นักเลือก

นักเลือก

นักเลือก

คนเลี้ยงม้าจูงม้ามาหาสัตวแพทย์แล้วบอกว่า “หมอครับ ม้าผมไม่รู้เป็นอะไร บางช่วงก็วิ่งได้ดีแต่บางช่วงก็กระเผลก” “อ๋อ ไม่มีปัญหา” สัตวแพทย์ตอบทันทีโดยที่ยังไม่ได้ตรวจม้า “เวลาที่มันวิ่งได้ดีคุณก็ขายมันซะ”

นั่นก็เป็นเรื่องเล่าที่คงไม่จริง สัตวแพทย์นั้นมีหน้าที่และ “จิตวิญญาณ” ที่จะต้องรักษาสัตว์ที่เจ็บป่วย เขาคงต้องตรวจม้าอย่างละเอียดดูว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ม้าเป็นอย่างที่เจ้าของถาม หลังจากตรวจจนคิดว่าม้าเป็นอะไรแล้ว เขาก็คงต้องแนะนำว่าจะต้องรักษาอย่างไรและมีค่าใช้จ่ายแค่ไหน ทั้งหมดนี้ใช้เวลาและเงินทองของหมอและเจ้าของม้าซึ่งบางทีหรือบ่อยครั้งอาจจะ “ไม่คุ้ม” สู้ทำอย่างสัตวแพทย์ในเรื่องแนะนำดีกว่า คือขายม้าทิ้งในช่วงที่มันดูดีที่ทำให้ได้ราคาสูงแล้วถ้ายังอยากได้ม้าก็ไปหาซื้อม้าตัวใหม่ที่ดีเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม การขายนั้นก็คงต้องขายให้กับคนที่ไม่รู้จักและไม่มีคนอื่นรู้ว่าเขาเป็นคนขาย มิฉะนั้นเขาก็จะถูกติฉินนินทาหาว่าเอาม้ามา “ย้อมแมว” ขาย ซึ่งจะทำให้เสียชื่อเสียงและในอนาคตจะไม่มีคนอยากคบค้าด้วย

ในชีวิตจริงนั้น คนส่วนใหญ่เมื่อเผชิญกับเรื่องอะไรก็แล้วแต่พวกเขาก็มักจะมองหาทางออกที่ “เขา” จะต้องทำเพื่อแก้ปัญหานั้น ยิ่งถ้าเขาสามารถทำได้เองเนื่องจากเขา “มีความรู้” หรือเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” แล้วละก็ เขาก็จะเข้าแก้ปัญหานั้นด้วยตัวเอง ยีนของมนุษย์นั้นออกแบบมาเพื่อให้เราเป็น “นักสู้” ที่จะเอาตัวรอดหรือเป็นผู้ชนะ การไม่สู้หรือ “หนี” นั้นจะเป็นเรื่องที่เสีย “ศักดิ์ศรี” และมักจะเกิดขึ้นต่อเมื่อเราคิดว่าอยู่ในอันตรายร้ายแรงและ “ไม่มีทางสู้ได้” เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น เราจึงเห็นว่าเมื่อมีสถานการณ์ของการ “ต่อสู้” ซึ่งในโลกสมัยใหม่นั้นส่วนมากก็คือการ “แข่งขัน” คนที่เข้า “ร่วมแข่งขัน” เช่น นักธุรกิจหรือผู้บริหารกิจการต่าง ๆ ก็จะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ชัยชนะ เขาต้องเรียนรู้กลยุทธ์ต่าง ๆ ทางธุรกิจเพื่อที่จะให้ได้เปรียบคู่แข่งอื่น อย่างไรก็ตาม น้อยคนจะประสบความสำเร็จสูงได้เนื่องจากผู้ชนะนั้นมีจำนวนน้อย ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะเป็น “ผู้แพ้” หรือไม่ก็ “ไม่ชนะ” ดังนั้น “ผลตอบแทน” ของคนส่วนใหญ่ที่จะได้รับก็จะต่ำหรือไม่สูงมากเทียบกับคนส่วนน้อยที่เป็น “ผู้ชนะ”

ประเด็นก็คือ บ่อยครั้งนั้น คนเข้าแข่งขันหรือต่อสู้ด้วยตัวเองเพราะคิดว่าตนเองมีความสามารถสูงกว่าคนอื่น นี่ก็อยู่ในยีนมนุษย์ที่มักจะ “Overconfident” หรือมีความมั่นใจในตนเองเกินไปทั้ง ๆ ที่เขาไม่ควรทำอย่างนั้น บ่อยครั้งเราควรจะ “ไม่สู้” หรือ “หนี” หรือ “หลีกเลี่ยง” ที่จะทำซึ่งอาจจะให้ผลลัพธ์หรือผลตอบแทนที่ดีกว่า

ผมเองนั้นในช่วงครึ่งชีวิตแรกคือตั้งแต่เกิดจนอายุประมาณ 40 ปี ก็ต้องบอกว่าตนเองนั้นน่าจะเป็น “นักสู้” คือเป็นคนที่พยายามศึกษา คิด และทำทุกอย่างด้วยความสามารถและศักยภาพของตนเองโดยไม่ได้มองคนอื่นมากนัก ส่วนใหญ่แล้วสิ่งที่ผมทำก็ต้องถือว่าประสบความสำเร็จ “ปานกลาง” ทั้ง ๆ ที่ผมคิดว่าผมฉลาดหรือทุ่มเทกว่า ผมเคยคิดว่านั่นอาจจะเป็นเพราะผมเสียเปรียบเนื่องจาก “ความลำเอียง” ของสังคมที่มักจะให้คุณค่าแก่รูปแบบมากกว่าเนื้อหา เช่น เพราะเราภาษาอังกฤษไม่ดีเราจึงถูก “มองข้าม” หรือเพราะเราไม่มี “นามสกุล” ที่บ่งบอกถึงฐานะที่สูงกว่า เราจึงไม่ได้รับการยอมรับเท่าคนบางคน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หลังจากผ่านชีวิตมานานและสถานการณ์บังคับให้เป็น “นักลงทุน” ในตลาดหลักทรัพย์ ความคิดของผมก็เปลี่ยนแปลงไป ผมเริ่มเห็นว่าการที่จะประสบความสำเร็จนั้นยังมีทางอื่นที่อาจจะดีกว่านั่นก็คือ แทนที่จะ “ต่อสู้” โดยเฉพาะกับคนที่เขาได้เปรียบเราไม่ว่าความได้เปรียบจะมาจากความสามารถหรือสถานะทางสังคมหรืออะไรก็แล้วแต่ เราก็ควรจะหนีหรือหลีกเลี่ยงหรือถ้าเป็นไปได้เราก็ควรจะ “ร่วมกับเขา” เสียเลยจะดีกว่า ด้วยกลยุทธ์แบบนี้ เราก็จะ “ไม่แพ้” และอาจจะกลายเป็น “ผู้ชนะ” โดยไม่ต้องเหนื่อย

ปรัชญาและความคิดของผมเริ่มค่อย ๆ เปลี่ยนไปจากการเป็น “นักสู้” กลายเป็น “นักเลือก” โดยที่หลักการสำคัญก็คือ เลือก “คน” หรือ “กิจการ” หรือ “แนวทางในการดำเนินการ” ที่ผมเห็นว่าจะเป็น “ผู้ชนะ” ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นตัวเรา ว่าที่จริงมีโอกาสน้อยที่จะเป็นเรา ความคิดเรื่องของ “ศักดิ์ศรี” และความ “อิจฉา” ในความสำเร็จของคนอื่นเริ่มจางลง ผมคิดว่าผมจะอิจฉาเขาทำไม ถ้าเขาเก่งเขาดีและถ้ามีโอกาสเราก็ขอร่วมไปกับเขาด้วย และนี่ไม่ใช่แค่ในเรื่องของการลงทุนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แต่ผมพบว่าในแทบทุกเรื่องของชีวิต สิ่งที่เราควรคิดก่อนที่จะทำก็คือ เราควร “เลือก” ก่อนว่าเราจะทำอย่างไรที่จะทำให้เราได้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด

ตัวอย่างเช่นในเรื่องของสุขภาพที่เป็นแหล่งสำคัญมากที่สุดของความสุขในชีวิตโดยเฉพาะในยามที่เราแก่ตัวลงนั้น เราจะเลือกทำอะไร? ผมคงไม่พูดอะไรมากในประเด็นนี้ แต่สิ่งที่ผมเคยกล่าวถึงบ่อย ๆ ก็คือ การออกกำลังพอสมควรอย่างสม่ำเสมอ การกินอาหารที่ดีและครบหมู่ การได้อากาศที่ดี และมีความเครียดน้อย เป็นต้น

ผมโชคดีที่ไม่ต้องตัดสินใจในเรื่องของที่อยู่อาศัยมาตลอด แต่สำหรับคนที่ต้องคิดถึงเรื่องนี้นั้น ผมคิดว่าเขาควรที่จะต้อง “เลือก” อย่างละเอียดถี่ถ้วนมากเนื่องจากบ้านเป็นทรัพย์สินที่มักจะมีขนาดใหญ่มากเทียบกับทรัพย์สินอื่น ๆ และถ้าคิดผิดแล้วก็มักจะส่งผลไปมากและยาวนาน ดังนั้น ก่อนที่จะหาที่อยู่อาศัยเราก็ควรที่จะเลือกแบบ “นักลงทุน” ที่จะต้องคำนึงถึงที่อยู่ที่จะได้ “ชัยชนะ” ซึ่งในความเห็นของผมนั้นไม่ใช่แค่ในด้านของเงินทองเพียงอย่างเดียวแต่อาจจะเป็นเรื่องของชีวิตด้านอื่น ๆ อีกมาก

ประเด็นที่ต้องพิจารณาในการเลือก “บ้าน” นั้น คนจำนวนมากมักคิดแต่เรื่องของราคาว่าตนจะซื้อได้ในระดับไหน แต่สำหรับผมแล้ว การเลือกบ้านนั้น ทำเลน่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะทำเลจะเป็นตัวที่กำหนดค่าใช้จ่ายที่จะตามมาตลอดช่วงที่เราอยู่เนื่องจากเรื่องของค่าใช้จ่ายในการเดินทางและต้นทุนในเรื่องของเวลาเดินทางที่มากมหาศาลแต่คิดเป็นเม็ดเงินไม่ได้ นอกจากนั้นก็ยังมีเรื่องของขนาดพื้นที่ที่เราต้องการใช้ที่อาจจะไม่จำเป็นต้องมากเท่ากับที่เราคิดถ้าเราสามารถไปใช้สาธารณูปโภคเช่นสวนที่อยู่ใกล้บ้านหรือคอนโดที่เราจะเลือกอยู่ และสุดท้ายที่เป็นเรื่องสำคัญแต่หลายคนอาจจะไม่ตระหนักก็คือ บางทีเราอาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องซื้อก็ได้ เพราะการเช่าอาจจะเป็นทางเลือกที่ถูกกว่า หลายคนอาจจะคิดว่าบ้านเป็นทรัพย์สินที่เป็นของเรา ยิ่งอยู่นาน วันหนึ่งเมื่อเราผ่อนหมด เราก็จะได้เป็นเจ้าของ ในขณะที่การเช่านั้นสุดท้ายเราก็ไม่เหลืออะไร แต่นี่อาจจะไม่จริง เช่น ถ้าเราเอาส่วนต่างระหว่างค่าผ่อนกับค่าเช่าไปลงทุนในกองทุนรวมหุ้น ถึงวันหนึ่งหุ้นก็อาจจะโตขึ้นจนเราสามารถเอาเงินนั้นมาซื้อบ้านที่ดีกว่าก็ได้

ยังมีเรื่องหรือประเด็นต่าง ๆ ในชีวิตเช่นการศึกษาของลูก ที่เราต้องตัดสินใจและมันจะส่งผลต่อเรามากน้อยแตกต่างกันออกไป การคิดแบบนักลงทุนนั่นก็คือคิดแบบ “นักเลือก” ซึ่งพยายามตัดประเด็นที่เป็นเรื่องของ “อารมณ์” ที่ติดอยู่ในยีนของมนุษย์ออกไปมากที่สุดนั้น จะทำให้เราได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ในช่วง “ครึ่งหลัง” ของชีวิตผมเองนั้น ผมคิดว่าผมทำกิจการอะไรต่าง ๆ น้อยลงมาก เหตุผลก็คือ ผมเน้นการ “เลือก” และผมมักจะ “ไม่เลือก” ถ้าผมคิดว่ามันไม่ได้ทำให้เราดีขึ้นไม่ว่าในเรื่องใด ดังนั้น ผมจึงไม่ใคร่จะเครียดและไม่ต้อง “ต่อสู้” กับอะไรมากมาย และนั่นทำให้ความทุกข์ต่าง ๆ น้อยลงมาก และนี่ก็อาจจะเป็นความสุขที่เราไม่รู้ตัว