ภูเก็ต : จะเป็นเพชรรุ่งหรือเพชรร่วง?

ภูเก็ต : จะเป็นเพชรรุ่งหรือเพชรร่วง?

เมื่อวันที่ 30 ส.ค. ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปพบกับผู้ประกอบการภูเก็ตเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการท่องเที่ยว

เมื่อวันที่ 30 ส.ค. ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปพบกับผู้ประกอบการภูเก็ตเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการท่องเที่ยว เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัย เรื่องการวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปสงค์ของนักท่องเที่ยวชาวจีน และรูปแบบการชำระเงินของจีนที่ไม่ผ่านระบบภาษีและธนาคารพาณิชย์ไทยที่กำลังเป็นที่ฮือฮากันอยู่ในปัจจุบัน จึงถือโอกาสแชร์ข้อมูลให้ผู้อ่านได้รับทราบทั่วกัน

เริ่มต้นที่กันที่ ดร.ดนัยธัญ พงษ์พั ชราธรเทพ เสนอผลการศึกษาซึ่งเสนอว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จของการดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนมาไทย มีอยู่สามประการคือ ประการแรก คนจีนได้ข่าวสารที่ครบถ้วนเกี่ยวกับประเทศไทยมากขึ้น ผ่านละครและหนังไทยที่ไปเผยแพร่ที่จีน แต่ช่องทางที่สำคัญคือข่าวสารที่นำเสนอบนระบบขายสินค้าที่ท่องเที่ยวออนไลน์ของจีนซึ่งได้นำแหล่งท่องเที่ยวของไทยจำนวนมาก (รวมทั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ !) ไปขึ้นบนออนไลน์แพลตฟอร์มของเขาไว้หมดแล้ว และเป็นออนไลน์แพลตฟอร์มที่ครบวงจร ตั้งแต่การสืบค้นข้อมูล ปรึกษาผ่านแชท การจองสินค้า ซื้อและแชร์ประสบการณ์ ประการที่ 2 ลูกค้าจีนที่มีกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์สามารถจ่ายเงินได้ผ่านโทรศัพท์มือถือที่ประเทศจีนอย่างสะดวกง่ายดาย เพราะทุกอย่างเป็นภาษาจีน และเมื่อมาที่เมืองไทยหากยังต้องการใช้เงินสดก็สามารถจ่ายเงินผ่านมือถือได้อีก โดยมีบริษัทของจีนที่ทั้งถูกและผิดกฎหมายมารับเป็นตัวแทนทางการเงินที่มาจัดการตัดค่าใช้จ่ายระหว่างร้านและลูกค้าโดยมิให้ยุ่งยาก และไม่เสียเวลาแลกเงินตราระหว่างประเทศ ปัจจัยแห่งความสำเร็จประการที่ 3 ก็คือการมีสายการบินเชื่อมต่อเมืองต่างๆ ของจีนถึง 15 เมืองกับเมืองท่องเที่ยวของไทย เช่น ฉางซา อู่ฮั่น โดยไม่ต้องไปกระจุกรอที่เมืองหลวง หรือเมืองเอก เช่น เซี่ยงไฮ้ หรือกวางเจา เมื่อโลจิสติกส์ทางข้อมูลข่าวสาร (Information flow) ทางการชำระเงิน (Financial flow) และทางการขนส่งอากาศ (Physical flow) พร้อม ประกอบกับประเทศไทยอยู่ใกล้ ราคาไม่แพง ก็ทำให้เกิดการทะลักเข้ามาของคนจีนอย่างมหาศาล โปรดสังเกตว่าต้นตอของปัจจัยแห่งความสำเร็จสองประการแรก เป็นการกระทำธุรกิจของฝ่ายจีนเองทั้งนั้น งานชิ้นโบว์แดงของไทย หรือ ททท. ก็คือการเปิดเที่ยวบินจีนไทยให้มากขึ้น

ในภาพรวมดูเผินๆ แล้วเราจะได้อานิสงส์จากการเข้ามาเยือนของนักท่องเที่ยวจีน มากอบกู้เศรษฐกิจท่องเที่ยวจากการสูญเสียนักท่องเที่ยวรัสเซียและยุโรป แต่การเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีนที่ภูเก็ต ก่อให้เกิดผลกระทบซึ่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างธุรกิจอย่างมหาศาล การลงทุนของธุรกิจจีน คาดว่าจะเป็นหลายพันล้านจนถึงหมื่นล้านบาท เฉพาะบริษัทที่เพิ่งถูกรัฐบาลยึดทรัพย์สินไปก็มีรถทัวร์ไม่ต่ำกว่า 100 คัน 

นอกจากนี้ยังมีการเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์โดยใช้นอมินี ทั้งโรงแรม คอนโดมิเนียม อพาร์ทเม้นท์ เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวจีนมาภูเก็ตกว่า 2 ล้านคน ย่อมหมายถึงรายได้เป็นกอบเป็นกำ จึงเกิดการลงทุนในธุรกิจทุกระดับ และเป็นการลงทุนที่เชื่อมโยงครบวงจร

การลงทุนที่ครบวงจร หมายถึง การเข้ามาลงทุนเป็นเครือข่ายซัพพลายเชนทั้งระบบ โดยจับมือกันระหว่างธุรกิจจีนด้วยกัน หรือบางส่วนก็อาจเป็นธุรกิจของคนไทยก็มี การใช้ระบบเครือข่ายพันธมิตร จะช่วยกระจายต้นทุน กำไรภายในให้ทุกห่วงโซ่อยู่ได้ แต่คนนอกอาจถูกเบียดให้ออกจากธุรกิจไป เช่น เอากำไรจากการขายของ (โดยเฉพาะทัวร์ศูนย์เหรียญที่ต้องไปซื้อของไม่ต่ำกว่า 7 แห่ง) มาโปะ สปากับโชว์ ธุรกิจไทยที่ไม่ได้อยู่ในเครือข่ายก็จะประสบปัญหา เพราะไม่สามารถขายในราคาที่สามารถแข่งกับธุรกิจพันธมิตรจีนได้ และหากจะเข้าไปอยู่ในกลุ่มพันธมิตรก็ต้องขายในราคาต่ำ เช่น สปา เคยนวดน้ำมัน 500 บาทต่อหัว ก็ต้องถูกต่อรองราคาให้เหลือ 150 บาท ธุรกิจไทยที่มีกิจการมานานมีต้นทุนบุคลากรสูงกว่าเพราะมีสวัสดิการก็ย่อมสู้ธุรกิจจีนที่ใช้ช่างนวดอิสระที่มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าไม่ได้ การเข้ามาของธุรกิจจีนที่เป็นเครือข่ายพันธมิตรครบวงจรจึงไม่เปิดโอกาสให้คนไทยทำมาหากินไปตามปกติ

ทัวร์คนจีนที่มาไทยส่วนหนึ่งเป็นทัวร์ที่เรียกกันว่า “ทัวร์ศูนย์เหรียญ คือจ่ายค่าทัวร์ประมาณ 1,000 หยวน หรือ 5,000 บาท มาเที่ยวเมืองไทยได้ 4 คืน 5 วัน ทั้งๆ ที่ราคานี้ค่าตั๋วก็ไม่ได้อยู่แล้ว ทั้งนี้บริษัทผู้รวบรวมนักท่องเที่ยวที่เมืองจีนจะได้ค่าทัวร์บวกค่าซื้อหัวนักท่องเที่ยวจากฝ่ายไทย ผู้ขายส่งจะรับผิดชอบแค่ค่าเรือบิน ฝ่ายไทยอยากได้นักท่องเที่ยวก็ไปซื้อหัวจากผู้ขายส่ง แล้วฝ่ายไทย (ซึ่งอาจเป็นเครือข่ายกลุ่มธุรกิจจีนในไทย) ต้องจ่ายค่าโรงแรม ค่ารถ แล้วไปเก็บจากนักท่องเที่ยวจีนจากการดูโชว์ หรือการชอปปิง ดังนั้น คุณภาพบริการที่นักท่องเที่ยวจีนได้ก็ค่อนข้างต่ำ เช่น อาหารทะเลมื้อหนึ่งทัวร์จ่ายร้านอาหารแค่ 130 บาท มีข้าวไข่เจียว ส้มตำ ผัดผัก แต่โฆษณาว่าเป็นอาหารทะเล

เนื่องจาก ทัวร์จีนมีปริมาณมาก จึงสามารถต่อรองกับผู้ประกอบการไทย ซึ่งเคยทำราคาได้สูงกว่า หากคนไทยรับไม่ได้ก็ตั้งธุรกิจของฝ่ายตนมารับแทน และอาศัยการเฉลี่ยรายรับจากธุรกิจใน ซัพพลายเชนส่วนที่มีกำไรมาจุนเจือ

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่านักท่องเที่ยวจีนคงจะเป็นลูกค้าหลักของเรา แต่ในโอกาสก็มีวิกฤตดังเช่นกล่าวมาแล้วคือ เกิดทัวร์ศูนย์เหรียญที่มีจำนวนมากจนอาจทำลายภาพลักษณ์ที่ดี เกิดการคับคั่ง จอแจ ทั้งๆ ที่ในจำนวนนักท่องเที่ยวเท่ากันเราอาจนำไปขายได้ราคาแพงกว่า หากทัวร์ศูนย์เหรียญขยายตัวไปเรื่อยๆ ภูเก็ตซึ่งเคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวไฮโซยอดนิยมจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวราคาถูก และสูญเสียภาพลักษณ์ไป ตกจากเมืองท่องเที่ยวระดับลีกไปเป็นระดับดิวิชั่น

แต่ก็มิใช่ว่านักท่องเที่ยวจีนจะมีแต่ทัวร์ศูนย์เหรียญ ที่ยอมจ่ายกันถึง 7,000 หยวนก็มี นอกนั้นยังมีนักท่องเที่ยวอิสระซึ่งมีแนวโน้มจะมีมากยิ่งขึ้น

ที่ประชุมกลุ่มย่อยได้ถกกันถึงทางออก ซึ่งผู้เขียนเสนอมาว่า เมื่อเขามาแบบเครือข่ายพันธมิตรเราก็ต้องสู้แบบเครือข่ายพันธมิตร จะตัวใครตัวมันไม่ได้อีกแล้ว ต้องจัดแพ็กเกจตลาดที่เหนือกว่าศูนย์เหรียญ ปล่อยให้รัฐบาลไล่ปิดเจ้าที่ผิดกฎหมาย กวาดล้างอั้งยี่ผู้มีอิทธิพลไปเรื่อยๆ ฝ่ายไทยก็หันมาเป็นตลาดสูงกว่า โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวอิสระ ซึ่งอัตราขยายตัวสูงกว่าพวกที่มาทัวร์ ส่วน ททท. ก็ต้องหาออนไลน์แพลตฟอร์มให้กลุ่มผู้ประกอบการไทยไปขึ้นได้ ซึ่งปัจจุบันต้องเป็นบริษัทจีนเท่านั้น การที่เราจะมาปรับปรุงเว็บไซต์ของเรา ไม่มีประโยชน์สำหรับนักท่องเที่ยวจีน เขาไม่อ่านเพราะเคยชินกับการอ่าน ช้อป แชร์ ในระบบออนไลน์ของเขาเอง

การทำธุรกิจการค้ากับคนจีนต้องอาศัยการปรับตัว เพราะคนจีน คิดไว ทำไว เปลี่ยนไว วงการท่องเที่ยวไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกมหาศาล ถ้าปรับได้ก็อยู่ได้ การขายก็ต้องกลับมาเน้นที่ตัวสินค้า ก็ต้องมีมุข มีนวัตกรรมให้แตกต่างกว่าของคนอื่น ประมาณว่ามีเจ้าเดียวเท่านั้นที่นำเสนอแบบนี้ได้ ส่วนการทำตลาดก็ต้องเน้นตลาดบนและนักท่องเที่ยวอิสระ

ภูเก็ตจึงจะสามารถอยู่อย่างยิ่งยงและยั่งยืน ในฐานะเพชรน้ำเอกของการท่องเที่ยวไทย