So Long … Agricultural Futures Exchange of Thailand

So Long … Agricultural Futures Exchange of Thailand

So Long … Agricultural Futures Exchange of Thailand

บทความวันนี้ตั้งใจให้มีชื่อไปละม้ายกับบทความเก่าของผมเมื่อวันที่ 8 พ.ย2555 ที่ชื่อ “So long...Tokyo Grain Exchange”ซึ่งเป็นการเขียนถึง การอำลาตลาดซื้อขายสินค้าล่วงหน้าเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น ที่มีชื่อว่า Tokyo Grain Exchange (TGE) สถานการณ์จะคล้ายกับในตอนนี้ที่ ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าของไทย หรือThe Agricultural Futures Exchange of Thailand (AFET) ก็กำลังจะปิดตัวลงอย่างถาวรในอีก 2-3 เดือน ข้างหน้า หรือในช่วงปลายปี 2559นี้

TGE เป็นตลาดล่วงหน้าเอกชนมีชื่อเดิมว่า Tokyo Rice and Commodities Exchangeซึ่งมีแต่สินค้าข้าวเปิดซื้อขายเมื่อปี 2417 ต่อมาในปี 2482 เมื่อญี่ปุ่นอยู่ในภาวะสงครามและข้าวจัดได้เป็นยุทธภัณฑ์อย่างหนึ่ง รัฐได้สั่งหยุดการซื้อขายข้าวทำให้TGEก็ต้องปิดตัวลงโดยปริยาย ซึ่งต่อมาเมื่อสงครามยุติลง TGE ก็ได้กลับมาเปิดให้มีการซื้อขายสินค้าอีกครั้งในปี 2495ด้วยสินค้า 3 ตัว ได้แก่ ถั่วเหลือง ถั่วแดงและ แป้งมันฝรั่ง

TGE นี้ถือได้ว่าเป็นตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่คนไทยรู้จักกันดีในยุคเฟื่องฟูของธุรกิจ “คอมมอดิตี้” เมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว โดยในบ้านเราได้นำเอาราคาจากกระดานของ TGE เช่น ถั่วเหลือง ถั่วแดง มา Settle กับคำสั่งซื้อขายของลูกค้าที่ได้ทำการซื้อและขายไว้กับบริษัทฯ (บริษัทรับ Order ของลูกค้าเอง) ในลักษณะที่เรียกกันว่า Bucket Shop โดยไม่มีคำสั่งของลูกค้าส่งเข้าไปใน TGE จริง ๆ ก่อให้เปิดเรื่องราวตามมามากมาย เช่น กรณีฉ้อโกงที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในเวลานั้น

ปริมาณการซื้อขายของ TGE ก่อนปิดตัวก็ไม่ขี้เหร่นะครับ โดยในปี 2554 TGE มีปริมาณการซื้อขายโดยเฉลี่ยที่ 10,860 สัญญาต่อวัน แต่ด้วยเหตุผลบางประการ ผู้ถือหุ้นของ TGE จึงได้อนุมัติให้ TGE ปิดตัวลง โดยสัญญาเก่า ๆ ของ TGEได้แก่ ข้าวโพด ถั่วเหลือง และ ถั่วแดงได้ถูกส่งไม้ต่อให้นำไปซื้อขายต่อที่ Tokyo Commodity Exchange (TOCOM) และสินค้า Rice Futures ได้ถูกนำซื้อขายที่ Osaka Dojima Commodity Exchangeตั้งแต่เดือน ก.พ. 2556

ย้อนกับมาดูAFETของบ้านเราที่เป็นตลาดที่ถูกจัดตั้งขึ้นตาม พรบ.การซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งได้ทำการเปิดซื้อขายมาตั้งแต่ 28 พ.ค. 2547 ในสินค้ายางพาราล่วงหน้า (หรือ Rubber Futures ชนิดยางแผ่นชั้น 3 หรือ RSS3) และต่อมาก็เห็นว่ามีการนำสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ เข้า Listing เพิ่มเติม อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง และสับปะรด

การดำเนินการที่ผ่านมาของ AFET จะเห็นได้ว่าสินค้าที่พอจะมีปริมาณซื้อขายให้เห็นอย่างสม่ำเสมอก็คือ RSS โดยในระหว่างปี 2551-2554 AFET มีปริมาณการซื้อขายRSS3เฉลี่ยอยู่ที่ 390 – 520สัญญาต่อวัน ซึ่งเป็นช่วงภาวะขาขึ้นของราคายางพารา ที่ราคาไปสร้างจุด Peak ที่ราคา190 บาท/กก.(ณ วันนี้ราคายางโลละ50 บาทครับ) โดยในช่วงนั้น AFET เหมือนจะประสบความสำเร็จตามสมควร เนื่องจากปริมาณการซื้อขาย RSS3 สามารถแซงหน้า Singapore Commodity Exchange (SICOM)ตลาดเก่าแก่ของสิงคโปร์ได้ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา และราคา RSS3 ของ AFET เริ่มถูกนำมาใช้เป็น Price Reference ของการค้ายางโลกบ้างแล้ว

ผลงานอีกอย่างหนึ่งของ AFET ในสินค้าข้าวก็คือ สามารถเป็นส่วนหนึ่งของกลไกของรัฐบาลในการเพิ่มทางเลือกในการระบายในสต๊อกของรัฐบาล ตั้งแต่ปี 2550ทั้งในรัฐบาลของท่านนายกฯ พลเอกสุรยุทธ์และนายกฯ อภิสิทธิ์ ซึ่งก็เป็นที่รับรู้กันดีว่าการประมูลข้าวแบบนี้เป็นวิธีที่ค่อนข้าวโปร่งใส โดยรัฐบาลก็ได้ใช้กลไกนี้ระบายข้าวในสต๊อกไปเป็นจำนวนหลายแสนตัน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากTrend ของการยุบรวมของ Exchange ทั่วโลก ประกอบกับเหตุผลในเรื่องของ Economy of Scale รัฐบาลชุดปัจจุบันจึงมีนโยบายที่จะรวมการซื้อขายสินค้าล่วงหน้าไว้ที่เดียว เป็นเหตุให้ AFET ถูกยุติบทบาทของตนไป และการซื้อขาย Rubber Futures และ/หรือ สินค้าเกษตรอื่น ๆ ที่แต่เดิมอยู่ภายได้ AFET ก็ได้ถูกย้ายให้ไปซื้อขายกันที่ Thailand Futures Exchange หรือ TFEX แทน

นับเป็นการปิดตัวลงของ Futures Exchange อีกแห่งหนึ่ง หลังจากที่เปิดซื้อขายมาได้เป็นเวลากว่า 12 ปี