เรียกค่าเสียหายข้าว หรือจะเป็น“มวยล้ม”...?

เรียกค่าเสียหายข้าว หรือจะเป็น“มวยล้ม”...?

ไม่เป็นที่น่าแปลกใจเท่าใดนัก

 เมื่อนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาพูดถึงการเรียกค่าเสียหาย 20,000 ล้านบาทในคดีการระบายข้าวแบบจีทูจี จำนวน 4 สัญญา ปริมาณ 6.2 ล้านตัน จากนักการเมืองและข้าราชการ 6 ราย ตามหนังสือบังคับทางปกครอง ซึ่งประชาชนเข้าใจว่ามีการลงนามตามขั้นตอนแล้ว แต่ไม่คืบหน้า

หมอวรงค์บอกว่า"ข้อมูลล่าสุดที่เพิ่งได้รับทราบมานั้น กลับกลายเป็นว่าจนถึงขณะนี้ เรื่องนี้ยังคาราคาซังอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์ โดยอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ ไม่ได้ลงนามหนังสือบังคับทางปกครอง สร้างความเข้าใจผิดต่อประชาชนมาตลอดว่า ทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ขอเรียกร้องถึงพล.อ.ประยุทธ์ว่า ในเมื่อรัฐบาลนี้มีเจตนาที่ชัดเจนในการจัดการปัญหาการทุจริต และปัญหาเรื่องการระบายข้าวแบบจีทูจี ก็อยู่ในความคาดหวังของประชาชน ดังนั้นการที่ท่านได้มอบหมายให้รมว.พาณิชย์ดำเนินการ แต่ถ้ารมว.ไม่กล้า จะด้วยเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ท่านนายกฯ ก็น่าที่จะเปลี่ยนเอาคนที่มีความกล้าอย่างท่านมาทำงานแทน”

หมอวรงค์ในฐานะที่เกาะติดเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น ได้ลุกขึ้นทวงถาม เพราะเรื่องอยู่ในความสนใจของประชาชนจะเดินหน้ากันอย่างไร

มาจนถึงวันนี้ตั้งแต่ 14 ก.ค.59 ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เซ็นหนังสือถึงรมว.พาณิชย์ ที่เสนอขึ้นมาเพื่อขอแนวทางดำเนินการ

นายกฯมีข้อสั่งการมอบหมายให้รมว.พาณิชย์ ลงนามในคำสั่งบังคับทางปกครอง (ด่วน) พ่วงท้ายมาด้วย มาจนถึงบัดนี้เป็นเวลา 45 วันแล้ว แต่รัฐมนตรีพาณิชย์ยังไม่ลงนาม ถ้านับรวมเวลาในกระบวนการคำนวนความเสียหาย เพื่อเรียกชดใช้ทางละเมิดไปไกลถึง 1 ปี 5 เดือน 

ไม่ได้หมายความว่าใช้เวลามากแล้ว จะให้ความเป็นธรรมหรือให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ที่ต้องเรียกชดใช้ ไม่ใช่ความเป็นธรรมเกิดจากตัวนายกฯ หรือรมว.พาณิชย์ทอดเวลา แต่เป็นหน้าที่ของนายกฯ และรมว.พาณิชย์ต้องเดินตามกฎหมาย ส่วนการให้ความเป็นธรรมเป็นกระบวนการทางศาล 

เพราะข้อกฎหมายเขียนไว้ชัดเจน หากผู้ถูกเรียกค่าสินไหมเห็นว่าไม่เป็นธรรม สามารถยื่นขอเพิกถอนคำสั่งต่อศาลปกครองได้ ตรงนั้นต่างหากที่เข้าสู่กระบวนการที่ยุติและเป็นธรรมที่ทุกฝ่ายต้องเคารพ 

การเรียกค่าเสียหายจีทูจี เหมือนกับกระบวนการเรียกค่าเสียหายโครงการจำนำนำข้าวจาก อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งถึงขณะนี้กระทรวงการคลังยังไม่สรุป ทั้งที่คณะกรรมการที่นายกฯตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบความเสียหายใช้เวลากว่าปีคิดคำนวนแล้ว แต่กรมบัญชีกลางยังใช้เวลาทอดยาวในการคำนวนและเรียกผู้เกี่ยวข้องเดิมๆไปสอบถามซ้ำ ประหนึ่งว่าให้เวลาเดินทอดยาวไปเรื่อยๆ

แน่นอนหากสรุปได้ คงต้องมานั่งถกเถียงเกี่ยงงอนกันอีกว่าใครจะเป็นผู้ลงนามในคำสั่งทางละเมิด ระหว่างรมว.คลังกับนายกฯ

คงต้องให้ที่ปรึกษามาดูแล้วดูอีก หรืออาจยื่นกฤษฎีกา ยื่นอัยการ ยื่น กพร.เพื่อขอคำปรึกษาอีก ว่าใครจะเป็นผู้ลงนาม   

แต่ทั้งหมด ต้องไม่ปล่อยให้หมดอายุความ 

ไม่ให้มีข้อครหาเป็นมวยล้มต้มคนดู ...?