ปัญหาเศรษฐกิจดิจิทัล ปัญหาความเข้าใจประชาชน

ปัญหาเศรษฐกิจดิจิทัล ปัญหาความเข้าใจประชาชน

รัฐบาลประกาศนโยบายผลักดันให้เศรษฐกิจ

ก้าวสู่ความทันสมัย เพื่อผลักดันให้ประเทศก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งนอกจากนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมสมัยใหม่แล้ว สิ่งที่มาพร้อมกับความทันสมัย คือ นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งถือว่าเป็นทิศทางของโลกสมัยใหม่ ที่ตามมาด้วยการปฏิวัติเทคโนโลยีสื่อสาร ผ่านระบบเครือข่ายสื่อสารสมัยใหม่ โดยการสื่อสารในชีวิตประจำวัน และการทำธุรกิจกรรมของประชาชนอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้น

รัฐบาลได้ผลักดันการทำธุรกิจกรรมของหน่วยงานรัฐด้วยระบบดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในงานส่วนราชการและการบริหารประชาชน ซึ่งอีกไม่นานนับจากนี้ไป ระบบที่เรียกว่าอี-เพย์เมนท์ ที่นำมาใช้จะรวมถึงการให้บริการประชาชน ในเรื่องของสวัสดิการและความช่วยเหลือตามนโยบายรัฐบาลจะเริ่มใช้กันอย่างจริงจัง ในขณะที่ภาคธุรกิจก็จะเริ่มใช้ในระบบการเงินหรือ“พร้อมเพย์” โดยหวังว่าจะทำให้ต้นทุนการเงินและภาคธุรกิจลดลง พร้อมๆกับเอื้อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น

การนำระบบใหม่มาใช้สร้างความกังวลให้กับประชาชนไม่น้อย โดยเฉพาะการโจรกรรมทางข้อมูลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์โดยมิชอบ คนจำนวนมากลังเลในการใช้ระบบใหม่ และในขณะเดียวกันก็เกิดการโจรกรรมเงินจากตู้เอทีเอ็มของธนาคารออมสิน ซึ่งทำให้เกิดความวิตกกังวลไม่ได้ว่าระบบใหม่ที่จะนำมาใช้ไม่มีความปลอดภัยมากพอ จนทำให้ไม่ไว้วางใจต่อการใช้ระบบการเงินใหม่ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ยิ่งมีมากขึ้น และอาจทำให้เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการระบบนี้มาใช้ในระยะต่อไป

ปัญหาการหลอกลวงหรือโจรกรรมที่มาพร้อมเทคโนโลยีใหม่ หรือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ๆมักเกิดขึ้นเสมอ และเป็นปัญหาเหมือนกันแทบทุกประเทศ หากย้อนกลับไปดูคดีที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาและสร้างความเสียหายจำนวนมากล้วนแต่มาจากธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเงิน อย่างกรณีของแชร์ลูกโซ่ที่ยังปรากฏอยู่เป็นระยะ การฉ้อโกงหรือหลอกลวงโดยผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต การหลอกลวงจำหน่ายสินค้าออนไลน์ รวมถึงการจำหน่ายสินค้าหรือธุรกรรมอื่นๆผ่านช่องทางทีวีดาวเทียมที่มีอยู่จำนวนมาก

ประเด็นที่ต้องตั้งคำถามคือทำไมจึงเกิดปัญหาและพฤติกรรมคล้ายๆเดิม ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความไม่รู้หรือความเข้าใจของประชาชนเพียงพอถึงธุรกรรมการเงินใหม่ๆที่เกิดขึ้น และยิ่งในยุคที่ข้อมูลข่าวสารมาแทบทุกด้านรอบตัว ก็ยิ่งเป็นเรื่องยากมากในการกลั่นกรองข้อมูลเหล่านี้ เพื่อตัดสินใจ โดยกลุ่มคนที่น่าห่วงคือผู้ที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน จากยุคเดิมเข้าสู่ยุคใหม่ที่ไม่คุ้นเคยกับการเสพข้อมูลข่าวสารก็ยิ่งตกเป็นเหยื่อได้ง่ายเท่านั้น ดังนั้นความพยายามหาทางป้องกัน และแก้ปัญหาจึงเป็นเรื่องใหญ่สำหรับหน่วยงานรัฐบาล

ดังนั้นในเมื่อรัฐบาลยังคงเดินหน้านโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการทำความเข้าใจ ประเด็นผลกระทบที่เกิดจากการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากระบบใหม่ และหามาตรการป้องกันที่ดีพอ โดยเฉพาะการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในวงกว้างให้มากที่สุด เพื่อให้คนมีความรู้ที่มากพอในการพิจารณาถึงเล่ห์กลต่างๆของธุรกรรมสมัยใหม่ เพราะหากประชาชนไม่มีความเข้าใจที่เพียงพอ แทนที่ระบบใหม่จะช่วยเื้อประโยชน์ให้กับการดำเนินชีวิตประจำวัน แต่กลับมาสร้างปัญหาให้มากขึ้น

ที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐก็พยายามรณรงค์ หรือตรวจสอบธุรกรรมต่างๆ ที่เข้าข่ายหลอกลวง แต่ลักษณะของหน่วยงานรัฐคือควบคุมดูแลและดำเนินคดีกับสิ่งที่เกิดขึ้น กล่าวคือ มักจะรู้ปัญหาก็ต่อเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งเป็นการทำงานตามบทบาทในการรักษากฏระเบียบและกฎหมายเป็นหลัก ในขณะที่บทบาทในการสร้างความเข้าใจต่อประชาชนมีค่อนข้างน้อย หรือ ทำเพียงแต่ขอให้มีเท่านั้น ซึ่งเราเห็นว่างานสร้างความเข้าใจอาจเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดในการป้องกันปัญหา หากไม่ทำอย่างอย่างจริงจัง ก็จะเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประเทศเข้าสู่ยุคใหม่