ความแตกต่างที่เลือกได้ทางธุรกิจ

ความแตกต่างที่เลือกได้ทางธุรกิจ

หลายคนคงเคยได้ยินคนที่ประสบความสำเร็จพูดถึงธุรกิจของพวกเขาที่นำเสนอความแตกต่างให้กับลูกค้า

เมื่อฟังแล้วก็เกิดแรงบันดาลใจริเริ่มหรือขยายธุรกิจของตัวเอง ด้วยการนำเสนอสินค้าและไอเดียใหม่ๆ มุ่งพัฒนาและสร้างสินค้าที่แตกต่าง คาดหวังว่ามันจะสร้างเงินได้ ซึ่งตัวเลขการเติบโตของธุรกิจเอสเอ็มอี(SMEs)บ่งบอกถึงเทรนด์ปัจจุบัน ที่คนอยากเป็นเจ้านายตัวเองมากขึ้นได้อย่างดี 

หากแต่ความแตกต่างทางธุรกิจนั้นสร้างได้ทำได้แค่ในแง่ของสินค้าเท่านั้น “เอ็นไวโรเซล” ขอนำเสนอทางเลือกให้แก่ผู้ประกอบการและชี้แนวทางในการสร้างความแตกต่างให้กับผู้บริโภคดังนี้

แตกต่างด้วยสินค้า การนำเสนอสินค้าที่แตกต่างเป็นการสร้างความโดดเด่นพื้นฐานด้วยตัวสินค้าที่ตลาดยังไม่มีใครนำเสนอมาก่อน ตัวอย่างง่ายที่สุดของการสร้างความแตกต่างด้วยสินค้าคือธุรกิจวงการไอที โทรศัพท์มือถือที่แข่งกันออก ฟีเจอร์ต่างๆ เริ่มตั้งแต่โทรศัพท์ที่ทนทานที่สุด เล็กที่สุด เร็วที่สุด กันน้ำได้ เป็นต้น บ้างก็ประสบความสำเร็จ บ้างก็ไม่ ทั้งนี้เกิดได้จากหลายปัจจัยของผู้บริโภคทั้งความจำเป็น ความต้องการ ความไวในการรับได้ถึงการเปลี่ยนแปลง ซึ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับผู้บริโภคว่าจะเห็นคุณค่าของความแตกต่างที่สินค้านำเสนอได้หรือไม่

แตกต่างด้วยการบริการและประสบการณ์ การสร้างความแตกต่างด้วยการบริการและประสบการณ์ที่ดีนั้น นอกจากจะสร้าง Word of mouth ได้แล้ว ยังสร้างความภักดีต่อธุรกิจได้อีกหากบริการนั้นเป็นสิ่งที่คนจับต้องไม่ได้ แต่รู้สึกได้ว่าดีหรือไม่ดี ทำให้ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงผู้ให้บริการเป็นหลัก หลายบริษัทจึงเทรนนิ่งพนักงาน รวมถึงตรวจสอบคุณภาพของการให้บริการอย่างสม่ำเสมอการรักษาคุณภาพของการให้บริการและการเติบโตทางธุรกิจนั้น ถือว่าเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการที่จะต้องทำไปพร้อมๆ กัน

แตกต่างด้วยภาพลักษณ์  ภาพลักษณ์ที่ชัดเจนจะสร้างบุคลิกและคุณค่าต่อแบรนด์ได้อย่างยั่งยืน แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องใช้ทั้งเวลา เงินในการลงทุนโปรโมทภาพลักษณ์เหล่านั้นให้ไปอยู่ในใจผู้บริโภค เปรียบเสมือนการที่เราต้องการจะเรียนรู้ใครสักคน เราก็ต้องใช้เวลาอยู่กับเขาระยะเวลาหนึ่งเพื่อให้ทราบถึงนิสัยใจคอ 

ลองคิดถึงเพื่อนที่สนิทที่สุด เราก็จะนึกออกทันทีว่าเป็นคนแบบไหน ชอบแต่งตัวแบบไหน ชอบทำกิจกรรมอะไรการโปรโมทแบรนด์ก็เหมือนกับการแนะนำตัวและสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า นานๆไปจากคนรู้จักก็จะกลายเป็นเพื่อน จากเพื่อนก็จะกลายเป็นเพื่อนสนิทในที่สุด ผู้ประกอบการจะต้องวางแผนสร้างอัตลักษณ์ของแบรนด์(Brand Identity) ให้ชัดเจนพยายามสื่อสารในทุกๆ โอกาสผ่านทุกๆ Touch point สำคัญเพื่อตอกย้ำความเป็นภาพลักษณ์ที่เราต้องการอย่างสม่ำเสมอ

แตกต่างด้วยช่องทางการขาย สาวยาคูลท์ รถไอศกรีมติมวอลล์ หรือเซเว่นแคตตาล็อก ถือว่าเป็นตัวอย่างคลาสสิคของความแตกต่างด้านช่องทางการขายในอดีตจนถึงปัจจุบันการสร้างความแตกต่างด้วยช่องทางการขาย ถือว่ามีความนิยมมากในยุคนี้ ซึ่งคนสมัยใหม่มักจะมีข้อจำกัดทางด้านเวลามาก การที่เราได้เห็นหลายๆ ธุรกิจผันตัวมาขายช่องทางออนไลน์และให้บริการจัดส่งสินค้าถึงบ้านมากขึ้น ถือเป็นเทรนด์ที่เปลี่ยนไปของตลาดในปัจจุบัน 

เราได้เห็นธุรกิจใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อให้ความสะดวกสบายแก่ผู้ประกอบการ เช่น Foodpanda หรือ Lazada ที่ช่วยผู้ประกอบการสร้างช่องทางการขายมากขึ้น แต่ก็เป็นดาบสองคมที่ทำให้ความแตกต่างนั้น จะไม่เป็นความแตกต่างอีกต่อไป เราจึงได้เห็นช่องทางและวิธีการขายสินค้าใหม่ๆ สม่ำเสมอ เช่น ในต่างประเทศ Amazon เริ่มใช้โดรนส่งสินค้าแล้ว            

อย่างไรก็ตามมีธุรกิจที่มุ่งขายช่องทางเดียวจนสร้างความแตกต่างได้ เช่น หากเราอยากไปมูจิ, อยากรับประทานเดอะ เทอเรส หรือผัดไทยประตูผี, ดื่มกาแฟอเมซอน เราก็จะต้องไปยังช่องทางขาย ซึ่งก็เป็นการบ้านของผู้ประกอบการว่าจะวางกลยุทธ์เรื่องช่องทางการขายกับผู้บริโภคอย่างไร

มีงานวิจัยในต่างประเทศบอกว่ากว่า 90% ของบริษัทที่ตั้งใหม่จะไม่ประสบความสำเร็จและปิดตัวลง เพราะฉะนั้นการทำธุรกิจของผู้ประกอบการจะต้องคำนึงถึงความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก ไม่เพียงมุ่งแต่นำเสนอความแตกต่างอย่างเดียว จนลืมว่าคนที่เลือกให้ธุรกิจประสบความสำเร็จนั้นไม่ใช่ผู้ประกอบการ แต่ขึ้นอยู่กับผู้บริโภคว่าจะมองเห็นคุณค่าของความแตกต่างนั้นหรือไม่

"ความแตกต่างที่ยังไม่ถูกเติมเต็มในตลาดนั้น จะสามารถสร้างความสำเร็จด้านธุรกิจได้ หากแต่ไม่มีความแตกต่างใดที่ยั่งยืนเหนือกาลเวลา เพราะความแตกต่างนี้ก็จะถูกนำเสนอด้วยคู่แข่งจนกลายเป็นปัจจัยพื้นฐานของสินค้าหรือการบริการในที่สุด"

ผู้ประกอบการต้องหมั่นพัฒนาสินค้าหรือการบริการ นำเสนอความแตกต่างที่ผู้บริโภคต้องการอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นหนทางสู่ความสำเร็จทางธุรกิจอย่างยั่งยืน