เรื่องเงินเรื่องง่าย:Thailand Focus เพื่อให้ Focus Thailand

เรื่องเงินเรื่องง่าย:Thailand Focus เพื่อให้ Focus Thailand

ในช่วงปลายเดือนส.ค.ที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้จัดงาน Thailand Focus ซึ่งเป็นงานสัมมนาการลงทุนระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุด

 สำหรับตลาดทุนไทย และน่าจะเป็นหนึ่งในงานสัมมนาการลงทุนที่ใหญ่ระดับภูมิภาคอาเซียนด้วย

             เพราะไทยเป็นหนึ่งในผู้นำของตลาดทุนอาเซียน ด้วยมูลค่าซื้อขายตั้งแต่ต้นปีเฉลี่ยสูงที่สุดถึงกว่า5 หมื่นล้านบาทต่อวัน ซึ่งยังส่งผลให้ติดอันดับ 21 จาก 56 ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกอีกด้วย  

     งาน Thailand Focus ปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 10 มีนักลงทุนสถาบันและนักวิเคราะห์ต่างชาติร่วมงานถึง 112 ราย มูลค่าสินทรัพย์รวม ภายใต้การบริหาร (AUM) สูงถึง 370,000 ล้านดอลลาร์

             ธนาคารกรุงศรีอยุธยาเป็นหนึ่งในบริษัทจดทะเบียนที่เข้าร่วมงานมาตั้งแต่การจัดขึ้นครั้งแรกในปี 2547และถือเป็นเวทีที่สำคัญของธนาคารในการให้ข้อมูลในเชิงลึกและเสริมสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่ม  นักลงทุนและนักวิเคราะห์ต่างประเทศ

       ตลอดการร่วมงานทั้ง 10 ครั้ง ธนาคาร มีโอกาสร่วมประชุมทั้งรูปแบบรายบริษัท (one-on-one) และ แบบกลุ่มย่อย (group meeting)  ซึ่งการพบนักลงทุนในงาน Thailand Focus  สำหรับบริษัท       จดทะเบียนแล้ว ถือว่าเป็น Two-way communications ที่ดี ในการแลกเปลี่ยนมุมมองเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ รวมถึง ประเด็นที่นักลงทุนต้องการข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวกับธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย แผนธุรกิจ ผลประกอบการในช่วงที่ผ่านมา และการจ่ายเงินปันผล เป็นต้น  

             ผมอยากขอสรุปสามประเด็นหลักๆ ที่นักลงทุนให้ความสนใจ และ Key Take Away จากงาน Thailand Focus 2016 ดังนี้

ประเด็นแรก คือ แนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศไทยจากตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ที่ขยายตัวถึง 3.5% สูงสุดในรอบ 13 ไตรมาสนักลงทุนต้องการความชัดเจนของแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสที่เหลือของปี รวมถึงทิศทางการดำเนินนโยบายในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของรัฐบาลในระยะต่อไป ซึ่งนักลงทุนได้รับฟังข้อมูลและนโยบายทิศทางการพัฒนาประเทศจากตัวแทนรัฐบาลในระดับรัฐมนตรีว่าการถึง 3 กระทรวงและผู้บริหารองค์กรเอกชนชั้นนำ ถึงแผนการดำเนินงาน ความคืบหน้า ตลอดจนเงื่อนเวลาของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ และโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน โดยเฉพาะโครงการระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ หรือ National e-Payment รวมถึง มาตรการส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน และนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย  

             ประเด็นที่สอง  ไทยแลนด์ 4.0 โมเดลใหม่พัฒนาเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนประเทศด้วย S Curveผ่านความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive Growth Engine)ด้วยนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ เทคโนโลยี และความคิดเชิงสร้างสรรค์  รวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนา และการบ่มเพาะธุรกิจด้านเทคโนโลยี  เพื่อเปลี่ยนรูปแบบสินค้าและเทคโนโลยีผ่าน 10กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายหรืออุตสาหกรรมอนาคต ที่จะเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และสร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนให้กับประเทศ

      ประเด็นที่สาม แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ หรือ National e-paymentMaster Plan ที่จะช่วยสนับสนุนแผนการพัฒนา Digital Economy ของรัฐบาล รวมถึงการเปลี่ยนโครงสร้างระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพิงเงินสดในทำธุรกรรม มาเป็นช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่ง PromptPay เป็นหนึ่งในแผนปฎิบัติการภายใต้โครงการระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติที่เป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจและธนาคารพาณิชย์ในระยะยาว   ทั้งในด้านโอกาสที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึงมากขึ้น การประหยัดต้นทุนในการให้บริการสำหรับธนาคารพาณิชย์ และโอกาสจากการใช้นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ในการให้บริการธุรกิจใหม่ๆ ในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์ก็ได้มีการวางแผนการลงทุน และเตรียมความพร้อมของระบบฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์เพื่อรองรับแผนพัฒนาระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ และธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลที่คาดว่าจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคต

     จากข้อมูลที่ภาครัฐและเอกชนของไทยได้ร่วมกันชี้แจงนั้น นักลงทุนมองการว่ายังมีโอกาสในตลาดทุนไทย โดยเชื่อว่าจะเริ่มมีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจชัดเจนมากขึ้นในปีหน้า จากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐ  และมองว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานรวมถึงระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ จะช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน และสนับสนุนต่อการเติบโตของสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ทั่วถึงและแข็งแกร่งต่อเนื่อง

     ผมมองว่าสิ่งสำคัญของการร่วมงาน Thailand Focus คือ การที่ได้พูดคุยกับนักลงทุนต่างชาติ ทำให้ได้เห็นถึงมุมมองของนักลงทุนที่มีต่อทั้งตลาดทุนไทย กลุ่มธนาคารพาณิชย์ รวมถึงของธนาคาร   กรุงศรีอยุธยา  นับเป็นการให้ข้อมูลแบบ Two-way communications ที่มีประโยชน์อย่างมาก เพื่อให้ธนาคารได้รับทราบทั้งประเด็นที่นักลงทุนให้ความสนใจหรือมีความกังวล เพื่อนำไปเป็นข้อมูลสนับสนุนในการวางแผนการดำเนินงานที่เหมาะสมและสอดคล้องต่อไป

    Two-way communications ยังสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับนักลงทุน โดยเฉพาะการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจให้ก้าวหน้า อีกทั้งประเทศไทยกำลังเดินตามโรดแมปทั้งด้านเศรษฐกิจ และด้านการเมือง ซึ่งก็จะส่งผลให้นักลงทุนหันกลับมา Focus Thailandตามที่คาดหวังไว้