ก้าวเดินย้อนหลังไปสู่อนาคต

ก้าวเดินย้อนหลังไปสู่อนาคต

ผมไม่แปลกใจกับการเลือกหยิบ และจำลองภาพของฮิตเลอร์และเยาวชนเรดการ์ดมาใช้ในการรับน้องของนักศึกษา ซึ่งก็ไม่ได้แตก

ต่างไปจากเมื่อหลายปีก่อน ที่นักเรียนมัธยมโรงเรียนแห่งหนึ่งในภาคเหนือจัดขบวนแห่ด้วยการลอกการเดินสวนสนามของกองทัพนาซี หรือการวาดภาพฮิตเลอร์ร่วมอยู่กับบรรดาซุปเปอร์ฮีโรของนักศึกษามหาวิทยาลัยชื่อดังในกรุงเทพฯ

ผมก็เชื่ออีกว่าในอนาคตอันใกล้ก็จะมีปรากฏการณ์เช่นนี้อย่างแน่นอน เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่มีความสำนึกเชิงประวัติศาสตร์ (historical consciousness) จึงทำให้เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นได้ซ้ำซาก

การเรียน การสอน ประวัติศาสตร์ในสังคมไทยเป็นการสอนที่ “ไม่เป็นประวัติศาสตร์” จึงทำให้คนจำนวนมากไม่สามารถคิดอย่างเป็นประวัติศาสตร์ได้ การเรียนการสอนที่เน้นการจดจำส่วนเสี้ยวของ “อดีต” เพียงบางด้าน เช่น การเมือง ไม่สามารถชักจูงให้เกิดความสนใจที่จะเข้าใจได้ถึงพลังของความเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคแต่ละสมัยที่มีความซับซ้อน

เหตุการณ์หรือบุคคลในประวัติศาสตร์จึงถูกเลือกจดจำเพียงเฉพาะส่วนเสี้ยวที่สอดคล้องกับอารมณ์ความรู้สึกของนักเรียนนักศึกษาที่อยากจะแสดงออกเท่านั้น ภาพของฮิตเลอร์ เรดการด์ จึงถูกหยิบมาใช้เพราะสอดคล้องกับความต้องการจะแสดง อำนาจที่ให้น้องๆหรือผู้ชมรับรู้ว่าอำนาจที่กำลังใช้นั้น หนักแน่นและ แข็งกร้าวอย่างยิ่ง ส่วนเรื่องอื่นๆที่ผูกโยงกับฮิตเลอร์และเรคการด์นั้นไม่มีอยู่ในความนึกคิด

เอาเข้าจริงๆ แล้ว ไม่ใช่แค่การเรียนการสอนนะครับ ในระดับความทรงจำทางสังคม (Social Memory) ก็เป็นไปในทางเดียวกัน มันจึงไม่ต่างอะไรกับการคนส่วนใหญ่ในสังคมที่อยู่กับการใช้อำนาจอย่างที่เกิดอยู่ในวันนี้ เช่น การใช้อำนาจตามนโยบายคืนผืนป่า (ที่ได้รับการชื่นชมจากคนชั้นกลางในเมือง) กำลังทำร้ายชาวบ้านในชนบทไม่น้อยกว่าสองหมื่นชุมชน นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่น่าจะต้องหาทางยุติให้ได้เหมือนๆกับความพยายามจะทำให้นักศึกษาหยุดการใช้ฮิตเลอร์เป็นภาพตัวแทน

การที่สังคมไทยไม่มีความสำนึกเชิงประวัติศาสตร์ได้ส่งผลอย่างน้อยสองด้าน ด้านแรก คนไทยจะไม่รู้สึกหรือสำนึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมหรือกล่าวอย่างกว้างๆว่าเราก็จะไม่มีทางที่จะมีสำนึกของ “ พลเมือง” ขึ้นมาได้ เพราะสำนึกทางประวัติศาสตร์จะเป็นตัวบอกกับเราว่าโคตรเหง้าเหล่ากอของเราก็ได้มีส่วนร่วมสร้างชุมชนนี้มาเหมือนกันไม่มากก็น้อย หากปราศจาก รากนี้ ก็ไม่มีวันที่จะเกิดสำนึก พลเมืองผู้กระตือรือร้นในการร่วมสร้างกิจกรรมเพื่อสังคม

ในอีกด้านหนึ่ง การขาดความสำนึกเชิงประวัติศาสตร์ทำให้สังคมไทยอธิบายความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันอย่างมักง่ายและตื้นเขิน ที่สำคัญก็มักจะพึงพอใจหลงไหลได้ปลื้มกับการอธิบายที่เหลวไหลไร้สาระ เพราะไม่สามารถที่จะเข้าใจพลวัตรความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทุกมิติของเวลาที่ผ่านมา

ผมถามนักศึกษาชั้นใหญ่ๆต่อเนื่องกันมายี่สิบปีว่าพวกท่านมีใครเป็นบุคคลในอุดมคติบ้าง นักศึกษาจะงงเล็กน้อยก่อนจะตอบ และคำตอบจะมีเพียงสองกลุ่ม ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (นักศึกษาจะตอบว่า “ในหลวง” ) อีกกลุ่มหนึ่ง ตอบว่าพ่อหรือแม่ตัวเอง

แน่นอนว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นภาพลักษณ์การเสียสละทำงานเพื่อสังคม แต่ย่อมไม่ใช่เป็นเรื่องที่คนธรรมดาสามัญที่เดินตามรอยพระบาทได้หมด คนธรรมดาทั่วไปไม่อาจจะเอื้อมได้ขนาดนั้น เราอาจจะทำให้เพียงส่วนเสี้ยว และในบางกรณีก็ทำได้เฉพาะส่วนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐเท่านั้น

ส่วนคำตอบว่าพ่อแม่เป็นคนในอุดมคติก็จะเน้นเพียงแค่บุญคุณที่ได้เลี้ยงดูตนเองมาจนเติบใหญ่ แต่พอถามต่อไปว่ารู้จักและเข้าใจงานที่พ่อ แม่ทำละเอียดขนาดไหน คำตอบก็คือไม่ค่อยรู้สักเท่าไร

การที่นักศึกษาตอบเช่นนี้ ก็เพราะพวกเขาไม่มีสำนึกทางประวัติศาสตร์ที่จะมองเห็นและเข้าใจความหมายและความเปลี่ยนแปลงสำคัญๆของยุคสมัยหรือแม้ในแต่ละช่วงเวลาของชุมชนหมู่บ้านของพวกเขาเอง ซึ่งส่งผลโดยตรงทำให้ไม่สามารถจะมีจินตนาการถึงบุคคลหรือเหตุการณ์ใดๆที่มีความหมายในความเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์ได้เลย

การที่ขาดทั้งด้านสำนึกว่าตนเองมี รากอยู่ในสังคม และขาดความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่ดำเนินมา จึงทำให้นักเรียนนักศึกษาไม่สามารถที่จะตอบตนเองได้เลยว่าตนเองจะเดินไปสู่อนาคตอย่างไร นอกจากคิดเพียงว่าก็หางานทำเท่านั้น หรือ กล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่าการขาดสำนึกทางประวัติศาสตร์ส่งผลทำให้ขาด “ วิสัยทัศน์” ต่ออนาคตไปด้วย

กรอบความคิดที่ควรจะใช้ในการสร้างให้นักเรียนนักศึกษามีสำนึกทางประวัติศาสตร์ที่จะมองเห็นความเปลี่ยนแปลง ปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นและอธิบายความเปลี่ยนแปลง/ปรากฏการณ์นั้นๆ ว่าเกิดขึ้นในบริบททางสังคมอย่างไร ก็จะทำให้สามารถที่จะสร้าง “วิสัยทัศน์ ” อนาคตของตนเองที่สัมพันธ์อยู่กับสังคม

การสร้างสำนึกทางประวัติศาสตร์ก็เท่ากับการก้าวเดินย้อนหลังไปสู่วันพรุ่งนี้ (Walking backwards into tomorrow​) ซึ่งจะเป็นวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า เพราะ “ประวัติศาสตร์” เป็นสมบัติ คุณค่าพื้นฐานของมนุษยชาติที่ทำให้มวลมนุษยชาติพัฒนาก้าวหน้ามาได้จนถึงวันนี้ แต่น่าเสียดายที่สังคมไทยใช้ ประวัติศาสตร์ในระดับของการค้ำจุนระบอบการเมืองเท่านั้น จึงทำให้ต้องเผชิญหน้ากับหุ่นฮิตเลอร์และกลุ่มเรดการ์ดจอมปลอมอย่างที่เห็น