แผนกลยุทธ์ดี มีชัยไปกว่าครึ่ง

แผนกลยุทธ์ดี มีชัยไปกว่าครึ่ง

การจัดทำแผนกลยุทธ์ที่ดี ต้องมีการพิจารณาอย่างครบถ้วนรอบด้าน ที่สำคัญต้องรักษาสมดุล ไม่เอนเอียงหรือให้ความสำคัญไปในด้านใดด้านหนึ่ง

เป็นปกติของทุกปีที่องค์กรทั่วไป โดยเฉพาะองค์กรภาคธุรกิจ เมื่อดำเนินการมาถึงเดือนกันยายน เข้าใกล้ไตรมาสสุดท้ายของปี (ช่วงระหว่างเดือนตุลาคมถึงธันวาคม) นอกจากจะต้องมีประชุมทบทวนผลการดำเนินการตลอด 3 ไตรมาส (9 เดือน) ที่ผ่านมา เพื่อปรับปรุงแผนงานและการดำเนินการในส่วนงานต่างๆ ให้สอดรับกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการแข่งขันทางธุรกิจ โดยถ้ายังคงเป้าหมายปลายปีไว้ที่เดิม แต่ผลประกอบการที่ผ่านมาพลาดไปจากตัวเลขที่กำหนด ก็ต้องเร่งเครื่อง เสริมมาตรการ และระดมกำลังทำงานกันให้หนักขึ้น แต่ถ้าประเมินแล้วเป็นไปได้ยาก หรือไม่อาจต้านทางภาพรวมของเศรษฐกิจที่ถดถอยได้ ก็อาจจำเป็นต้องลดเป้าหมายทั้งปีลงบ้าง แล้วหันมาช่วยกันลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง เพื่อคงรักษาระดับความสามารถการแข่งขันไว้

 

การจัดทำแผนงานใหม่สำหรับปีหน้า แม้ว่าจะดูเหมือนกลายเป็นกระบวนการปกติทั่วไปที่ทำกันทุกปี แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่ในระดับประเทศ อย่างการมีนโยบาย Thailand4.0 ก็ทำให้ภาครัฐหลายกระทรวงเริ่มขยับปรับตัวรับลูกกันตามลำดับ ไม่เพียงแต่กระทรวงวิทย์ ที่เป็นต้นทางของงานวิจัยและพัฒนา ตลอดจนเทคโนโลยีใหม่ๆที่ไม่ต้องพึ่งพาต่างชาติ กระทรวงอื่นๆก็ขยับปรับตัวเช่นกัน

เราจึงได้ยินคำว่า Industry 4.0(ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม ตามยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย) เกษตรสมัยใหม่ที่ทั้งปลอดสารเคมี มีสายพันธุ์ที่ดี และยังใช้พื้นที่น้อยแต่ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพแบบที่เรียกว่า Smart farm การบริการทางการเงินแบบ Finance 4.0 (ที่นำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มาใช้ในการทำธุรกรรมผ่านอุปกรณ์พกพา โดยไม่ต้องเดินทางหรือมาทำธุรกรรมที่สาขาธนาคาร) Health 4.0 (การส่งเสริมสุขภาพและการรักษาพยาบาล ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย) Workforce 4.0 (การพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะความสามารถใหม่ ให้สามารถใช้งานและควบคุมระบบอัตโนมัติได้) หรือแม้แต่การเตรียมคนรุ่นใหม่ผ่านระบบการศึกษาที่เรียกว่า STEM ซึ่งถือว่าเป็น Education 4.0 ที่ส่งต่อไปยังระดับอุดมศึกษาที่มุ่งเน้นการวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ University 4.0 การถ่ายทอดนโยบายใหญ่ไปสู่นโยบายรายภาคเช่นนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาให้สอดรับไปในแนวทางเดียวกัน (Alignment)

 

จะเห็นว่าในแต่ละด้านถ้าภาครัฐแสดงบทบาทนำ แล้วเชิญชวนผู้ที่เกี่ยวข้องในภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคสังคมที่มีองค์กรสาธารณะต่างๆ มาช่วยกันร่วมร่างแผนปฏิบัติการ ตามนโยบาย ทิศทาง และเป้าหมายใหญ่ในระดับประเทศ การขยายการมีส่วนร่วมดังกล่าวจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า คุณค่าร่วม (Shared values) ซึ่งจะทำให้โครงการ มาตรการ หรือกิจกรรมใดๆที่จะเกิดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป จะมีการเสริมแรงและมีประสิทธิผลมากขึ้น

 

สำหรับภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ (Large Scale Enterprises – LSEs) บรรษัทข้ามชาติ (Multi-National Corporations – MNCs) วิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (Small and Medium Enterprises – SMEs) ธุรกิจขนาดจิ๋วหรือในครัวเรือน (Micro Enterprises) ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจใหม่ไฮเทคอย่าง Tech Startups หรือกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ก็ตาม จำเป็นต้องดำเนินการอย่างมีแผน ไม่ใช่ปล่อยให้ดำเนินการไปวันๆ หรือดำเนินการแบบไม่รู้สถานะของตัวเอง

การจัดทำแผนกลยุทธ์ที่ดี ต้องมีการพิจารณาอย่างครบถ้วนรอบด้าน ที่สำคัญต้องรักษาสมดุล ไม่เอนเอียงหรือให้ความสำคัญไปในด้านใดด้านหนึ่งจนละทิ้งอีกด้าน เพราะในความเป็นจริงแล้วทุกอย่างมีความเชื่อมโยงถึงกันทั้งสิ้น ข้อพิจารณาในการจัดทำแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจ ควรคำนึงถึงประเด็นเหล่านี้

 

-       Inside and Outside สร้างสมดุลระหว่างภายใน และภายนอก นั่นคือไม่ใช่ใส่ใจเฉพาะความเป็นไปภายในกิจการตัวเอง หรือมุ่งแต่มองความต้องการภายนอกเท่านั้น หากแต่แผนต้องเกื้อหนุนให้เกิดการขยับปรับตัวภายใน ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับการเปลี่ยนแปลงภายนอก ในจังหวะที่สอดรับกัน ภายในควรจะเร็วกว่าเล็กน้อย หรืออย่างน้อยก็ให้ทันกัน แต่ไม่ควรช้าจนตามไม่ทัน

-       Short term and Long term แผนกลยุทธ์ 5 ปี เป็นสิ่งที่ควรมี เพื่อให้เห็นเป้าหมายระยะไกลข้างหน้า แต่ก็ควรจัดทำแผนประจำปี ที่มีทั้งแผนงานประจำ (เพื่อคงรักษาสถานภาพและความสามารถเดิมไว้) และแผนพัฒนา (สร้างสิ่งใหม่ ที่ช่วยสร้างศักยภาพและความสามารถการแข่งขันให้เหนือผู้อื่น)

-       Finance and non-Finance ไม่ใช่กำหนดตัววัดผลความสำเร็จทางธุรกิจ หรือผลประกอบการในด้านการเงินเพียงอย่างเดียว แม้ว่าการมีกำไรทุกปี มีเงินทุนสะสมมาก ก็ไม่อาจเป็นสิ่งยืนยันได้ว่าจะยั่งยืน ถ้าตัววัดผลด้านอื่นไม่ได้รับการดูแล อาทิ ตัวชี้วัดด้านลูกค้า (ความพึงพอใจของลูกค้า) ตัวชี้วัดด้านกระบวนการ (ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการดำเนินงาน) ตัวชี้วัดด้านบุคลากร (ความอยู่ดีมีสุขของพนักงาน และการพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถมากขึ้น) ตัวชี้วัดด้านโครงสร้างพื้นฐาน (การพัฒนาทางเทคโนโลยี) ตัวชี้วัดด้านเครือข่าย (การสร้างสัมพันธ์กับพันธมิตรทางธุรกิจ และผู้รับจ้างช่วง) และตัววัดด้านชุมชนและสังคม (สิ่งแวดล้อม)

-       Transactions and Relations ไม่ใช่เพียงธุรกรรม สัญญา หรือการซื้อขายในแต่ละครั้งเท่านั้น แม้ว่าการปิดการขายแต่ละครั้ง จะนำมาซึ่งรายได้ในทันที แต่นั่นไม่อาจจะการันตีได้ว่าลูกค้าจะอยู่กับเราตลอดไป นอกจากเงื่อนไขและข้อเสนอที่ดีแล้ว ความรับผิดชอบและการดูแลอย่างใกล้ชิด จะช่วยเสริมความสัมพันธ์ทีดีจนเป็นความผูกพันในที่สุด

 

ผู้บริหารและผู้ประกอบการ จึงต้องช่วยกันจัดทำแผนที่มองออกไปรอบด้าน ไม่ติดยึดกับวิธีการทำแผนแบบเก่าๆเดิมๆ เพราะโลกเปลี่ยนไป การทำธุรกิจให้เสร็จ สำเร็จ และยั่งยืน จึงมีความซับซ้อนและยากมากขึ้น ไม่อาจอาศัยความได้เปรียบในปัจจัยหนีงปัจจัยใดมาใช้ได้โดยลำพังอีกต่อไป