'ความโปร่งใส' เกราะกำบัง'โฮลดิ้งคอมปานีย์'

'ความโปร่งใส' เกราะกำบัง'โฮลดิ้งคอมปานีย์'

ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ...

 ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบของ ครม.ไปเมื่อเร็วๆ นี้มีจุดประสงค์หลักในการพัฒนา และกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้มีการพัฒนาที่ดีขึ้น เพื่อวางรากฐานพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

ถ้ายังจำได้การแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจ เป็นสิ่งที่รัฐบาลปัจจุบันให้ความสำคัญ และเป็นปัญหาแรกๆที่หยิบยกขึ้นมาแก้ไข ตั้งแต่ประกาศเลิกสิทธิประโยชน์ต่างๆ อาทิ ตั๋วฟรี ของบรรดากรรมการในบอร์ดของสายการบินแห่งชาติ การตั้ง ซุปเปอร์บอร์ดขึ้นมาสะสางปัญหาสะสมของรัฐวิสาหกิจ 6 แห่ง

ถึงวันนี้ประเทศไทยกำลังจะมีกฎหมายพัฒนารัฐวิสาหกิจที่มีเนื้อหาสาระเป็นสากล เป็นกรอบในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่ง เช่น กำหนดให้รัฐวิสาหกิจจัดทำยุทธศาสตร์ 5 ปี กำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลรัฐวิสาหกิจตามมาตรฐานของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ มีการแยกบัญชีดำเนินการสำหรับการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล และการดำเนินการตามภารกิจปกติอย่างชัดเจน

ขณะที่การตั้งบอร์ดในรัฐวิสาหกิจซึ่งเคยเป็นช่องโหว่ให้ฝ่ายการเมือง แต่งตั้งคนของตัวเอง พรรคพวก เพื่อพ้องมานั่งเป็นบอร์ด ต่อไปจะมีคณะกรรมการกลั่นกรองการจัดตั้งบอร์ดในรัฐวิสาหกิจ เพื่อกำหนดสมรรถนะและคุณสมบัติที่เหมาะสมกับรัฐวิสาหกิจที่มีตำแหน่งว่างลง โดยใช้มาตรฐานในระดับเดียวกับการสรรหาผู้ว่าแบงก์ชาติ

สิ่งที่สนใจให้ความสนใจมากที่สุดคือการจัดตั้ง บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ หรือ โฮลดิ้งคอมปานีย์ ทำหน้าที่ผู้ถือหุ้นเชิงรุก (Active shareholder) ในรัฐวิสาหกิจ 12 แห่งซึ่งกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ เช่น บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) บริษัท อสมท. จำกัด ธนาคารกรุงไทย บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด เป็นต้น

มีคำถามจากสังคมด้วยว่าหากโฮลดิ้งคอมปานีย์เกิดถูกฝ่ายการเมืองแทรกแซง รัฐวิสาหกิจทั้ง 12 แห่งเสี่ยงที่จะถูกครอบงำเบ็ดเสร็จ สามารถสั่งให้รัฐวิสาหกิจที่อยู่ใต้โฮลดิ้งฯทำตามความต้องการของฝ่ายการเมืองได้หรือไม่?

ผมถามคำถามเดียวกันนี้กับ เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และได้คำตอบว่าในเรื่องดังกล่าวกรรมการในซุปเปอร์บอร์ดก็มีการตั้งคำถามในทำนองนี้เช่นกัน แต่คำตอบที่ รพี สุจริตกุล ในฐานะประธานยกร่างกฎหมายฉบับนี้ใช้อธิบายกับที่ประชุมก็คือการป้องกันการแทรกแซงก็คือการสร้างมาตรฐานเรื่อง ความโปร่งใส และ “การเปิดเผยข้อมูล เพื่อยกระดับการพัฒนารัฐวิสาหกิจของประเทศขึ้นมาให้ได้ 

เพราะไม่ว่าจะมีกฎหมายที่ดีขนาดไหน อาจไม่สามารถการันตีได้ 100% ว่าจะป้องกันการแทรกแซงของนักการเมืองได้ แต่สิ่งที่ทำได้คือการวางมาตรฐานความโปร่งใส และการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานให้มากที่สุด

...ท้ายที่สุดแล้วความโปร่งใสเท่านั้น ที่จะเป็นเกราะกำบังให้กับโฮลดิ้งคอมปานีย์ และช่วยให้โครงสร้างนี้เป็นที่ยอมรับของสังคมอย่างยั่งยืน