไม่ผิด นักลงทุนที่ใช้วิธี DCA ควรมีระยะเวลาลงทุนที่ยาวนานเกิน 7 ปี หรือ เกินหนึ่งรอบวัฏจักรเศรษฐกิจ เนื่องจากการลงทุนผ่าน DCA ไม่ได้รับประกันว่า ท่านนักลงทุนจะไม่ขาดทุนจากพอร์ตการลงทุนใน 1-3 ปี เนื่องจากท่านอาจเริ่มลงทุนในตลาดหุ้นไทยช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยผ่านวัฏจักรรุ่งโรจน์ไปแล้ว และเริ่มเข้าสู่ยุคเวลาชะลอตัว ข้อควรระวังคือ

1.นักลงทุนมีแนวความคิดที่จะลงทุนโดยใช้ DCA แต่เมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่งเริ่มไม่มั่นใจต่อการลงทุนที่ต่อเนื่อง ประจำ และมักจะหยุดการลงทุนไปกลางคันท่ามกลางพอร์ตที่ขาดทุน (ขณะที่การฝากเงินประจำในบัญชีธนาคารนั้นมีความเสี่ยงน้อยกว่ามาก) ซึ่งทำให้ไม่ประสบผลสำเร็จอย่างที่คาด

2.การเลือกลงทุนในกลุ่มธุรกิจใดอย่างเฉพาะ และ รายชื่อหุ้นเฉพาะเจาะจงอาจส่งผลให้การลงทุนด้วยวิธี DCA ได้อัตราผลตอบแทนต่ำกว่าคาด อันเนื่องจาก ธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งย่อมมีวัฏจักรตัวเองเช่นกัน นอกจากนี้ บริษัทยังคงมีความเสี่ยงจากการดำเนินการอยู่ดี ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก อาทิเช่น การเปลี่ยนแปลง ผู้บริหารสำคัญ กฎหมาย และ กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง พฤติกรรมผู้บริโภคต่อการสินค้าและบริการการปรับเปลี่ยนของเทคโนโลยีต่างๆซึ่งมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น เราควรใช้การลงทุน DCA ในรูปแบบตะกร้า หรือ กองทุนมากกว่า

3.การกระจายหุ้นที่ลงทุนผ่าน DCA ที่อาจทำให้พอร์ตลงทุนของเราบิดเบี้ยวมากเกินไป ไม่สมดุล ซึ่งส่งผลต่อความผันผวนของมูลค่าพอร์ตสูงเกินไป ซึ่งปกตินักลงทุนก็ควรพิจารณาน้ำหนักการลงทุนของกลุ่มธุรกิจต่างๆ และ พร้อมปรับสัดส่วนการลงทุนให้สมดุลอย่างต่อเนื่อง เช่น สัดส่วนการลงทุนในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ทุกประเภทรวมกันมากเกินไป ส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงของมูลค่าการลงทุนไม่สัมพันธ์กับอัตราผลตอบแทนรวมของตลาดหุ้นไทย
ผมหวังว่าเมื่อท่านนักลงทุนเข้าใจวิธี และ วัตถุประสงค์ของ DCA ที่จะนำไปใช้ พร้อมข้อระมัดระวัง ก็หวังว่าการลงทุนของนักลงทุนจะบรรลุเป้าหมายดังที่ใจไว้นะครับ