นโยบายการเงินกับ Secular Stagnation

นโยบายการเงินกับ Secular Stagnation

ถ้อยแถลงล่าสุดของนางเจเน็ต เยลเลน ล่าสุดได้ทำให้ตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกปรับตัวเตรียมรับมือกับการปรับขึ้น

อัตราดอกเบี้ยนโยบายมากขึ้นในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ โดยที่การปรับตัวของตลาดทั้งหมดที่ผ่านมาเป็นการปรับตัวในระยะสั้น

การตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งของนางเจเน็ต เยลเลน และกรรมการคนอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ คงต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐและโลกในระยะยาว เพราะแม้ว่าตัวเลขการจ้างงานในสหรัฐจะมีการปรับตัวในทิศทางที่เป็นบวกมากขึ้นก็ตาม แต่ข้อมูลทางด้านการลงทุนของภาคเอกชน (ซึ่งสะท้อนภาวะเศรษฐกิจในระยะยาว) ก็ยังไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นนัก ซึ่งเป็นปัญหาเช่นเดียวกับที่อื่นๆ ของโลกไม่ว่าจะเป็น ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน

นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้สูงที่ประเทศต่างๆ เหล่านี้จะต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจของตน (แม้ว่าที่ผ่านมาจะใช้ไม่ค่อยได้ผลนักก็ตาม เช่น กรณีของญี่ปุ่น) ซึ่งการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติมของประเทศเหล่านี้ จะกลายเป็นแรงสะท้อนกลับไปกดดันไม่ให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้โดยอิสระมากนัก เพราะจะสร้างความแตกต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยแต่ละแห่งที่มากเกินไปนั่นเอง

นางเจเน็ต เยลเลน เองก็ได้ส่งสัญญาณชัดเจนเกี่ยวกับข้อจำกัดของนโยบายการเงินที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างสังคมเศรษฐกิจที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยโดยเฉลี่ยในระยะยาวปรับตัวลดลงจากที่เคยอยู่ร้อยละ 7 เป็นราวร้อยละ 3 ต่อปี โดยมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากรของเหล่าประเทศที่พัฒนาแล้วที่กำลังปรับเข้าสู่สังคมสูงอายุ ปัจจัยเรื่องข้อจำกัดที่ไม่สามารถขยายประสิทธิภาพการผลิตให้ได้มากเท่ากับในอดีต และความล้มเหลวเชิงนโยบายของหลายประเทศที่พัฒนาแล้วในการแกไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

ทั้งหมดนี้ได้ทำให้อุปสงค์โดยรวมของทั้งโลกขยายตัวลดลงจนเป็นเหตุให้การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะยาวนั้น มีอัตราที่ลดต่ำลงไปด้วย ซึ่งรู้จักกันในชื่อ secular stagnation นั่นเองดังนั้น นโยบายการเงินซึ่งเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมสำหรับจัดการกับปัญหาความผันผวนทางเศรษฐกิจในระยะสั้นนั้น จึงไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ในสถานการณ์ที่อุปสงค์โดยรวมของโลกขยายตัวลดลง เพราะในสถานการณ์ดังกล่าวนี้ ถึงแม้ว่าเราจะใช้นโยบายการเงินเพื่อกดอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำได้ก็ตาม

แต่นักลงทุนก็ไม่สนใจจะลงทุนขยายกำลังการผลิตใหม่ เนื่องจากมองเห็นข้อจำกัดของขนาดอุปสงค์ที่ลดลงนั่นเอง ปริมาณเงินที่ถูกฉีดเพิ่มเข้าไปในระบบเศรษฐกิจจึงมักจะไหลเข้าออกระหว่างประเทศเพื่อลงทุนเก็งกำไรในระยะสั้นแทน เช่น การเก็งกำไรในตลาดหุ้นหรือตลาดเงินระยะสั้น และในตลาดอสังหาริมทรัพย์ในบางพื้นที่ เพราะจะให้ผลตอบที่สูงแต่ก็มีความเสี่ยงในการลงทุนที่เพิ่มขึ้นด้วยนั่นเอง ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือกรณีภายหลังการทราบผลเรื่อง Brexit ที่ทำให้มีกระแสเงินทุนระยะสั้นไหลเข้ามาในตลาดหุ้นของประเทศในภูมิภาคเอเชียจำนวนมาก และมีความต้องการถือเงินเยนของญี่ปุ่นที่เพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นๆ ในช่วงที่ผ่านมา

ในสถานการณ์ที่อุปสงค์ของโลกมีการขยายตัวลดลงหรืออยู่ในระดับต่ำ และยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำที่สูงด้วย จึงทำให้นโยบายทางด้านการคลังนั้นดูจะมีประสิทธิภาพที่เหนือกว่านโยบายการเงิน (และนี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้นางเจเน็ต เยลเลน ยืนยันว่า ยังไม่มีความจำเป็นจะต้องหานโยบายทางการเงินแบบใหม่ๆ มาใช้ เช่น การปรับเพิ่มเป้าหมายเงินเฟ้อ) เราได้เห็นหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่นที่ได้ประกาศแผนมาตรการใช้จ่ายทางการคลังเพิ่มเติมไปแล้ว หรือสหรัฐอเมริกาและยุโรปเองที่เรียกร้องให้รัฐลงทุนพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติม

แต่การใช้นโยบายการคลังนั้นจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ที่ยาวนานมากกว่านโยบายการเงินแน่นอน นอกจากนี้ในบางประเทศ เช่น ในกรณีของยุโรปนั้น ภาครัฐและภาคครัวเรือนก็มีปัญหาเรื่องภาระหนี้สินที่สูงอยู่แล้ว การใช้จ่ายของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นจึงมีข้อจำกัดอยู่มาก นอกจากนี้ในส่วนของประเทศที่กำลังพัฒนาเช่นกรณีของจีน อินเดีย หรือแม้แต่ไทยเองนั้น การใช้จ่ายภาครัฐจำเป็นต้องมุ่งเน้นไปในเรื่องของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจากการผลิตสินค้าราคาถูกไปสู่การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น หรือในภาคบริการที่มีการใช้ความรู้เข้มข้นมากขึ้น

หรือแม้แต่การจัดการปรับลดภาคการผลิตที่ขาดประสิทธิภาพให้ได้โดยราบรื่นไม่ขัดแย้งจนกลายเป็นปัญหาสังคมและการเมือง และต้องดูแลป้องกันปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐที่อาจขยายตัวตามขนาดการใช้จ่ายของภาครัฐที่เพิ่มขึ้น เพราะประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ยังขาดระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจที่ดีพอ

โดยสรุป เราคงต้องอยู่ในโลกที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าในอดีตไปหลายปี แต่ในส่วนของความผันผวนทางเศรษฐกิจในระยะสั้นนั้น ก็คงต้องฝากความหวังไว้ที่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็นของยุโรป ญี่ปุ่น จีน หรือสหรัฐ ว่าจะสามารถยอมรับข้อจำกัดของนโยบายการเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้สภาวะที่แตกต่างกัน ได้อย่างไรบ้างนั่นเอง

-------------------

ศ.ดร.อารยะ ปรีชาเมตตา

เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์