‘ความโปร่งใส’ กับการลงทุนเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก

‘ความโปร่งใส’ กับการลงทุนเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก

การส่งเสริมการลงทุน

ในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)เป็นนโยบายสำคัญที่รัฐบาลต้องการผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่อเพิ่มตัวเลขการลงทุนเอกชน สร้างการขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับรองรับอุตสาหกรรม 4.0 การสร้าง New S-curve ที่จะยกระดับเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

ก่อนหน้านี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯเศรษฐกิจทำแผนแม่บทและแผนที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จใน 3 เดือน และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานายกฯได้เรียกคณะทำงานอีอีซีมาตรวจการบ้าน มีการซักถามความคืบหน้าแผนโครงการโดยละเอียด รวมทั้งมีข้อสั่งการและให้ข้อเสนอแนะหลายประการ

นายกฯสั่งการให้คณะทำงานทำแผนพัฒนาโครงการให้ชัดเจนออกเป็นระยะๆ ตั้งแต่ว่าระยะ 1 ปี 2 – 5 ปี และ 6 – 20 ปี ว่าจะเกิดการพัฒนาอะไรที่เป็นรูปธรรมบ้าง ส่วนแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น สนามบิน รถไฟความเร็วสูง การปรับปรุงและขยายท่าเรือให้กำหนดไว้ในแผนปฏิรูปและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อให้ผลักดันต่อเนื่อง

รวมทั้งสั่งการให้มีพิจารณาประโยชน์ที่คนในพื้นที่จะได้รับ โครงการใดที่ต้องมีการทำประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้เริ่มดำเนินการล่วงหน้า และให้มีการประเมินผลกระทบเรื่องอื่นๆที่จะเกิดจากการลงทุน เช่น ปัญหาจราจร ก๊าซคาร์บอนไดร์ออกไซด์

ที่สำคัญนายกฯสั่งการให้คณะทำงานฯไปกำหนดธีม (Theme) ของการพัฒนาอีอีซีในปัจจุบัน จากที่อดีตสมัยพล.อ.เปรมเป็นนายกฯเคยใช้คำว่า โชติช่วง ชัชชาล โดยธีมที่จะมีการกำหนดขึ้นใหม่นี้ถือเป็นส่วนสำคัญ เพราะคณะทำงานฯต้องนำไปสร้างการรับรู้และแรงจูงใจ ให้นักลงทุนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยภาครัฐเป็นผู้ริเริ่ม และเอกชนเป็นผู้สนับสนุนการลงทุน

แม้การกำหนดธีมการลงทุนในพื้นที่ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการลงทุนก็จริง แต่การที่จะทำให้โครงการนี้ได้รับการยอมรับ และได้รับการสนับสนุนทั้งจากในและต่างประเทศสิ่งที่ขาดไม่ได้ คือการเปิดเผยข้อมูล และการสร้างความโปร่งใสในทุกขั้นตอนการดำเนินการ

เพราะแม้ว่าโครงการอีอีซีจะสำเร็จได้เอกชนต้องเป็นกำลังหลักสำคัญในการลงทุน แต่การเข้ามาร่วมวางแผนหรือให้ข้อเสนอแก่ภาครัฐในโครงการนี้ต้องไม่มีวาระแอบแฝงหรือผลประโยชน์ทับซ้อน

ขณะที่แผนแม่บทยังไม่แล้วเสร็จก็มีข่าวเล็ดลอดออกมาในทำนองว่ามีบริษัทรับเหมารายใหญ่วิ่งล็อบบี้เพื่อให้ได้โปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ในพื้นที่ทั้งหมดโดยอ้างว่าเพื่อให้งานแล้วเสร็จรวดเร็ว หรือแม้แต่เรื่องการปรับแนวเส้นทางรถไฟจากแนวเดิม ก็มีคำถามและข้อกังขาว่าเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนหรือไม่? และต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากค่าเวนคืนใครจะเป็นผู้รับภาระ?

...การดำเนินการโครงการขนาดใหญ่อย่างโครงการอีอีซี ความโปร่งใสและการเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นสากล ถือเป็นโจทย์สำคัญที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกๆ ถ้าต้องการให้โครงการนี้ได้รับการยอมรับทั้งจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ