การรับผิดในยุคดิจิทัล

การรับผิดในยุคดิจิทัล

ในสังคมไทย มักจะมีการเรียกร้องให้ธุรกิจดิจิทัล ต้องมามีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อการกระทำผิดโดยผู้บริโภค

ซึ่งเป็นเรื่องแปลก เพราะในต่างประเทศ มีการกำหนดขอบเขตการรับผิดของธุรกิจอย่างชัดเจน ต่อการกระทำที่เกิดขึ้นโดยผู้บริโภคของธุรกิจ            

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2550 มาตรา 15 ได้กำหนดให้ธุรกิจดิจิทัล เช่น เฟซบุ๊คและยูทูบ ต้องถูกระวางโทษเช่นเดียวกับผู้บริโภคที่กระทำความผิดผ่านบริการของตน เช่นว่า เมื่อผู้ใช้งาน ได้นำเสนอวีดิโอที่ผิดกฎหมาย ผ่านระบบของยูทูบ บริษัทก็ต้องถูกดำเนินคดีเช่นเดียวกับผู้ใช้งานที่กระทำผิด

            อย่างไรก็ดี ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ ฉบับใหม่ ที่กำลังอยู่ในการพิจารณาของ สนช. ได้ปรับปรุงแก้ไข มาตรา 15 ฯลฯ ให้เป็นที่สอดคล้องกับรูปแบบของสากลยิ่งขึ้น โดยใช้หลักที่ว่า ธุรกิจดิจิทัลจะมีความผิดก็ต่อเมื่อให้ความร่วมมือ ยินยอม และรู้เห็นเป็นใจ กับผู้บริโภคที่กระทำความผิดเท่านั้น

          แต่ในวันนี้ สังคมไทยได้มีข้อถกเถียงกันในประเด็นใหม่ นั่นก็คือ ขอบเขตการรับผิดของผู้ให้บริการ โปเกม่อน โก ต่อสิ่งที่ถูกกระทำขึ้นโดยผู้เล่นของเกม             เรื่องนี้ นับว่าละเอียดอ่อนและเข้าใจได้ยากยิ่งกว่า กรณีของ เฟซบุ๊ค และ ยูทูบ vs. พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ฯ 2550 เพราะมีความเชื่อมโยง ระหว่างการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในโลกคอมพิวเตอร์โดยผู้ให้บริการ กับการประพฤติและปฏิบัติในโลกจริงโดยผู้เล่นเกม

            ที่สำคัญ โปเกม่อน โก ไม่ได้ปล่อย โปเกม่อน เข้ามาในสถานที่จริงแต่อย่างใด เพียงแต่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในโลกคอมพิวเตอร์ โดยระบุตำแหน่งโปเกม่อน ลงบนแผนที่ในโลกจำลองเท่านั้น

            ในอีกกรณีหนึ่ง ที่กำลังเป็นประเด็นถกเถียงอีกเช่นกัน นั่นคือ การรับผิดของธุรกิจต่อสิ่งที่ถูกกระทำขึ้นโดยระบบสมองกลที่ถูกคิดค้นโดยธุรกิจ แต่คราวนี้กำลังเป็นประเด็นถกเถียงในระดับโลก

            ไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ ได้เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ในสหรัฐ โดยหลายฝ่ายได้มุ่งประเด็นไปที่ระบบสมองกลของรถยนต์เทสล่า ที่ควบคุมรถยนต์ผิดพลาดจนกระทั่งมีผู้เสียชีวิต ในเดือนนี้ ได้เกิดอุบัติเหตุอีกครั้ง กับรถยนต์เทสล่า ในประเทศจีน แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต และครั้งนี้อีกเช่นกัน หลายฝ่ายได้มุ่งประเด็นสู่ความผิดพลาดของระบบสมองกล จนกระทั่งบริษัทเทสล่า ต้องหยุดประชาสัมพันธ์ระบบสมองกลบนเว็บไซต์ของบริษัท             เดือนนี้อีกเช่นกัน ได้เกิดอุบัติเหตุจากความผิดพลาดของระบบสมองกลของรถเทสล่าในสหรัฐ กรณีนี้ แม้ผู้โดยสารจะไม่เสียชีวิต และไม่ติดใจที่จะเอาความกับบริษัทเทสล่า แต่กำลังเป็นที่จับตาว่าบริษัทประกันภัยจะฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทเทสล่า

            เมื่อคดีความเข้าสู่ระบบศาล จะเป็นครั้งแรกในสหรัฐ ที่จะมีการติดสินว่า ธุรกิจรถยนต์ จะต้องมีความรับผิดชอบมากน้อยเพียงใดต่อการกระทำของระบบสมองกลที่ถูกคิดค้นโดยธุรกิจ และจะเป็นบรรทัดฐานที่จะถูกใช้ต่อไป

            หากบริษัทเทสล่า ถูกตัดสินให้รับผิด ต่อไปทุกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุจากความผิดพลาดของระบบสมองกล ผู้ผลิตรถยนต์เช่นเทสล่า จะต้องรับผิดด้วยทุกครั้ง และน่าจะเป็นภาระของความรับผิดชอบทางกฎหมาย ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเทคโนโลยีสมองกลต่อไป ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย

            ถือเป็นกรณีที่สมควรติดตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย ขณะที่หลายฝ่ายกำลังสนับสนุนนโยบายรถใช้พลังงานไฟฟ้า แต่เทคโนโลยีที่หลายครั้งมักจะมาควบคู่กัน คือระบบสมองกล เช่นในตัวอย่างของเทสล่า ซึ่งประเทศไทย อาจต้องพัฒนากฎระเบียบทางด้านสมองกล ในธุรกิจรถยนต์ ที่มีโอกาสผิดพลาดจนกระทั่งมีผู้เสียชีวิต เพราะประเทศไทย มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่สูง

            การรับผิดในยุคดิจิทัล เป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน และมีหลายประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงในสังคมไทย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ เทคโนโลยีพัฒนาอย่างรวดเร็วกว่าบริบทของกฎหมาย แต่บางกรณี ก็เป็นข้อถกเถียงในระดับโลก ที่สมควรติดตาม