Divergence Diversity and Convergence  สถาบัน รัฐ ตลาด (52)

Divergence Diversity and Convergence  สถาบัน รัฐ ตลาด (52)

การทำประชามติ Brexit ของอังกฤษเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ไม่ใช่เป็นครั้งแรกหลังจากที่อังกฤษ เข้าเป็นสมาชิกประชาคม

เศรษฐกิจยุโรปเมื่อมกราคม ค.ศ.1973 ในสมัยรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมของรัฐบาล Edward Heath สิบปีหลังจากถูก de Gaulle วีโต้มา 2 ครั้งเมื่ออังกฤษขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกครั้งแรกในปี 1963 ต่อมาปี1975 พรรคแรงงานเป็นรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี Harold Wilson ต้องการเจรจากับประชาคมยุโรปใหม่ เพราะเสียเปรียบมาก Wilson ถือโอกาสทำประชามติว่าจะขอถอนตัวหรืออยู่ต่อเพราะกระแสพรรคแรงงานไม่ชอบการเข้าร่วมมีมาก รวมทั้งเสียงของประชาชน ผลคือออกมาให้อยู่ถึง 2 ใน 3 การพัฒนาการของกระแสนิยมในอดีตสามารถนำมาอธิบายและทำความเข้าใจกับกระแส Brexit ที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดเดาผิดพลาด เพราะคิดว่าคนอังกฤษน่าจะอยากอยู่ต่อ

สิ่งที่เราเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ในช่วงต้นทศวรรษ 60 ก็คือ หลังจากอังกฤษโดยพรรคแรงงานปฏิเสธ (โดยเหตุผลทางอุดมการณ์ เหตุผลทางการเมืองและผลพวงทางประวัติศาสตร์) แผนการรวมตัวเป็นประชาคมของยุโรปตั้งแต่แผนของ Schuman เรื่องโครงการเหล็กและถ่านหิน จนถึงสนธิสัญญาแห่งกรุงโรมเรื่อยมา อังกฤษเริ่มเห็นความสำคัญที่ลดลงในด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของพันธมิตรเก่าในเครือจักรภพ แต่เห็นความสำเร็จของกลุ่มประชาคมยุโรปที่แข็งแกร่งขึ้น และมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าอังกฤษ ฉันทานุมัติเริ่มเกิดในหมู่ผู้นำทั้งพรรคแรงงานและพรรคอนุรักษ์นิยม (ในความเป็นจริงจะมีความแตกแยกในความคิดในกลุ่มหรือก๊กอยู่เสมอ) นำไปสู่ความคิดร่วมว่า อังกฤษไม่มีทางเลือก จะต้องเข้าร่วม ผลประโยชน์ของประเทศทางเศรษฐกิจต้องอยู่เหนือความรู้สึก อารมณ์ หรือความทรงจำจากอดีตที่อังกฤษเคยยิ่งใหญ่หรือความรู้สึกชาตินิยม การเข้าร่วมไม่ควรจะถือว่าเป็นเรื่องของการเสียหน้า

ประเด็นสำคัญคือกระแสนิยมในช่วงต้นทศวรรษ 60 ในเรื่องนี้ของประชาชนที่สามารถเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้อย่างรวดเร็วในช่วงระยะเวลาอันสั้น ซึ่งน่าจะมาจากสาเหตุหลายๆ ด้าน Sir Stephen Wall ในบทความเรื่อง Britain and Europe ให้ข้อมูลที่น่าสนใจ ก่อนที่รัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมของ Macmillan จะยื่นเข้าเป็นสมาชิกประชาคม การสำรวจความเห็นของประชาชนโดยประธานพรรคพบว่า ร้อยละ 53 ของผู้ตอบ Gallup Poll เห็นด้วยกับการเข้าร่วม ถ้ารัฐบาลคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน

ไม่นานต่อมา เดือนสิงหาคมปี 1962 ตัวเลขนี้ลดลงมาเหลือเพียงร้อยละ 40 ไม่มีการให้เหตุผลว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ในข้อเท็จจริงประธานพรรคอนุรักษ์นิยมให้ความเห็นว่า กระแสร่วมและไม่ร่วมค่อนข้างจะสูสีกันมากในความเป็นจริง กระจายอยู่ทั่วไปตามพรรคการเมืองต่างๆ ทุกพรรค และพบว่าคนหนุ่มสาวเห็นด้วยกับการเข้าร่วม ขณะที่คนวัยกลางคนและผู้สูงอายุจะต่อต้านการเข้าร่วม ข้อสังเกตนี้น่าสนใจเหมือนจะตรงกับสิ่งที่พบใน Brexit เมื่อเดือนมิถุนายนปีนี้ มันบอกอะไรที่น่าสนใจเกี่ยวกับความคิดและพฤติกรรมของกลุ่มคนต่างๆ

การสำรวจที่พบเมื่อไม่นานมานี้ในยุโรป ก็พบว่า เป็นความจริงที่ว่ากระแสสนับสนุน EU และกระแสต่อต้านมีมากขึ้นในหลายประเทศ ทั้งจากซีกการเมืองขั้วซ้าย และโดยเฉพาะขั้วขวา ในอังกฤษ ในฝรั่งเศส ในเนเธอร์แลนด์ ไม่ต้องพูดถึงกรีซและประเทศในยุโรปใต้ที่บาดเจ็บจากวิกฤติเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามสิ่งที่พบก็คือกลุ่มคนหนุ่มสาวในแทบทุกประเทศยังเป็นกลุ่มที่สนับสนุน EU หรือการรวมตัวกันของสังคมยุโรปให้แน่นแฟ้นขึ้นในทุกๆ ด้าน เป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายที่คนหนุ่มสาวให้ความสำคัญกับโอกาส ให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหวการเคลื่อนย้ายแรงงานที่เสรีทั่วทั้งภาคพื้นยุโรป ความเห็นความคิดของคนหนุ่มสาวเกิดขึ้นในช่วงที่ยุโรปโดยเฉพาะ EU อยู่ในช่วงที่เลวร้ายที่สุด ตกต่ำที่สุดทางเศรษฐกิจ แตกแยกที่สุดทั้งทางการเมืองและความมั่นคง ไม่ต้องพูดถึงการก่อการร้าย การอพยพของมุสลิมและผู้คนจากประเทศอื่นๆในแถบเมดิเตอร์เรเนียน

กลับมาในช่วงต้นทศวรรษ 60 โพลล์ระบุว่าคนส่วนใหญ่ที่สนับสนุนให้เหตุผลทางเศรษฐกิจ ขณะที่คนที่คัดค้านการเข้าร่วมอ้างเหตุผลทั้งอารมณ์และแรงจูงใจทางการเมืองตั้งแต่การไม่มั่นใจผลที่จะตามมาในทางการเมือง มีการคิดว่าอังกฤษมีระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพ ไม่ควรที่จะไปเชื่อมโยงอะไรกับประเทศอย่างฝรั่งเศส อิตาลี หรือเยอรมัน ซึ่งในทางการเมืองมีระบบการเมืองที่ไร้เสถียรภาพ มีการพูดถึงความผูกพันธ์ส่วนตัวและครอบครัวของประเทศในเครือจักรภพ ที่มาของความคิดและความรู้สึกของคนงานและชนชั้นกลางที่คัดค้านคือความรู้สึกที่รักชาติไปจนถึงหลงชาติ ไม่ไว้ใจคนต่างชาติ ตัวแทนของพรรคและสื่อมวลชนก็มีส่วนซ้ำเติม สร้างความรู้สึกความไม่ไว้ใจคนต่างชาติ มีความรู้สึกกลัวว่า อังกฤษจะถูกผลักดันเข้าไปในสมรภูมิหรือเวทีที่ไปรับใช้ผลประโยชน์ของอเมริกา ทำให้อังกฤษเสียความเป็นอิสระ รวมทั้งการสูญเสียอธิปไตย

ภาพรวมใหญ่ๆ คือสมอง (Head) บอกว่าควรเข้าร่วมแต่หัวใจ (Heart) คัดค้านโดยหัวใจที่ใช้ความลุ่มหลง ใช้อารมณ์ความรู้สึกเป็นตัวนำ

ประเด็นที่น่าสนใจคือ 50 ปีต่อมาอังกฤษตัดสินใจถอนตัวจากยุโรปทั้งๆ ที่โลกเปลี่ยนไปมาก ทำไมหรือ และ Head กับ Heart อันไหนสำคัญกว่ากันัง