อังกฤษถอยจาก EU อาเซียนควรเรียนรู้อะไร?

อังกฤษถอยจาก EU อาเซียนควรเรียนรู้อะไร?

สหภาพยุโรป หรือ EU นับได้ว่าเป็นกรอบการบูรณาการภูมิภาคที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง

 และนโยบายสาธารณะ จนถูกยกให้เป็น "ตัวแบบ" ให้กับกรอบการบูรณาการภูมิภาคอื่นๆ รวมถึงประชาคมอาเซียนได้เป็นอย่างดี แต่ผลจากการลงประชามติของพลเมืองสหราชอาณาจักรเกี่ยวกับการออกจากสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา เสียงส่วนใหญ่ร้อยละ 52 นั้น เห็นควรให้อังกฤษออกจาก EU จนมีศัพท์เฉพาะเรียกว่า Brexit ที่มาจากคำว่า Britain และ Exit ผสานกัน กลายเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำคัญที่ประชาคมโลกให้ความสนใจ และเป็นที่ขบคิดกันในเวทีเสวนา เรื่อง “Brexit ผลสะท้อนต่อสหภาพยุโรปและบทเรียนต่อประชาคมอาเซียน (BREXIT-EU-ASEAN)” ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ ศูนย์ประชาคมอาเซียน สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา

โดยได้ข้อถกคิดและความรู้ที่น่าสนใจว่า เรื่องราวประวัติศาสตร์ ธรรมชาติของ “รัฐ” เป็นสิ่งสั่งสมหนึ่งที่ทำให้อังกฤษตัดสินใจเดินออกจากอ้อมอกของ EU เนื่องจากหลายเหตุผลคือ

1. สหภาพยุโรปเป็นกระบวนการที่สมาชิกทั้ง 28 ประเทศต้องสูญเสียอำนาจอธิปไตยบางส่วนในหลายๆ เรื่อง ซึ่งขัดกับการทำงานพื้นฐานของรัฐอังกฤษที่เติบโตมาโดยมีอำนาจอธิปไตยอยู่ที่รัฐสภา และรัฐสภาเองเป็นองค์กรหลักในการบริหารบ้านเมือง

2. อำนาจทางกฎหมายของ EU อยู่เหนือกฎหมายอื่น ถ้ากฎหมายของอังกฤษขัดแย้งกับกฎหมายของ EU กฎหมายของ EU ต้องชนะเสมอ

3. อังกฤษเป็นระบบ รัฐเดียว” ในขณะที่ยุโรปบางประเทศอยู่บนพื้นฐานของรัฐสหพันธ์อย่างเยอรมัน ฝรั่งเศส 4. ความแตกต่างด้านนโยบายทางเศรษฐกิจอังกฤษมีความก้าวหน้าทางการเงินกว่ายุโรป เพราะมีเสรีทางการเงินเหมือนสหรัฐอเมริกา และอังกฤษไม่เคยยอมรับกฎ EU เรื่องความเป็น “รัฐสวัสดิการ” 5. ในอังกฤษมีการแบ่งแย่งเรื่องชนชั้นถึงประมาณ 7-8 ชนชั้น มี Class Structure สูง ฝังรากอยู่ EU เป็นโปรเจ็คของชนชั้นนำหรือที่เรียกว่าอีลีท “Brexit” จึงเป็นชัยชนะหนึ่งที่คนชนชั้นรองลงมามองว่า เขามีเหนือกว่าชนชั้นสูง 6. อังกฤษเป็นศูนย์กลางภาคบริการทางการเงินจึงรู้สึกว่ากฎระเบียบที่มากมายของ EU เป็นอุปสรรคและทำให้การทำธุรกิจของตนเกิดความล่าช้า

นอกเหนือจากระบบรัฐที่แฝงฝังในอังกฤษจะแตกต่างจากชนชาติอื่นใน EU แล้ว การออกจาก EU นี้ อังกฤษเองเรียกมันว่า Soft Brexit เพราะเป็นการออกจาก EU แบบนุ่มนวล สถานะหลายอย่างไม่ต่างจากสภาพเดิมมากนัก คือ อังกฤษไม่อยากทำตามหลักเสรีภาพ 4 ประการ ที่เรียกว่า “Four Freedom” ของ EU ประกอบด้วย การมีเสรีภาพในการเคลื่อนย้ายสินค้า เงินตรา การบริการ และมนุษย์ แต่อังกฤษอยากเป็น สี่ลบหนึ่ง” หมายความว่า ยังอยากแชร์เสรีภาพทุกอย่างยกเว้น มนุษย์ไม่ต้อนรับผู้อพยพ แรงงานย้ายถิ่น แต่การเลือกแบบนี้จะเป็นการทำลายหลักการการทำงานของ EU ซึ่งข้อเสนอ Soft Brexit จะผ่านความเห็นชอบจากสภายุโรปได้ ต้องได้รับการโหวตเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 20 จาก 27 ประเทศที่เหลือ (ไม่รวมอังกฤษ) และจำนวนประชาการที่เห็นด้วยต้องมีจำนวน ร้อยละ 65 ของประชากรยุโรปทั้งหมด ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องจับตาดูกันต่อไป

ย้อนกลับมามองที่อาเซียนจะพบว่า การเข้าสู่ความเป็นประชาคมเห็นได้ชัดจากการมีการเคลื่อนย้ายแรงงานกันมานาน 30 ปี ซึ่งไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นจากการตกลงอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2558 อย่างกรณีของไทยก็เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (ปี 2531-2534) ที่เปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า ในเชิงหลักการจะพบว่า EU รวมตัวกันลึกในหลัก 5 ข้อคือ 1. เขตการค้าเสรี 2. สหภาพศุลกากร 3. การเคลื่อนย้ายอย่างเสรี 4. สหภาพทางการเงิน และ 5. การมีกฎหมายและรัฐสภาร่วมกัน แต่ของอาเซียนเพิ่งจะมีการรวมตัวกันในข้อ 1 และ 3 คือเรื่องของเขตการค้าเสรี และการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี แต่ก็ยังไม่ใช่การเคลื่อนย้ายที่แท้จริง เพราะเป็นแรงงานที่ไร้คุณภาพ

สรุปได้ว่าปัจจุบันการรวมตัวกันของประเทศในประชาคมอาเซียนเป็นไปแบบหลวมๆ อาเซียนยังขาดข้อผูกมัดหรือพันธสัญญาต่างๆ ที่มีข้อกำหนดที่ชัดเจนเหมือน EU เรายังมีความขัดแย้งกันเรื่องสมบัติทางวัฒนธรรมอย่างกรณีเรื่องโขนไทยกับกัมพูชายังขัดแย้งกัน มาเลเซียกับอินโดนีเซียมีข้อพิพาทกับเรื่องผ้าปาเต๊ะ เราไม่มองเป็นสมบัติร่วมกัน ความขัดแย้งดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเราไกลห่างจากความฝันที่วางไว้ว่าประชาคมอาเซียนต้องเป็นประชาคมแห่งการ "sharing and caring"

ดังนั้น เราต้องทลายกำแพงของการขัดแย้งทางความคิดทำให้ประชาชนในภูมิภาค รู้สึกว่าเราคือประชาคมเดียวกันทำให้ประชาชนมองเห็นถึงคุณค่าของการรวมตัวและจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างคนรุ่นใหม่ของนักศึกษาไทย พบว่าไม่รู้สึกอะไรถ้าวันพรุ่งนี้เราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน ข้อมูลดังกล่าวอาจเป็นตัวแทนของตะกอนความคิดที่ชี้ให้เห็นว่าการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน ณ ปัจจุบันยังไม่ทำให้ประชาชนในกลุ่มตระหนักว่าการเข้าสู่อาเซียนมีความสำคัญและสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ ต่อประเทศของตนได้

ข้อถกคิดของประชาคมอาเซียนที่มีไทยเป็นสมาชิก จึงไม่ใช่เพียงว่าหลังจาก Brexit จะเกิดอะไรขึ้นจะส่งผลกระทบกระทบอย่างไรต่อ EU แต่ยังอยู่ที่ว่าเราจะเรียนรู้อะไรจากปัญหาของ EU เพื่อเป็นบทเรียนให้อาเซียนสามารถสร้างกรอบการบูรณาการภูมิภาคที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และมีความยั่งยืนได้

--------------------

วรรณสม สีสังข์

งานสื่อสารสังคม สกว.