เทคนิคการพยากรณ์อนาคต

เทคนิคการพยากรณ์อนาคต

ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญของสตาร์ทอัพประการหนึ่ง คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของความสามารถในการพยากรณ์อนาคตได้ถูกต้องแม่นยำ

ไม่ว่าจะเป็นการพยากรณ์ความต้องการของตลาด หรือจังหวะเวลาที่เหมาะสม

เรื่องของการพยากรณ์อนาคตในเชิงธุรกิจ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ใครๆ จะสามารถคิดเอาเองได้ แต่สำหรับธุรกิจไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่อยู่ในตลาดมาอย่างยาวนาน หรือธุรกิจสตาร์ทอัพเกิดใหม่ ที่ต้องการแสวงหาการเติบโตให้กับธุรกิจ ต่างก็ทราบกันดีว่า การพยากรณ์ตลาดในอนาคต เป็นเรื่องที่ต้องใช้วิจารณญาณและองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ เป็นวิทยาศาสตร์ และเป็นกระบวนการ เพื่อให้ได้ผลของการพยากรณ์ที่เชื่อถือได้ และสามารถนำมาใช้สร้างกลยุทธ์ธุรกิจที่ทำให้ธุรกิจโดดเด่น นำหน้าคู่แข่งได้อย่างประสบความสำเร็จ

แต่จะว่าไปแล้ว กระบวนการพยากรณ์อนาคตอย่างเป็นระบบที่ได้รับการยอมรับจากนักวิชาการด้านอนาคตศาสตร์ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับบริบททางธุรกิจเหล่านี้ ก็ได้มาจากการวิจัยและสังเกตรวบรวมพฤติกรรมธรรมชาติที่ติดตัวมนุษย์มาแต่กำเนิดที่นำมาใช้ในการคาดการณ์เหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับตัวเองโดยสัญชาตญาณและลางสังหรณ์นั่นเอง แต่เป็นการวิจัยที่ใช้กระบวนการเชิงวิชาการ

ตัวอย่างของเทคนิคการพยากรณ์อนาคตที่ธุรกิจจะสามารถนำมาใช้ในการวางแผนกลยุทธ์ที่ได้รับความนิยมนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย ได้แก่

เทคนิคการกวาดหาสัญญาณอนาคต(Scanning) เป็นการเฝ้าติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่อง เพื่อค้นหาสัญญาณของเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลก ที่นอกเหนือจากเหตุการณ์ภายในขอบเขตของธุรกิจที่ต้องสนใจอยู่แล้วตามปกติ สัญญาณที่จะมีความหมาย มักจะเป็นสัญญาณจากการเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆ เกิดขึ้นและมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาที่ผ่านไป ไม่ใช่เป็นเหตุการณ์หรือกิจกรรมเฉพาะเรื่องที่เกิดขึ้นภายในช่วงเวลาสั้นๆ

ตัวอย่างของเหตุการณ์อนาคตที่เป็นผลมาจากการติดตามกวาดหาสัญญาณอนาคต ได้แก่ การมาถึงของสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นสัญญาณที่มีจุดเริ่มต้นมากว่า 20 ปีแล้ว และสัญญาณนี้จะค่อยๆ ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงในปัจจุบัน

เทคนิคการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้ม(Trend analysis and monitoring) เทรนด์ หรือ แนวโน้ม ที่จะมีความสำคัญต่อการพยากรณ์อนาคตทางธุรกิจ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิตประจำวันของผู้คนโดยทั่วไป แนวโน้มที่เป็นเทรนด์ มักจะเกิดเป็นช่วงๆ เริ่มจากไม่มีอะไรเลย จนกลายมาเป็นเหตุการณ์ปกติ และค่อยๆ จางหายไป

เทรนด์ระยะสั้นที่รู้จักกันอย่างดี ได้แก่ เทรนด์ของแฟชั่นการแต่งกาย เทรนด์ที่เกิดในระยะยาวขึ้น และอาจมีผลกระทบต่อการกำหนดกลยุทธ์ของธุรกิจ อาจได้แก่ เทรนด์หรือแนวโน้มของการเกิดโรคระบาด แนวโน้มการกระจายรายได้ หรือแนวโน้มของการขาดแคลนแรงงาน เป็นต้น

ธุรกิจควรจะต้องระบุให้ได้ว่า แนวโน้มประเภทไหนที่จะมีผลต่ออนาคตของธุรกิจ และจัดให้มีการเฝ้าติดตามแนวโน้มเหล่านั้นอย่างใกล้ชิด มีการสรุปรายงานอัตราการเปลี่ยนแปลงให้ผู้บริหารทราบเป็นระยะๆ

การติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มที่มีประสิทธิภาพ จะทำให้ธุรกิจมองเห็นภาพการเกิดขึ้นของแนวโน้มที่สามารถนำมาพล๊อตเป็นเส้นกราฟคร่าวๆ ได้ เพื่อสามารถขีดเส้นกราฟยืดต่อออกไปเพื่อพยากรณ์แนวโน้มนั้นๆ ได้ด้วยความมั่นใจ

เทคนิคการพัฒนาฉากภาพอนาคต(Scenario development) เป็นการใช้จินตนาการที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์และความรู้ของธุรกิจในปัจจุบัน เพื่อวาดภาพในอนาคตที่จะเกิดขึ้น โดยกำหนดเป็นฉากๆ ขึ้นอยู่กับสมมติฐานการตัดสินใจกำหนดปัจจัยต่างๆ ของธุรกิจ

ฉากภาพอนาคต จะนำไปสู่การระบุหรือชี้บ่งเหตุการณ์ แนวโน้ม หรือสิ่งที่ไม่คาดคิดที่เป็นไปได้จากการบรรยายอนาคตในฉากนั้นๆ ทำให้ผู้บริหารหรือผู้นำธุรกิจสามารถมองเห็นทางเลือกและผลลัพธ์ที่อาจแตกต่างกัน ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนของอนาคต และนำมาช่วยในการตัดสินใจทางธุรกิจหากปัจจัยต่างๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงไปตามที่ได้พยากรณ์ไว้

เทคนิคการจำลองสถานการณ์และการใช้ทฤษฏีเกม(Simulation and Game Theory) การจำลองสถานการณ์ในอนาคตถูกนำมาใช้นานมาแล้ว โดยเฉพาะสำหรับปฏิบัติการทางสงคราม ที่มักจะเห็นการจัดวางโต๊ะสมรภูมิและตำแหน่งกองกำลังของฝ่ายเราและฝ่ายข้าศึก เพื่อที่จะตัดสินใจวางกลยุทธ์ในขั้นต่อไป

การจำลองสถานการณ์สงคราม ได้พัฒนามาเป็นทฤษฎีเกม ที่จะมีการพยากรณ์การตัดสินใจของฝ่ายตรงกันข้าม ซึ่งในทางธุรกิจ จะหมายถึงการตัดสินใจของตลาดและผู้บริโภคนั่นเอง

ในเทคนิคนี้ อาจมีการใช้ตัวแสดงที่เป็นบุคคลจริง การสร้างโมเดล หรือการใช้การจำลองสถานการณ์ด้วยคอมพิวเตอร์ ก็ได้

เทคนิคการระดมสมอง(Brainstorming) เป็นเทคนิคที่คุ้นเคยและธุรกิจได้นำมาใช้อยู่แล้วในการแก้ปัญหาหรือการพัฒนาสินค้าใหม่โดยมีกฎเกณฑ์ที่สำคัญคือ ในระหว่างการระดมสมอง จะต้องไม่มีการวิพากย์วิจารณ์ จะต้องปล่อยให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถเสนอความคิดได้อย่างอิสระเสรี

การระดมสมองเพื่อการพยากรณ์อนาคตทางธุรกิจ อาจใช้เครื่องมือด้านบริหารจัดการอื่นๆ มาประกอบ เช่น การทำผังมโนทัศน์ (Mind Map) การวิเคราะห์ผลกระทบ (Impact Analysis) หรือแม้กระทั่งการใช้เทคนิคกรองความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ (Delphi method)

สำหรับธุรกิจหรือสตาร์ทอัพ ที่ยังไม่มีประสบการณ์และความชำนาญในการการพยากรณ์อนาคตด้วยตนเอง อาจต้องเริ่มต้นจากการใช้นักพยากรณ์ศาสตร์มาช่วยแนะนำก่อนก็ได้