เขียนได้ ... เขียนดี

เขียนได้ ... เขียนดี

วาณิชแนะนำว่าเขียนให้เหมือนเล่า ถ้าเล่าเรื่องด้วยการพูดให้เพื่อนฟังได้ ก็เขียนให้เหมือนกำลังพูดเรื่องเล่าของเราให้เพื่อนฟังแบบเดียวกัน

คนที่อยู่ในวิชาชีพการเป็นที่ปรึกษากฎหมายแบบผมต้องเขียนหนังสือเป็นส่วนหนึ่งของงานประจำวัน ทุกคนจึงต้อง “เขียนได้” และทุกคนก็อยากจะ “เขียนดี” แต่การที่จะสามารถ “เขียนดี” นั้นเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับนักกฎหมายจำนวนไม่น้อย

งานเขียนของนักกฎหมายนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงจุดยืนในประเด็นที่เกี่ยวข้อง และโน้มน้าวให้ผู้อ่านเชื่อหรือคล้อยตาม จึงเปรียบเสมือนการใส่ความคิดของผู้เขียนลงไปในกระดาษ และชักนำผู้อ่านให้สามารถทำความเข้าใจความคิดของตนได้แบบเป็นขั้นเป็นตอน และเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน ซึ่งจะต้องอาศัยความสามารถในการวาง Roadmap หรือลำดับก่อนหลังของการนำเสนอข้อมูลที่เหมาะสมให้กับข้อเขียนของตน

และเนื่องจากงานเขียนของนักกฎหมายนั้นจะถูกนำไปใช้ในลักษณะให้คุณให้โทษแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดได้ ผู้เขียนจึงต้องสามารถเขียนให้ Clear (คือชัดเจนไม่สามารถตีความได้เป็นหลายนัย) Consistent (คือไม่มีข้อความหรือส่วนหนึ่งส่วนใดที่ขัดแย้งกันเอง) Concise (คือ กระชับไม่เยิ่นเย้อ) Complete (คือ ไม่ขาดข้อมูลที่สำคัญ) และ Correct (คือ ไม่มีข้อความที่ผิดไปจากความเป็นจริง) ซึ่งสรุปให้จำได้ง่ายๆ ว่าใช้หลักการ 5 “C”s

หลังจากที่ผมได้ประกอบวิชาชีพกฎหมายมาระยะหนึ่ง ผมเริ่มพบว่าผมไม่สามารถเขียนหนังสือในแนวอื่นได้เลย นอกจากแนวของนักกฎหมายที่ต้องชัดเจนจริงจัง ทั้งๆ ที่ผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาก และอ่านหลากหลายแบบมาตั้งแต่เล็ก และก็ชอบเขียนหนังสือมากด้วย

การเขียนหนังสือให้เป็นเรื่องเล่าแม้ในระดับ “เขียนได้” จึงเป็นเรื่องยากมากสำหรับผม และแม้จะลองพยายามอยู่ตลอด งานเขียนเรื่องเล่าของผมก็ออกมาไม่ลื่นไหล แห้งเหมือนข้อเขียนแบบนักกฎหมาย และไม่ชวนอ่าน

ความฝันที่จะ “เขียนดี” สำหรับเรื่องเล่าของผมจึงต้องถูกฝังเก็บไว้ลึกๆ ในใจ

แต่เมื่อผมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการในบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ในปี พ.ศ. 2549 ความฝันที่ถูกเก็บงำไว้ก็ถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากผมได้มีโอกาสพบกับคุณวาณิช จรุงกิจอนันต์ ซึ่งเป็นกรรมการอยู่ที่แกรมมี่ก่อนหน้าผม

สำหรับผม วาณิช คือ สุดยอดนักเขียนเรื่องเล่า ผมประทับใจในงานเขียนของวาณิชมาตั้งแต่ “จดหมายถึงเพื่อน” ซึ่งเป็นผลงานยุคแรกของวาณิชก่อนที่จะมาได้รางวัลซีไรต์จาก “ซอยเดียวกัน”

ใน “จดหมายถึงเพื่อน” นั้น วาณิชเล่าถึงประสบการณ์การใช้ชีวิตของตนในการเดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกาผ่านตัวละครสมมุติ ซึ่งผมอ่านแล้วเหมือนวาณิชมานั่งเล่าให้ฟังอยู่ตรงหน้าด้วยถ้อยคำและสำนวนที่ตรงไปตรงมา ตลกบ้าง เสียดสีบ้าง สร้างอารมณ์ร่วมได้เป็นอย่างดีไม่มีสะดุด

ผมจึงหาโอกาสขอความรู้จากวาณิชทุกครั้งที่เจอกัน จนวาณิชลาออกไปเนื่องจากป่วยและถึงแก่กรรมในเวลาต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2553
ผมเล่าให้วาณิชฟังถึงปัญหาในการเขียนหนังสือของผมว่าติดรูปแบบของนักกฎหมาย ทำให้เขียนเรื่องเล่าไม่ได้

วาณิชแนะนำว่าเขียนให้เหมือนเล่า ถ้าเล่าเรื่องด้วยการพูดให้เพื่อนฟังได้ ก็เขียนให้เหมือนกำลังพูดเรื่องเล่าของเราให้เพื่อนฟังแบบเดียวกันนั่นแหล่ะ ง่ายกว่าการเขียนแบบนักกฎหมายเยอะเลย

ผมถามว่ามีเทคนิคอื่นๆ ไหม วาณิชบอกว่าเว้นวรรคบ่อยๆ วรรคเล็ก วรรคใหญ่ แล้วก็พาลไปเล่าเรื่องสมัยที่ตัวเองเป็นบรรณาธิการนิตยสาร มีหน้าที่ขัดเกลางานเขียนของนักเขียนรุ่นใหม่ๆ ว่าทำอย่างเดียว คือ เว้นวรรคให้ วรรคเล็ก – 1 เคาะ วรรคใหญ่ – 2 เคาะ

ผมรู้สึกว่าสิ่งที่วาณิชพูดเป็นสุดยอดวิชาที่พูดออกมาเหมือนเป็นของง่ายๆ เพราะผู้พูดรู้ซึ้งอย่างสูงสุดแล้ว เข้าทำนองท่วงท่าสูงสุดคืนสู่สามัญของจอมยุทธ แต่สำหรับผม มันไม่ง่ายเลยที่จะเข้าใจและทำได้ แต่ผมก็เริ่มเขียนตามที่วาณิชแนะนำ ผมสนุกกับการเขียนแบบนี้มาก และลดความเกร็งลง ผมเขียน เขียน เขียน เหมือนกำลังเล่าเรื่องที่ผมประสบมาให้กับเพื่อนๆ ฟัง

ก่อนหน้าที่จะได้รับคำแนะนำจากวาณิช ผมเคยอ่านเจอข้อความนี้ซึ่งเป็นเหมือนปรัชญาที่ผมไม่เข้าใจ - If it sounds like writing, I rewrite it. (Elmore Leonard)

แต่เมื่อผมเริ่มเดินตามคำแนะนำของวาณิช ตอนนี้ผมเข้าใจแล้ว