ลงทุนอย่างไรในภาวะดอกเบี้ยใกล้ศูนย์

ลงทุนอย่างไรในภาวะดอกเบี้ยใกล้ศูนย์

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านทุกท่าน คำถามหลักๆ ที่ดิฉันมักจะได้รับในช่วงนี้จากลูกค้าที่เน้นการออมและลงทุนผ่านการฝากเงิน คือ ดอกเบี้ยจะยังต่ำต่อไปอีก

นานแค่ไหน? มีอะไรที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าฝากเงินบ้าง? จะลงทุนอะไรดีเพื่อทำให้เงินงอกเงย? หุ้นแพงไปแล้วหรือยัง?

 และ มีทางเลือกการลงทุนอื่นใดบ้าง?  ซึ่งในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ดิฉันได้เดินสายจัดงานสัมมนา เรื่อง “ทางออกการลงทุน ในภาวะดอกเบี้ยใกล้ศูนย์” เพื่อที่จะตอบคำถามเหล่านี้ ซึ่งดิฉันและคุณศรชัย สุเนตต์ตา ผู้อำนวยการอาวุโส Head of Investment Advisory, CIO ธนาคารไทยพาณิชย์ ขอสรุปเป็นประเด็นดังต่อไปนี้ค่ะ

อัตราดอกเบี้ยต่ำหรือติดลบในหลายประเทศมีแนวโน้มอยู่ต่อไปอีกนาน เนื่องจาก เศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างช้าๆ ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับสหราชอาณาจักรมีประชามติออกจากสหภาพยุโรป ทำให้ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลก ทั้ง ยุโรป (ECB) อังกฤษ (BoE) ญี่ปุ่น (BoJ) และ จีน (PBoC) จำเป็นต้องออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำ และอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติมเข้าสู่ระบบการเงินผ่านมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE ถึงแม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) กำลังจะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลังเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นแล้วก็ตาม แต่ยังคาดว่าน่าจะทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ เนื่องจาก ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจและการเงินของโลก เงินสกุลดอลลาร์ สรอ.ที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น รวมทั้งยังไม่มีแรงกดดันจากเงินเฟ้อ

ราคาหุ้นในหลายประเทศปรับเพิ่มขึ้นมากจนอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแพง โครงสร้างสังคมและประชากรโลกที่เปลี่ยนไป หลายภูมิภาคเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ความต้องการซื้อสินค้าลดลง เม็ดเงินที่อัดฉีดเข้ามาจากธนาคารกลางต่างๆ ได้ถูกนำไปซื้อสินทรัพย์ทางการเงินแทนที่จะไปสู่ภาคเศรษฐกิจ ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นเร็วกว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนฯ และราคาตราสารหนี้ก็ปรับตัวสูงขึ้นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า PE ของหุ้นสหรัฐฯ และยุโรปปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตค่อนข้างมาก

การลงทุนในตลาดหุ้นไทย ตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นมาประมาณ 20% ตั้งแต่ต้นปี เนื่องจาก พื้นฐานเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง การบริโภคภายในประเทศเริ่มกลับฟื้นตัว และมีเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปีนี้รวมแล้วมากกว่า 100,000 ล้านบาท ส่งผลให้ PE เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 16.3 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีในอดีตซึ่งอยู่ที่ 14 เท่า สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทย มีโอกาสปรับลดลงหรือพักฐานในระยะสั้น ทั้งนี้ มีความเสี่ยงจากการที่ Fed มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยประมาณ 1 ครั้งในปีนี้ และการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ช่วงปลายปี รวมทั้งมีปัจจัยของ Brexit ที่ยังมีผลอย่างต่อเนื่อง เพราะหากมีประเทศอื่นออกจากกลุ่มยุโรป อาจทำให้ตลาดตื่นตระหนกได้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยในระยะยาวมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้น เพราะอาจจะเกิดการเลือกตั้งในช่วงปลายปีหน้า ขณะที่ผลกระทบจาก Brexit จะยังไม่เกิดขึ้นทันที อย่างน้อยใช้เวลาอีก 2 ปีนับตั้งแต่วันลงประชามติ ดังนั้น นักลงทุนจึงควรมีวินัยในการทยอยลงทุนและขายทำกำไรออกมาบ้าง และเมื่อตลาดปรับฐานในระยะสั้น ก็ทยอยลงทุนเพิ่มตามสัดส่วนและความเสี่ยงที่รับได้

แนะนำทางเลือกการลงทุน

สำหรับคำแนะนำการลงทุนนั้น ดิฉันขออ้างถึงคำแนะนำการลงทุนของ คุณศรชัย สุเนตต์ตา ที่ได้ให้ไว้ ดังต่อไปนี้

    นักลงทุนควรเริ่มแสวงหาสินทรัพย์ใหม่ๆ ที่สร้างกระแสเงินสดได้สม่ำเสมอ มีพื้นฐานดีและราคาไม่แพงเกินไป มีความผันผวนต่ำกว่าหุ้น เช่น กองทุนอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ที่ให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยถึงร้อยละ 5 หรือกองทุน REIT ของอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ ที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนในหุ้น รวมทั้งเครดิตตราสารหนี้และหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนต่างประเทศที่มีคุณภาพดี investment grade ซึ่งตอนนี้ธนาคารกลางหลายประเทศก็เริ่มทยอยซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชน และตราสารหนี้ที่มีอนุพันธ์ไปเกี่ยวโยง เช่น Mortgage Back Security ที่ออกโดย government agency ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือดีๆ และผลตอบแทนน่าลงทุนอยู่ การลงทุนแบบ Absolute Return โดยตั้งเป้าผลกำไรที่ไม่สูงเกินไปเช่น 5-8% ซึ่งเป็นระดับที่ควบคุมความเสี่ยงได้ดี ในภาวะที่ตลาดมีสภาพผันผวน นักลงทุนต้องมีวินัยในการลงทุนและยอมขายทำกำไรบ้างเพื่อคุมความเสี่ยง โดยเลือกขายออกช่วงที่นักลงทุนรู้สึกพอใจ หรือลองใช้เทคนิค Long/Short มาช่วยลดความผันผวนด้วยการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยง อาทิ ลงทุนในหุ้น ควบคู่กับการป้องกันความเสี่ยงโดยใช้ Futures เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ผันผวนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับการลงทุนในหุ้นแบบปกติ ปรับทิศทางการลงทุนด้วยแนวทาง Avoid Overpaid Behavior โดยทำตัวสวนทิศทางกับนักลงทุนที่กลัวความเสี่ยงและยอมจ่ายค่าประกันความเสี่ยงมากเกินควร (เฉลี่ยแล้วต้องจ่ายภาระค่าประกันร้อยละ 1-2 ต่อปี) เป็นผู้ขายประกันความเสี่ยง เช่น การลงทุนในตราสารหนี้บางประเภท อาทิ Equity link Note, Reverse equity link note, หรือตราสารที่สลับสับเปลี่ยนเงินสกุลบาทและสกุลต่างประเทศ แต่ทั้งนี้การขายประกันความเสี่ยงต้องทำในระดับไม่มากจนเยอะเกินไปจนเกินกว่าระดับที่นักลงทุนยอมรับได้ หรือ จะต้องมี underline asset มารองรับ เช่น cover call position

 

การปรับพอร์ตการลงทุนในภาวะดอกเบี้ยใกล้ศูนย์ตามกลยุทธ์ที่ได้แนะนำข้างต้น จะช่วยเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนให้พอร์ตการลงทุนของท่าน โดยเน้นแนวคิดที่ว่า ในภาวะปัจจุบันนักลงทุนควรหลีกเลี่ยงการคาดหวังต่อผลตอบแทนจากการลงทุนที่มากเกินไปและเพิ่มความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุนอย่างไม่จำกัด แต่นักลงทุนควรคำนึงถึงความสม่ำเสมอของผลตอบแทนที่ได้รับมากกว่า