เหลียวดูกฎหมายเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (3): นิวซีแลนด์

เหลียวดูกฎหมายเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (3): นิวซีแลนด์

นิวซีแลนด์เป็นประเทศที่มีการอนุรักษ์ธรรมชาติไว้เป็นอย่างดี ในขณะเดียวกันก็มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคม

อย่างต่อเนื่อง ชาวนิวซีแลนด์จึงอยู่กับธรรมชาติอย่างกลมกลืน ซึ่งเป็น สิ่งสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่ฝังรากลึกในสังคมนิวซีแลนด์ นิวซีแลนด์ มีบทบาทสำคัญในการร่วมกับทั่วโลกแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป็นประเทศในกลุ่มภาคผนวก 1 (Annex 1) โดยวิธีการหนึ่งที่นำมาใช้คือ การตรากฎหมายขึ้นมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

นิวซีแลนด์เป็นประเทศแรกๆ ที่มีกฎหมายโลกร้อนขึ้นมาใช้บังคับ คือ “พระราชบัญญัติการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ค.ศ. 2002 (Climate Change Response Act 2002)” โดยบทบัญญัติกฎหมายฉบับนี้ มีเพื่ออนุวัติการตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่นิวซีแลนด์มีตามพันธกรณีระหว่างประเทศ

ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้สร้างกลไกหลายอย่างขึ้นมาเพื่อให้นิวซีแลนด์สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างระบบการซื้อขายใบอนุญาตการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme หรือ ETS) หรือการจัดตั้งและกำหนดอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่จัดเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เรียกว่า “National Inventory Agency” ซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญเพราะระบบ ETS จะไม่เกิดผลสำเร็จหากขาดระบบข้อมูลที่ครบถ้วนและถูกต้อง อีกเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญ คือ ภาษีที่เรียกเก็บจากการใช้สารที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก (Synthetic Greenhouse Gas Levy)” ซึ่งเรียกเก็บจากสินค้าหรือรถยนต์ที่ใช้สารดังกล่าว เป็นแนวคิดในการเก็บภาษีจากสารตั้งต้นของก๊าซเรือนกระจก สามารถแก้ไขปัญหาโลกร้อนมากกว่าการเก็บภาษีคาร์บอน เพราะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดก๊าซเรือนกระจกขึ้นเลย ซึ่งแตกต่างจากการเก็บภาษีคาร์บอนที่จะเรียกเก็บจากปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมาแล้ว ไม่ว่าเสียภาษีคาร์บอนมากหรือน้อย ก็ไม่ได้ทำให้คาร์บอนลดลงน้อยไปกว่าเดิม ดังนั้นการเก็บภาษีจากสารตั้งต้นก๊าซเรือนกระจกสะท้อนให้เห็นถึงวิธีการแก้ไขปัญหาโลกร้อนของนิวซีแลนด์อีกอย่างหนึ่งที่แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ไม่ใช่ปลายเหตุ

กฎหมายฉบับนี้ตราขึ้นเพื่อรองรับการปฏิบัติตามพันธะสัญญาระหว่างประเทศของนิวซีแลนด์ ซึ่งไม่เพียงพอที่แก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรม เพราะการแก้ไขปัญหาโลกร้อนให้ได้อย่างยั่งยืน ต้องเริ่มต้นตั้งแต่การใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ต้องไม่ทำให้เกิดผลกระทบหรือต้องคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและปัญหาโลกร้อนด้วย ด้วยเหตุนี้ นิวซีแลนด์จึงได้มีการแก้ไขกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง คือ “พระราชบัญญัติการจัดการทรัพยากร ค.ศ. 1991 (Resource Management Act 1991)” ในปี ค.ศ. 2004 ให้มีเนื้อหาครอบคลุมการแก้ไขปัญหาโลกร้อนด้วย พระราชบัญญัติฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ควบคุมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติทุกอย่างของนิวซีแลนด์ให้เป็นไปอย่างยั่งยืนและเพียงพอต่อความต้องการของ ชนรุ่นหลัง พร้อมทั้งฟื้นฟูและหลีกเลี่ยงผลกระทบของการใช้ทรัพยากรที่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม จำกัดสิทธิของบุคคลในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น แม้ว่าจะเป็นเจ้าของที่ดินก็ไม่อาจใช้ที่ดินได้ตามอำเภอใจ อีกทั้งกฎหมาย ฉบับนี้ ซึ่งอาจเรียกว่าเป็น กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองด้านสิ่งแวดล้อม ก็ว่าได้ ยังกำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องนำเอาประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปเป็นเงื่อนไขในการพิจารณาอนุญาตให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ด้วย เช่น หากจะให้อนุญาตโครงการก่อสร้าง ต้องพิจารณาด้วยว่าโครงการดังกล่าวได้เตรียมรับมือกับปัญหาโลกร้อนแล้วหรือไม่ ปัญหาโลกร้อนจึงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการอนุญาตใช้ทรัพยากรในประเทศนิวซีแลนด์แล้ว

การแก้ไขปัญหาโลกร้อนในนิวซีแลนด์ยังให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่มีความใกล้ชิดกับพื้นที่มากที่สุด มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนด้วย โดยกฎหมายกำหนดให้ต้องจัดทำแผนการรับมือกับโลกร้อนขึ้นใช้ ซึ่งกระทรวงสิ่งแวดล้อมจะเป็นผู้ให้การสนับสนุนข้อมูลเชิงลึกในการดำเนินการ และที่สำคัญ มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อนให้ประชาชนได้รับรู้อย่างกว้างขวางและแพร่หลาย เข้าถึงได้ง่าย ซึ่งทำให้ภาคประชาชนมีความรู้และสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ปัญหาโลกร้อนรวมถึงปัญญาด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ในนิวซีแลนด์จึงมีการจัดการอย่างเป็นระบบ มีกฎหมายที่กำหนดหน้าที่ของแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน ซึ่งไม่น่าแปลกใจเลยว่าธรรมชาติในนิวซีแลนด์ยังคงจะสวยงามต่อไปในอนาคต

---------------------

นายเอกสิทธิ์ จันต๊ะมา

สังกัดสำนักงานศาลปกครอง

นักวิจัยโครงการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)