จับสัญญาณเฟดที่แจ็คสันโฮล

จับสัญญาณเฟดที่แจ็คสันโฮล

ผลเซอร์เวย์ของซิตี้กรุ๊ปในกลุ่มบุคคล

ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน ในตลาดหุ้นวอลล์สตรีท 350 ความคิดเห็นในจำนวนนี้ 85% เชื่อว่ากลุ่มแนวคิดสายพิราบในธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่นำโดยนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด อาจจะส่งสัญญาณให้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจาก 0.5% อย่างน้อยก็ 1 ครั้งในปี 2016 นี้ หลังจากที่ประธานสาขาของเฟดหลายคน ออกมาให้สัมภาษณ์สนับสนุนแนวทาง การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในช่วงสัปดาห์ก่อน ซึ่งหลายคนแนะให้จับตาคำแถลงในการประชุมใหญ่ประจำปีนี้ที่มีขึ้นที่แจ็คสันโฮล รัฐไวโอมิง ช่วงวันศุกร์และเสาร์นี้ คาดประธานเฟดจะส่งสัญญาณพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ในเดือนกันยายนนี้ โดยที่นางเยลเลนจะขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ “เครื่องมือด้านนโยบายการเงินของเฟด (The Federal Reserve’s Monetary Policy Toolkit)” ช่วง 10 โมงเช้าตามเวลาในสหรัฐ ซึ่งจะเป็นการส่งสัญญาณของเฟดที่มีความชัดเจนมากขึ้น

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์กันว่า ประธานเฟดอาจส่งสัญญาณ เรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย พร้อมกับแสดงมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ โดยเฉพาะตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.ค.นั้น ปรับตัวสูงขึ้น 255,000 ตำแหน่ง และเพิ่มขึ้น 292,000 ตำแหน่งในเดือนมิ.ย. หากตัวเลขจ้างงานเดือนส.ค.ออกมาแข็งแกร่งโดยกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขในวันที่ 2 ก.ย.นี้ ทำให้นักวิเคราะห์และนักลงทุนทั่วโลกต้องจับตาการประชุมเฟดที่แจ็คสันโฮล ว่าอาจมีการส่งสัญญาณต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ โดยที่การประชุมของเฟดครั้งนี้จะหารือและสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นตลอดเวลา 2 วันเรื่องสำคัญๆ เช่น การปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเงินของเฟดและธนาคารกลางใหญ่ๆ อาทิ ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ)

แต่ประเด็นที่น่าจับตามองมากที่สุดอีกเรื่องหนึ่ง คือภาระงบดุลของธนาคารกลาง ที่มีการใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินแบบสุดโต่ง จากการอัดฉีดเม็ดเงิน QE บานปลายถึง 12.76 ล้านล้านดอลลาร์นับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินสหรัฐครั้งล่าสุดเมื่อปี 2008 มีการนำเสนอในเรื่องการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ (Negative Interest Rate) ที่ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนบอนด์ทั่วโลกมีอัตราติดลบเป็นมูลค่ามากถึง 13.4 ล้านล้านดอลลาร์ รวมถึงทางเลือกในกรอบมาตรการทางการเงินของธนาคารกลาง ที่อาจมีข้อจำกัดมากขึ้นสำหรับการดูแลระบบเศรษฐกิจ และตลาดการเงินในอนาคต จุดที่ถูกโฟกัสมากที่สุดคือเวทีสัมมนาสุดท้ายในช่วง 4 โมงเย็นของวันเสาร์ที่เปิดฟลอร์ถกภาพรวมของเศรษฐกิจและระบบการเงินโลกที่นำโดยกรรมการบริหารของอีซีบี ผู้ว่าการธนาคารกลางเม็กซิโก โดยเฉพาะนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการบีโอเจ ที่ได้รับฉายาเฮลิคอปเตอร์มันนีเนื่องจากการอัดฉีดเงิน QE ต่อเนื่องตลอด 3 ปีแต่ก็ไม่อาจผลักดันให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นจากภาวะเงินฝืดและถดถอยตลอด 25 ปีที่ผ่านมาได้เข้าร่วมในสัมมนาครั้งนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม การประชุมประจำปีของเฟดในปีนี้ ยังคงให้ความสำคัญน้อยกับปัญหาภาพรวมเศรษฐกิจ ในเรื่องเกี่ยวกับเสถียรภาพราคาหรืออัตราเงินเฟ้อ นโยบายการเงินที่มีต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งเสถียรภาพของระบบการเงินกับนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ถึงแม้ว่าก่อนหน้าการประชุมนั้น ตลาดเกิดอาการช็อค เมื่อเฟดได้มีการเผยแพร่รายงานวิจัย ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐในอนาคต ว่าหากเกิดปัญหาภาวะถดถอยขึ้นมาใหม่ เฟดก็เตรียมพร้อมอัดฉีดเม็ดเงิน QE อีก 2-4 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อรับมือ ซ้ำรอยแนวทางช่วงเกิดวิกฤตการณ์ซับไพรม์และวิกฤติเลห์แมน บราเธอร์สเมื่อปี 2007-2008 ซึ่งทำให้เฟดต้องอัดฉีด QE เพิ่มขึ้นอีก 4.5 ล้านล้านดอลลาร์จนต้องติดกับดัก QE ของตัวเองจนถึงวันนี้ก็ยังไม่อาจกลับมาใช้นโยบายการเงินที่เป็นปกติได้