การบริหารความมั่งคั่งของครอบครัว

การบริหารความมั่งคั่งของครอบครัว

การบริหารความมั่งคั่งของครอบครัว

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักทุกๆท่านเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วนะครับเผลอนิดเดียวก็เข้าสู่ช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจเริ่มวางแผนท่องเที่ยวในช่วงปีใหม่ หลายท่านอาจเตรียมกิจกรรมในช่วงฤดูท่องเที่ยวที่จะมาถึงนี้ เรื่องของการลงทุนก็เช่นเดียวกันนะครับตลาดหุ้นต่างก็เริ่มเตรียมตัวเข้าสู่ช่วง 2 เดือนสุดท้ายเราคงจะได้เห็นมหกรรมการลงทุน หรือการสัมมนาเพื่อแสดงมุมมองต่อทิศทางเศรษฐกิจและการลงทุนในปีหน้าทยอยๆออกมาให้เห็นในช่วงนี้กันครับ

วันนี้ผมจะพักการพูดคุยถึงมุมมองการลงทุนแต่ผมอยากเปลี่ยนมาพูดคุยกับท่านผู้อ่านถึงเรื่องสำคัญที่จริงๆแล้วมันอยู่ใกล้ตัวพวกเราทุกคนเพียงแต่เรามักมองข้ามหรือไม่ได้ให้ความสำคัญกับมันนั่นก็คือการบริหารความมั่งคั่งของครอบครัวหรือ Family Wealth Management นั่นเอง ถ้าท่านผู้อ่านติดตามคอลัมน์นี้มาจะเห็นว่าผมจะพูดถึงเรื่องของการบริหารความมั่งคั่งมาแต่ส่วนใหญ่เป็นการเน้นที่กระบวนการและเน้นแฉพาะที่ความมั่งคั่งส่วนบุคคลมากกว่า

สำหรับการบริหารความมั่งคั่งของครอบครัวนั้นจะนับว่าเป็นส่วนขยายต่อจากการบริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคลก็ได้ และมีกระบวนการที่คล้ายๆกันเริ่มจากการตั้งเป้าหมายเพียงแต่เปลี่ยนเจ้าของความมั่งคั่งจากตัวเรามาเป็นครอบครัวของเรา เช่นถ้าเป้าหมายเดิมของเราคือ การสร้างความมั่นใจว่าลูกๆของเราจะมีเงินเพียงพอสำหรับการศึกษา เป้าหมายของการบริหารความมั่งคั่งของครอบครัวด้านการศึกษาก็อาจจะเป็นการสร้างความมั่นใจว่าลูกๆหลานๆและทายาทในรุ่นต่อๆไปจะมีเงินเพียงพอสำหรับการศึกษาทุกคนจนถึงระดับปริญญาโทเป็นอย่างน้อยเป็นต้นหรือถ้าเป้าหมายส่วนบุคคลของเราคือการมีเงินใช้หลังเกษียณเดือนละ 30,000 บาท เป้าหมายระดับครอบครัวอาจเป็นการสร้างกองทุนเพื่อให้ลูกหลานและทายาทมีเงินใช้อย่างน้อยเดือนละ 30,000 บาทต่อคน(อาจปรับด้วยเงินเฟ้อตามต้องการ)แม้ในกรณีที่ไม่มีงานทำ เป็นต้น

เมื่อได้มีการกำหนดเป้าหมายแล้วกระบวนการที่เหลือก็จะใกล้เคียงกันแต่ก่อนที่จะไปพูดถึงกระบวนการถัดๆไปผมอยากยกความแตกต่างบางประการระหว่างการบริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคลกับของครอบครัวคือ ประการแรกคือด้านระยะเวลาของครอบครัวนั้นส่วนใหญ่จะยาวนานกว่าหรือบางทีอาจไม่มีระยะเวลากำหนดสิ้นสุดเลยก็ได้ ประการต่อมาคือผู้เกี่ยวข้องกับการบริหารความมั่งคั่งของครอบครัวนั้นย่อมมีผู้เกี่ยวข้องมากกว่า ซึ่งประเด็นนี้อาจก่อให้เกิดความยุ่งยากและซับซ้อนมากขึ้น นอกจากจะเป็นเรื่องของความสามารถในการรับผลตอบแทนและความเสี่ยงแล้ว ยังมีเรื่องของสิทธิการครอบครอง การแก้ไข หรือการยกเลิกเป็นต้น และประการต่อมาคือการบริหารความมั่งคั่งของครอบครัวนั้นมักจะต้องมีเรื่องของการส่งผ่านความมั่งคั่งไปยังรุ่นต่อไป (trans generation wealth) ซึ่งบางกรณีจะมีเรื่องของภาษีเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นต้น

กระบวนการบริหารความมั่งคั่งถัดมาคือเรื่องของการประเมินความสามารถในการยอมรับความเสี่ยง คราวนี้ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่าก็ครอบครัวไม่ใช่คนแล้วจะประเมินความสามารถนี้ได้อย่างไร ประเด็นนี้เราคงต้องใช้บุคคลสมมติประกอบกับลักษณะและความสำคัญของเป้าหมายในขั้นตอนแรกที่เราวางไว้ เช่นในเรื่องของกองทุนการศึกษาอาจถูกตั้งให้มีความสำคัญกว่าเป้าหมายเรื่องของกองทุนสวัสดิการรายเดือน หรือเรื่องของการมีกองทุนสำหรับการประกอบหรือขยายธุรกิจเป็นต้น ดังนั้นสำหรับเป้าหมายที่มีความสำคัญมากจะรับความเสี่ยงได้ต่ำกว่า และถ้าประกอบกับบางเป้าหมายอนุญาตให้ผู้รับประโยชน์นำเฉพาะเงินที่ได้รับจากผลตอบแทนไปใช้ได้โดยห้ามนำเงินต้นไปใช้ เป้าหมายนั้นก็จะรับความเสี่ยงได้ต่ำกว่าเป็นต้น

เมื่อเราประเมินความสามารถในการรับความเสี่ยงของเป้าหมายแต่ละด้านได้แล้วจึงมาถึงเรื่องของการจัดพอร์ตการลงทุนซึ่งขั้นตอนนี้มักไม่แตกต่างจากการบริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคล เว้นแต่ในบางกรณีที่บางครอบครัวอาจมีการกำหนดประเภทของสินทรัพย์ที่อนุญาตให้ลงทุนหรือประเภทที่ห้ามลงทุนเช่นการลงทุนในต่างประเทศ หรือการลงทุนในบริษัทที่ประกอบธุรกิจต้องห้าม เป็นต้นรวมถึงลักษณะของการเบิกจ่ายเงินสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่กระทบต่อพอร์ตการลงทุนหรือการจัดสินทรัพย์ลงทุนเพื่อตอบโจทย์ของแต่ละเป้าหมาย แม้ว่าโดยส่วนใหญ่เป้าหมายของการบริหารความมั่งคั่งของครอบครัวมักจะรับความเสี่ยงได้ค่อนข้างต่ำแต่โชคดีอีกอย่างสำหรับนักวางแผนความมั่งคั่งในการออกแบบพอร์ตการลงทุนนั่นคือเรื่องของเวลา ซึ่งโดยส่วนใหญ่การบริหารความมั่งคั่งของครอบครัวจะมีระยะเวลาที่ยาวมาก

ส่วนที่เหลือนั้นก็คือขั้นตอนของการปรับพอร์ตและการรายงาน ซึ่งผมคงไม่ขอกล่าวถึงในบทความนี้แต่ผมจะขอพูดอีกเรื่องที่น่าสนใจกว่าคือเรื่องของรูปแบบของเครื่องมือที่ใช้ในการบริหารความมั่งคั่ง ซึ่งหลายคนอาจจะนึกถึงแต่เรื่องของการกำหนดพินัยกรรม แต่การบริหารความมั่งคั่งนั้นมีเครื่องมือที่หลากหลายกว่าเช่น การใช้กองทุนส่วนบุคคล การจัดตั้ง private equity trust การจัดตั้งมูลนิธิ และการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ครอบครัวเป็นต้น ซึ่งแต่ละเครื่องมือก็มีข้อดี ข้อเสียที่แตกต่างกันไป

สำหรับในวันนี้ผมก็ขอลาท่านผู้อ่านไว้แค่นี้ ขอให้ทุกท่านโชคดีครับ