การบริหารท่ามกลางแนวโน้มที่ซบเซา

การบริหารท่ามกลางแนวโน้มที่ซบเซา

เป็นไปตามการคาดหมายของหลายฝ่าย เมื่อคณะกรรมการกำหนดนโยบาย

ของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ตัดสินใจคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม 0.25-0.5% พร้อมระบุว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ แต่เศรษฐกิจยังมีสัญญาณของความอ่อนแอในบางส่วน พร้อมปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้เหลือ 1.8% จากคาดการณ์เดิม 2% แต่เฟดแสดงความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะดีดตัวขึ้นช่วงครึ่งปีหลัง และแสดงท่าทีว่าน่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ก่อนสิ้นปีนี้ ส่วนปีหน้าอาจมีการขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง โดยระหว่างนี้เฟดต้องพิจารณาข้อมูลเพิ่มเติม ว่ามีการจ้างงานอย่างเต็มที่และเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น สู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 2% หรือไม่

นางเจเนต เยลเลน ประธานเฟด กล่าวว่าเฟดมองว่าเหตุผลสำหรับการขึ้นดอกเบี้ยมีมากขึ้น แต่ต้องรอดูหลักฐานเพิ่มเติมว่าข้อมูลทางเศรษฐกิจมุ่งสู่จุดที่เฟดกำหนดไว้หรือไม่ พร้อมเสริมว่าแม้เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ แต่สหรัฐไม่ได้เผชิญปัญหาเหมือนที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญ และอธิบายว่าเฟดต้องหาแนวทางที่สมดุล เพราะต้องไม่รีบขึ้นดอกเบี้ยอันจะฉุดรั้งการเติบโต หรือไม่ปล่อยให้เศรษฐกิจร้อนแรงเกินจากการผ่อนคลายทางการเงิน โดยนางเยลเลนระบุว่าอัตราการสร้างงานที่เดือนละ 180,000 ตำแหน่ง ไม่ถือเป็นการสร้างงานที่ยั่งยืนในระยะยาว

ก่อนการประชุมของเฟดเพียงวันเดียว ธนาคารกลางญี่ปุ่นหรือบีโอเจ ได้ประชุมทบทวนนโยบายและตัดสินใจ ยกเลิกนโยบายของการเน้นไปที่ฐานเงิน (monetary base) แต่หันไปกำหนดเป้าหมายผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะ 10 ปีให้อยู่ที่ระดับประมาณ 0% พร้อมประกาศจะดำเนินนโยบายผ่อนคลายการเงินต่อไปแม้ในกรณีที่เงินเฟ้อขึ้นถึงเป้าหมาย 2% แล้ว บีโอเจมองว่าการพุ่งเป้าไปที่ผลตอบแทนพันธบัตร มีประสิทธิภาพในการเพิ่มการคาดหมายเงินเฟ้อ มากกว่าการเน้นที่การพิมพ์เงินอย่างที่เคยทำมา และแนวทางใหม่นี้จะให้ผลอย่างมากในระยะยาว

ในการทบทวนนโยบาย บีโอเจระบุว่าความล้มเหลวที่ไม่สามารถผลักดันเงินเฟ้อให้เพิ่มขึ้นได้ สืบเนื่องจากราคาน้ำมันลดลง การขึ้นภาษีการขายเมื่อปี 2557 ซึ่งทำให้ผู้คนไม่จับจ่าย และปัญหาเศรษฐกิจโลก แต่นโยบายที่ดำเนินมาก็สามารถเปลี่ยนความคิดของประชาชนเกี่ยวกับเงินเฟ้อและทำให้มีการคาดหมายว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น อันจะทำให้ผู้คนลงมือจับจ่าย แทนที่จะชะลอการจับจ่ายออกไปเพราะหวังว่าราคาสินค้าจะลดลง อันทำให้เงินฝืดต่อเนื่องเป็นเวลานาน

การที่เฟดยังไม่สามารถปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ และการที่บีโอเจต้องดำเนินนโยบายผ่อนคลายการเงินอย่างต่อเนื่อง สะท้อนว่าเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 ของโลกยังเติบโตไม่เข้มแข็ง ส่วนเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของโลกก็ยังแก้ปัญหาเงินฝืดที่เรื้อรังไม่ได้อย่างหายขาด ทั้งยังสะท้อนภาพรวมของเศรษฐกิจโลกว่าเส้นทางยังขรุขระ ซึ่งคาดการณ์ล่าสุดขององค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ตอกย้ำความซบเซา ด้วยการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้เหลือ 2.9% ซึ่งต่ำที่สุดตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจโลก

แนวโน้มที่อ่อนแอทำให้การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด เรียกร้องให้ยกเครื่องนโยบายเพื่อแก้ไขเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะเปราะบาง ซึ่งภาวการณ์ที่ประเทศยักษ์ใหญ่ในโลก รวมถึงสถานการณ์รวมในโลกเองที่ซบเซา ถือเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับประเทศต่างๆ รวมถึงไทยเอง ที่ต้องประคับประคองเศรษฐกิจและบริหารจัดการอย่างระวัง เพื่อนำพาตัวเองผ่านสถานการณ์นี้ไปให้ได้