“ให้”อย่างมีกลยุทธ์

“ให้”อย่างมีกลยุทธ์

สัปดาห์ที่ผ่านมามีงานสัมมนางานหนึ่งซึ่งแขกรับเชิญที่มาในงาน กลับไปด้วยความอิ่มเอม งานนั้นชื่อว่า

 “Thailand Strategic Giving : Changing Tomorrow through Philanthropy” หรือ “การให้อย่างมีกลยุทธในไทย : เปลี่ยนวันพรุ่งนี้ด้วยการกุศล” โดยมูลนิธิรอคกิเฟลเลอร์ เป็นผู้ให้การสนับสนุน

ในงานมีการนำเสนอปัญหาของสังคมไทยโดยเน้นที่ปัญหาทางการศึกษาโดยดร.เศรษฐพุฒิ สุทธวาทนฤพุฒิจากมูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา นำเสนอเรื่องโอกาสทางเศรษฐกิจของไทยที่สูญเสียไป เพราะการปฏิรูปการศึกษาที่ไม่สำเร็จ เด็กก่อนวัยเรียนทั่วประเทศมีพัฒนาการที่ต่ำกว่าวัยถึงหนึ่งในห้า มีเด็กที่อ่านจับใจความไม่ได้ถึง 32% ทั่วประเทศ แต่หากแยกดูเฉพาะชนบทจะพบว่ามีสัดส่วนเด็กอ่านจับใจความไม่ได้สูงถึง 47% หรือเกือบครึ่งหนึ่ง

โอกาสเข้ามหาวิทยาลัยของเด็กกรุงเทพมหานครมี 65% ในขณะที่เด็กภาคกลางมีโอกาสเพียง 26% ภาคเหนือ 25% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 23% และ ภาคใต้เพียง 16% โดยพบว่า 2 ใน 3 ของครัวเรือนไทย ไม่มีเงินออมพอที่จะส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัยเพราะค่าใช้จ่ายใน 4 ปี สูงถึง 530,000 บาท

เด็กเสียโอกาส ประเทศเสียอะไร?

ดร.เศรษฐพุฒิ ชี้ให้เห็นว่า หากปฏิรูปการศึกษาสำเร็จ รายได้ประชาชาติน่าจะเพิ่มเฉลี่ยต่อปี 0.11 ล้านล้านบาท สะสม 16 ปีที่เราพูดกันว่าจะปฏิรูปการศึกษาแต่ทำไม่สำเร็จ เท่ากับรายได้ประชาชาติสูญไปประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท และรายได้ครัวเรือนควรจะเพิ่มขึ้น 200 บาทต่อเดือน

ทางผู้จัดได้เชิญวิทยากรจากต่างประเทศมาแบ่งปันประสบการณ์ด้วย วิทยากรจาก AVPN ให้ข้อคิดว่าปัญหาเรื่องการศึกษาเป็นปัญหาใหญ่ ที่เราต่างคนต่างทำกันเองไม่ได้ ต้องร่วมกันทำ ร่วมกันแก้ไขโดยแต่ละกลุ่มก็เข้าไปช่วยในจุดที่เห็นว่ายังต้องปรับปรุง เพื่อให้ได้ผลโดยรวมที่มีพลัง เช่น Lien Foundation ของสิงคโปร์ เน้นในการช่วยเหลือการศึกษาสำหรับเด็กในวัยเยาว์ ในขณะที่หลายองค์กรในมาเลเซีย เลือกที่จะทำงานกับโรงเรียนโดยตรง

ดร. ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร จากทีดีอาร์ไอ ได้นำเสนอ กุญแจ 5 ดอกที่จะช่วยแก้ปัญหาการศึกษาของไทย ดังนี้

1. แก้ปัญหาการเข้าถึงและการออกกลางคันด้วย การออกแบบระบบการให้ทุนการศึกษาที่ไม่เพียงแต่ให้ทุน แต่มีการติดตามดูแลพัฒนาการของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง

2. ส่งเสริมพัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน เพราะมีผลตอบแทนมากที่สุด

3. ส่งเสริมความสามารถให้โรงเรียนและครู เพราะ ครูดี เท่ากับ เด็กดี

4. สร้างโรงเรียนนวัตกรรมการสอน หรือ โรงเรียนทางเลือก และอุดหนุนงบพัฒนาต่างๆให้โรงเรียนจ้างบุคลากรที่คิดนอกกรอบและทดลองนวัตกรรมการสอน

5. ส่งเสริมทักษะสมัยใหม่และแนะแนวอาชีพ

ในงานสัมมนา มีผู้แทนจากสามองค์กรไทย คือ มูลนิธิยุวพัฒน์ Teach for Thailand และ Learn Education ได้แบ่งปันประสบการจากงานที่องค์กรต่างๆเหล่านี้ดำเนินการ เพื่อเป็นตัวอย่างให้ผู้ร่วมสัมมนาเห็นถึง พลัง และผลที่เกิดขึ้นจากการ “ให้”อย่างมีกลยุทธ์

ปิดท้ายด้วยไฮไลท์ของงาน คือ ปาฐกถาของ คุณอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ให้ข้อสังเกตว่า คนไทยเป็นคนที่มีความโอบอ้อมอารี มีน้ำใจ เห็นคนอื่นมีทุกข์ อยากช่วยเหลือ แต่ทำอะไรไปมักจะอยากเห็นผลกับตนเอง เช่น ทำบุญเพราะอยากขึ้นสวรรค์ สร้างตึก สร้างห้องให้โรงพยาบาลเพราะอยากมีชื่อติดที่ตึก หรือที่ห้อง ฯลฯ

แต่วิธีการให้แบบการกุศล ยังไม่อยู่ในจิตสำนึกของคนไทย ใน 60 ปีที่ผ่านมา มีวิวัฒนาการทางความคิดมากขึ้น แต่ก็ยังไม่พอ เพราะการให้ของคนไทยจะกระจัดกระจาย ไม่มีเป้าหมาย ไม่มีการประเมิน (และต้องประเมินเรื่องประโยชน์ต่อสังคม ไม่ใช่ประโยชน์ต่อส่วนตัว)

ท่านกล่าวว่าสิ่งที่ทำมาแล้ว ก็ขอให้ทำต่อไป แต่ที่อยากเห็นคือการปฏิวัติวิธีนึกคิดในจิตสำนึกโดยสิ่งที่ต้องทำคือ ถามตัวเองว่าสังคมมีปัญหาอะไร หากมองไปลึกๆแล้วจะพบว่าปัญหาที่แท้จริงคือ ความยากจนยังมีอยู่มากมีความเหลื่อมล้ำทวีคูณอยู่เรื่อยๆ ตั้งแต่เกิดจนโต (ไม่นับความเหลื่อมล้ำทางธรรมชาติ เช่น ความพิการ สุขภาพไม่แข็งแรง ฯลฯที่เราแก้ไขไม่ได้ แต่เป็นหน้าที่หลักของสังคมที่จะดูแลว่าไม่มีความเสียปรียบเพิ่มมากขึ้นอีก)

คำตอบคือ ต้องลงทุนเรื่องการศึกษา ใช้การศึกษาเป็นตัวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เป็นตัวเร่ง ท่านมองว่า การปฏิรูปการศึกษานั้นควรจะยุบกระทรวงศึกษาธิการ บอกครูให้สอนน้อยลง ตั้งปัญหากับนักเรียนมากขึ้น เวลาถาม ครูไม่ควรจะมองหาคำตอบที่ถูกต้อง แต่ถามเพื่อให้มีการสนทนา เพื่อให้เด็กได้คิด อย่าตัดสินเรื่องผิด/ถูกตั้งแต่ต้น เพราะจะทำให้เด็กใจฝ่อ

ทักษะสำคัญสำหรับคนในศตวรรษใหม่คือ ความสามารถในการเรียนรู้(Ability to Learn) เลิกในสิ่งที่เรียนรู้มา(Unlearn) และเรียนรู้ใหม่ (Relearn)

ท้ายที่สุดท่านกล่าวว่า ท่านอาจจะผิดหวัง (กับการปฏิรูปการศึกษาไทย) แต่ท่านไม่ท้อแท้ เพราะเราเป็นประเทศที่มีอนาคต ที่สำคัญที่สุดคือต้องกระตุ้นให้คนไทยเปลี่ยนแนวคิด ต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อย่าคิดว่าคำตอบเดียวจะเหมาะสมกับทุกอย่าง เพราะความหลากหลายคือจุดแข็งของเรา ดังนั้น เราต้องรวมพลังกันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม

ถ้ามีโอกาส ดิฉันจะหาตัวอย่างการ “ให้” อย่างมีกลยุทธ์มาเขียนค่ะ