ดอกเบี้ยดอลลาร์ขึ้นมาเท่ากับดอกเบี้ยบาทแล้วนะ!

ดอกเบี้ยดอลลาร์ขึ้นมาเท่ากับดอกเบี้ยบาทแล้วนะ!

ดอกเบี้ยดอลลาร์ขึ้นมาเท่ากับดอกเบี้ยบาทแล้วนะ!

ขณะที่นักลงทุนอย่างเราๆ กำลังสงสัยว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้หรือไม่ แต่ตลาดเงินดอลลาร์ตอนนี้ถือว่าตึงตัวไปก่อนหน้าแล้วครับ สังเกตได้จากดอกเบี้ย LIBOR ที่ขึ้นไม่หยุดติดต่อกันเป็นเดือนที่ 20 และก็ยังมีแนวโน้มขึ้นต่อ จนตอนนี้ LIBOR 1ปี ปรับตัวขึ้นมาถึง 1.50% แล้ว ถ้าเทียบดอกเบี้ยนโยบายไทยหรือดอกเบี้ย THBFIX ที่มีแนวโน้มทรงตัว (แถมยังอยู่ระดับใกล้เคียงกันที่ 1.50%) ต้องถือว่าเรื่องดอกเบี้ยกำลังจะกลับมาเป็น “ประเด็นร้อน” และน่าสนใจว่าต่อจากนี้ตลาดเงิน ตลาดทุนโลกและไทยจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร

เหตุผลที่ LIBOR ปรับตัวขึ้น ผมมองว่ามาจาก 2 สาเหตุหลักด้วยกันครับ 1. เรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่ดูจะเป็นไปได้มากขึ้น ซึ่งคงไม่ต้องอธิบายอะไร (รอลุ้นดีกว่า) และ 2. เรื่อง Money Market Mutual Fund Reform ที่กำลังจะเริ่มใช้ในสหรัฐวันที่ 14 ตุลาคมที่จะถึงนี่เองครับ

หลายคนอาจไม่คุ้นกับประเด็นหลัง ผมอธิบายง่ายๆ ว่าเป็นระเบียบใหม่ที่จะเข้ามาลดความผันผวนเมื่อเกิดวิกฤตครับ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ prime money market fund ที่ถือโดยนักลงทุนสถาบันจะต้องโดนคิด “Floating NAV” หรือคิดมูลค่าตามราคาตลาด นอกจากนี้ ถ้าสภาพคล่องของกองทุนลดลงไปต่ำกว่า 30% ของมูลค่าสินทรัพย์ การขายคืนก็จะต้องถูกคิด “Liquidity Fee” เพิ่มไม่เกิน 2% และ/หรือติด “Redemption Gate” ซึ่งแปลว่าจะมีช่วงเวลา “ห้ามไถ่ถอน” เพิ่มขึ้นมาด้วย ซึ่งนักลงทุนสถาบันคงไม่อยากที่จะถือกองทุนลักษณะนี้ที่มีอยู่ในปัจจุบันถึง 7.5 แสนล้านเหรียญอีกต่อไปแล้วครับ

ผลที่ตามมาก็คือบริษัททั่วโลกที่แต่ก่อนเคยหาทุนจากการออก Prime Papers ส่งเข้า Money Market Fund ได้ก็แทบจะ “ทำไม่ได้” อีกต่อไป บริษัทที่ต้องการดอลลาร์ต้องปรับตัวหาช่องทางอื่นในการระดมทุน และเมื่อบริษัทเลือกที่จะกู้ผ่านมาสถาบันการเงิน LIBOR ก็จะปรับตัวขึ้นนั่นเอง

สถาบันการเงินหลายๆ แห่งในสหรัฐวิเคราะห์ผลกระทบของกฎใหม่ที่มีต่อ LIBOR พบว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะส่งผลให้ LIBOR ปรับตัวขึ้นได้ราว 50bps เป็นอย่างน้อย ซึ่งถ้าเราคิดเร็วๆ ว่า LIBOR มาจาก Fed Fund Rate บวกกับ Regulatory Spread ก็จะพบว่าตอนนี้ตลาดยังไม่รับข่าวระเบียบใหม่นี้ทั้งหมด และถ้ารวมว่าเฟดจะปรับ Fed Fund ขึ้นด้วยแล้ว LIBOR ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นไปได้อีกอย่างแน่นอน

ถามว่าการลงทุนของเราจะได้รับผลกระทบอะไรจากเรื่องนี้บ้าง ในมุมมองของผมจะชี้ให้เห็นสองเรื่องหลักครับ 1. ต้นทุนในรูปดอลลาร์สหรัฐที่ปรับขึ้นจะกดดันให้นักลงทุนต่างชาติต้องหาสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนมากขึ้นเพื่อชดเชยยีลด์ที่เสียไป หรือพูดง่ายๆ ก็คือการลงทุนอะไรที่ให้ยีลด์ต่ำกว่า LIBOR ก็มีโอกาสโดนทิ้งง่ายๆ 2. ดอลลาร์ยีดล์ที่เพิ่มขึ้นจะเป็นตัวดึงให้เงินลงทุนไหลกลับไปหาดอลลาร์ ซึ่งตรงนี้น่าจะเป็นประเด็นของนักลงทุนที่ต้องการความเสี่ยงต่ำ ซึ่งก็หมายความว่าตลาดจะรับความเสี่ยงได้น้อยลงนั่นเอง

โดยสรุป ผลกระทบจึงน่าจะเป็นในลักษณะที่เงินทุนจากยุโรปและญี่ปุ่นไหลไปสหรัฐฯ ขณะที่เงินทุนฝั่งสหรัฐก็จะไหลกลับมาที่ Emerging Markets ที่ผลตอบแทนสูงครับ

ในส่วนของประเทศไทยที่น่าห่วงก็คือตราสารหนี้ที่ยีลด์ต่ำเตี้ยและคงเจอแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติถ้าต้นทุนเริ่มปรับตัวสูงขึ้นเกินกว่าบอนด์ยีลด์ ส่วนจะขายแล้วทิ้งเราไปเลยหรือไม่ ผมมองว่าต้องกลับมาดูที่หุ้นไทยและค่าเงินครับ ถ้าเศรษฐกิจไทยดีขึ้น หุ้นขึ้นต่อ เงินบาทแข็ง นักลงทุนก็คงแค่ “ขายบอนด์ซื้อหุ้น” ได้ แต่ถ้าปีหน้าเศรษฐกิจแย่ หุ้นลง และเงินบาทอ่อน ก็คงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมเราอาจจะได้เห็นต่างชาติขายสินทรัพย์ไทยอย่างหนักนะครับ

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี
[email protected]