ปัญหายุโรปยังไม่จบ...หลบเข้าหุ้นญี่ปุ่น

ปัญหายุโรปยังไม่จบ...หลบเข้าหุ้นญี่ปุ่น

ปัญหายุโรปยังไม่จบ...หลบเข้าหุ้นญี่ปุ่น

ตลาดหุ้นทั่วโลกช่วงนี้ดูเหมือนจะคลายความกังวลของ Brexit ไปได้ เพราะทางธนาคารกลางแห่งประเทศอังกฤษได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดดอกเบี้ยลง โดยปรับลงจาก 0.50% เหลือ 0.25% ซึ่งเป็นการปรับลดครั้งแรกในรอบ 7 ปี และทำ QE เพิ่ม โดยขยายวงเงิน QE อีก 6 หมื่นล้านปอนด์ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 6 เดือน รวมกับของเดิม 3.75 แสนล้านปอนด์ ที่หยุดทำไปตั้งแต่ปี 2012 รวมเป็นวงเงิน 4.35 แสนล้านปอนด์ ทั้งนี้คาดว่าอังกฤษจะเริ่มยื่นมาตรา 50 เพื่อขอออกจากสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการภายในเดือน เม.ย. 2017 ทำให้นักลงทุนคลายความกังวลตลาดหุ้นทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชียก็ปรับตัวขึ้น

แต่ความเสี่ยงในระยะสั้นที่ต้องจับตามองที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ ยังคงอยู่ที่ประเทศสมาชิกในกลุ่มยูโร ได้แก่

1) การจัดตั้งรัฐบาลในสเปนที่ล่าช้า เนื่องจากคะแนนความนิยมของพรรคเล็กที่เพิ่มขึ้นทำให้การจัดตั้งรัฐบาลผสมล้มเหลวและประเทศอยู่ในภาวะสุญญากาศทางการเมืองมาเป็นเวลากว่า 6 เดือน

2) การลงประชามติของอิตาลีในเดือน ต.ค. ซึ่งหากประชามติไม่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน อิตาลีอาจต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ภายในปีนี้ และอาจนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีนโยบายต่อต้านสหภาพยุโรป นอกจากนี้ ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลอิตาลีกับสหภาพยุโรป อาจทำให้การแก้ไขปัญหาในภาคธนาคารล่าช้าซึ่ง อาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในอนาคตเพิ่มขึ้น

การจัดพอร์ตการลงทุนในช่วงนี้ จึงอยากจะแนะนำให้นักลงทุนเน้นการลงทุนในประเทศฝั่งเอเชียเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ ประเทศญี่ปุ่น ที่กำลังจะเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกต่อจากประเทศบราซิลในปี 2020 ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องมีการลงทุนสาธารณูปโภคและก่อสร้างสนามกีฬาเพิ่มขึ้น และล่าสุดรัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้อนุมัติงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม (Supplementary Budget) จำนวน 28.1 ล้านล้านเยน โดยส่วนหนึ่งจะเป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและส่งเสริมการลงทุน รวมถึงก่อนหน้านี้ทางรัฐบาลก็ได้ประกาศการเลื่อนการขึ้น TAX จาก 8% เป็น 10% ออกไปอีกราว 2 ปีครึ่งจากเดือน เม.ย.2017 เป็นเดือน ต.ค. 2019 ก็เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยคาดว่า GDP ประเทศญี่ปุ่นปีนี้น่าจะขยายตัวได้ 1.0% และ 1.3% ในปี 2017

มาดูฝั่งของธนาคากลางญี่ปุ่น ที่การประชุมครั้งล่าสุดยังคงอัตราการเข้าซื้อสินทรัพย์ที่ 80 ล้านล้านเยนต่อปี และมีมติให้เพิ่มอัตราการเข้าซื้อ ETF จากเดิม 3.3 ล้านล้านเยนต่อปีเป็น 6 ล้านล้านเยนต่อปี ส่วนมาตรการลดอัตราดอกเบี้ยของเงินกันสำรองเพิ่ม(Interest on Excess Reserve: IOER) ยังคงอยู่ที่ -0.10% แต่ก็นักวิเคราะห์ก็คาดว่าจะปรับลดเพิ่มเป็น -0.20% ในการประชุมรอบวันที่ 20 - 21 ก.ย.นี้ ซึ่งก็จะเป็นการกระตุ้นให้ค่าเงินเยนที่แข็งค่ากลับมาอ่อนค่าลง และเป็นผลดีกับบริษัทญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศที่จะส่งผลกำไรกลับประเทศได้มูลค่าสูงขึ้น นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ก็ยังคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (FED) จะเกิดขึ้นในช่วงสิ้นปีที่จะทำให้ค่าเงินดอลล่าร์ที่อ่อนค่าจาก FED ชะลอขึ้นดอกเบี้ย กลับมาแข็งค่ามากขึ้นก็จะเป็นปัจจัยบวกช่วยให้ค่าเงินเยนมีแนวโน้มอ่อนค่าลง

จากความเสี่ยงที่อาจจะเพิ่มมากขึ้นในตลาดหุ้นยุโรป การหันมาดูตลาดหุ้นเอเชียอย่างประเทศญี่ปุ่นก็อาจจะเป็นจังหวะที่ดีที่น่าเข้าลงทุนได้ เพราะเมื่อดูที่ดัชนี NIKKEI225 ที่ปรับตัวลดลงตั้งแต่ต้นปีเกือบ 13% และมีค่า Forward P/E ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 16.2 เท่า (-0.2 Standard Deviation) ทำให้เปิด Upside เพิ่มขึ้นและได้การกระจายความเสี่ยงออกจากฝั่งยุโรปออกมาด้วย

หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ [email protected] ครับ