อย่าล้มเลิก อย่าท้อแท้ อย่าหยุดฝัน

อย่าล้มเลิก อย่าท้อแท้ อย่าหยุดฝัน

เรื่องราวของ แจ็ค หม่า และ วอร์เรน บัฟเฟตต์ น่าจะเป็นบทเรียนที่ดีให้แก่เราว่า ชีวิตคนเราย่อมต้องมีทั้งความสมหวังและผิดหวัง อย่าท้อถอย

ในการศึกษาหาความรู้เรื่องการลงทุน สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นประโยชน์มากๆ คือการเรียนรู้จากนักลงทุนหรือบุคคลที่ประสบความสำเร็จระดับโลก ไม่ใช่เพียง 'Success Story' หรือเรื่องราวความสำเร็จเท่านั้น แต่ความล้มเหลวและพลาดหวังของพวกเขาก็ให้บทเรียนแก่เราได้ไม่แพ้กัน

ขอยกตัวอย่างเรื่องราวชีวิตของคนสองคนที่ผมชอบมากๆ โดยส่วนตัว คนแรกคือ 'แจ็ค หม่า' ประธานกลุ่มอาลีบาบา

'ตอนที่เคเอฟซีเข้ามาเมืองจีน มีคนไปสมัครงาน 24 คน เขารับ 23 คน ผมเป็นคนเดียวที่เขาไม่รับ' นี่คือคำบอกเล่าจากปากของนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศจีนเวลานี้ เป็นประสบการณ์อันเจ็บปวดในอดีต เพราะถูกปฏิเสธไม่รับเข้าทำงานโดยเครือร้านขายไก่ทอดชื่อดังระดับโลก
ไม่เพียงโดนปฏิเสธจากเคเอฟซี หม่า อวิ๋น (ชื่อจีนของแจ็ค หม่า) ยังเคยพลาดหวังจากการสมัครเข้าเป็นตำรวจ โดยเป็นคนเดียวที่ถูก 'เซย์โน' จากผู้สมัครห้าคน เท่านั้นยังไม่พอ เขายังเคยสมัครเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แต่ถูกโยนใบสมัครทิ้งลงถังขยะถึงสิบครั้ง ความเจ็บปวดครั้งนั้นทำให้

เขาบอกกับตัวเองในใจว่า 'สักวันผมจะไปสอนหนังสือที่นั่นให้ได้'

และแล้ว อีกราวๆ สามสิบปีต่อมา หลังสร้างอาณาจักรธุรกิจของตัวเองขึ้นมาอย่างยิ่งใหญ่ แจ็ค ก็ได้ไปนั่งถ่ายทอดความรู้ที่ฮาร์วาร์ดจริงๆ
นอกเหนือจาก แจ็ค หม่า ยังมีชายอีกคนหนึ่งซึ่งเคยพลาดหวังจากฮาร์วาร์ด เขาคือ 'วอร์เรน บัฟเฟตต์' นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลก ไอดอลอีกคนหนึ่งของผม

สมัยเด็ก บัฟเฟตต์เคยฝันอยากเข้าเรียนที่ฮาร์วาร์ด ดังนั้น หลังจบปริญญาตรีขณะอายุแค่ 19 ปี (ย้ำว่าอายุ 19 ก็จบ ป.ตรีแล้ว สุดยอดไหมละครับ) แกจึงไปสมัครเรียนปริญญาโทที่นั่น โดยมั่นใจอย่างยิ่งว่า ฮาร์วาร์ดต้องรับแกแน่ๆ

วันที่เดินทางจากบ้านเกิดในเมืองโอมาฮาไปยังชิคาโก เพื่อ 'สอบสัมภาษณ์' นั้น (ม.ฮาร์วาร์ดตั้งอยู่ที่เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเสตส์ แต่สัมภาษณ์กันที่เมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์) บัฟเฟตต์ตื่นตั้งแต่กลางดึก และขึ้นรถไฟไปคนเดียว

'ปู่' บอกว่า แกเตรียมสัมภาษณ์โดยตั้งใจโชว์ความรู้เรื่องหุ้นอย่างเต็มที่ ทว่านั่นเป็นความคิดที่ผิด เพราะเนื้อแท้ของฮาร์วาร์ด ต้องการคนที่มีบุคลิก 'เป็นผู้นำ' ซึ่งสิ่งสำคัญอย่างยิ่งก็คือ ต้องมี 'ความมั่นคง' ในตัวเอง

ครั้นอาจารย์ผู้สัมภาษณ์มองทะลุท่วงท่าที่ดูมั่นใจและความช่ำชองในเรื่องหุ้น เข้าไปเห็นถึงแก่นแท้ของหนุ่มน้อยบัฟเฟตต์ ซึ่งยังมิได้มีความมั่นคงและวุฒิภาวะเพียงพอ จึงตัดสินใจไม่รับแกเข้าเรียน (ปู่เล่าว่า ภาวะทางอารมณ์แกตอนนั้นเหมือนเด็กเก้าขวบ)

ในช่วงนั้น บัฟเฟตต์ผิดหวังมาก แต่ก็ยังมองหาที่เรียนต่อไป ก่อนจะพบว่า 'เบนจามิน แกรแฮม' ผู้เป็นต้นตำรับแห่ง 'วีไอ' หรือการลงทุนเน้นมูลค่า เจ้าของฉายา 'คณบดีแห่งวอลสตรีท' สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย โดยบัฟเฟตต์เคยอ่านหนังสือ 'The Intelligent Investor' ที่แกรแฮมเขียนและชื่นชอบอย่างยิ่ง

ไม่ต้องเล่าต่อ ท่านก็คงพอเดาได้แล้วใช่ไหมครับว่า ปู่ไปสมัครเรียนที่ ม.โคลัมเบีย และคราวนี้ก็ไม่พลาด ได้เข้าเรียนสมใจ โดยได้เรียนในคลาสของแกรแฮมด้วย ครั้นเรียนจบไม่กี่ปี บัฟเฟตต์ก็ได้ไปทำงานกับแกรแฮม ก่อนจะเอาความรู้ทั้งหมดจากครูผู้นี้ มาเปิดห้างหุ้นส่วนลงทุนของตัวเอง
…. เรื่องราวต่อจากนั้น คือประวัติศาสตร์

อาจกล่าวได้ว่า การถูกปฏิเสธจากฮาร์วาร์ด คือหนึ่งในสิ่งที่ดีที่สุดที่เคยเกิดขึ้นกับชีวิตของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ เพราะมันทำให้แกได้มาเรียนกับ เบน แกรแฮม และจากการที่ปู่เคยบอกไว้ว่า การลงทุนของแกทุกวันนี้ มาจากแกรแฮมถึง '85 เปอร์เซ็นต์' จึงอาจกล่าวได้ว่า หากวันนั้น ปู่ไม่ถูกปฏิเสธจากฮาร์วาร์ด วันนี้โลกทั้งโลกก็อาจไม่รู้จักนักลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ชื่อ 'วอร์เรน บัฟเฟตต์' 

เรื่องราวของ แจ็ค หม่า และ วอร์เรน บัฟเฟตต์ น่าจะเป็นบทเรียนที่ดีให้แก่เราว่า ชีวิตคนเราย่อมต้องมีทั้งความสมหวังและผิดหวัง จงอย่าท้อถอยในวันที่พลาดหวัง หรือสิ่งต่างๆ ไม่ได้อย่างใจ เพราะสิ่งไม่ดีสิ่งหนึ่ง อาจแปรเปลี่ยนเป็นสิ่งที่ดีกว่า ซึ่งอาจจะเปลี่ยนชีวิตของเราไปตลอดกาลเลยก็เป็นได้
สิ่งที่เราทุกคนควรทำก็คือ 'ใช้ชีวิต และเรียนรู้จากมัน' เอาประสบการณ์ทุกอย่างไม่ว่าดีหรือร้ายมาเป็นบทเรียน และเลือกก้าวเดินไปในหนทางที่ดีที่สุดที่ชีวิตมอบให้แก่เรา

ที่สำคัญคือ 'อย่าล้มเลิก อย่าท้อแท้ อย่าหยุดฝัน' เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว

(ข้อมูลประกอบจากหนังสือ The Snowball และคลิปการให้สัมภาษณ์ของแจ็ค หม่า ใน Youtube)