เรียนรู้จากผู้นำ:เคล็ดลับการ “คิด” แบบนักกีฬาโอลิมปิก (2)

เรียนรู้จากผู้นำ:เคล็ดลับการ “คิด” แบบนักกีฬาโอลิมปิก (2)

สัปดาห์ที่ผ่านมา เราหารือกันเรื่องการฝึกอารมณ์ และความคิด ของนักกีฬามืออาชีพ และนักกีฬาขั้นเทพระดับโอลิมปิก

เพราะทั้งนักกีฬา โค้ช ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการกีฬา ฟันธงตรงกันว่า..

ยามลงสนาม สิ่งที่สำคัญกว่ากายแกร่ง กลายเป็นเรื่องอารมณ์ ความคิด และจิตใจ

ยามนั้น ชนะหรือไม่บนเวที ได้จากกาย 10% และใจ 90%!

ทั้งนี้ มิได้แปลว่าใจแกร่งอย่างเดียวจะชนะ จนสามารถละการฝึกฝนด้านกายได้

แต่หมายความว่า ระดับมืออาชีพที่แข่งอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่กันได้

ไม่ว่าจะแข่งเพื่อชิงเหรียญทอง หรือแข่งเพื่อชิงเหรียญทองแดง หรือแข่งเพื่อให้ได้ติด 1 ใน 10

(หรือสอบสัมภาษณ์งาน หรือ นำเสนอเรื่องขอเพิ่มงบประมาณในที่ประชุมผู้บริหาร ฯลฯ อาการเดียวกัน)

ถือว่าเรามีความสามารถด้านกายภาพ ซึ่งทำให้เราเข้าถึงสนามการแข่งขันได้แล้ว

ยามนั้น “ใจ” ที่คุมสมองและร่างกาย จะเริ่มมีบทบาทสำคัญยิ่ง

เพราะหลักๆ ภายใต้การแข่งขันที่มีแรงกดดันสูงๆ เราต้องการให้สมองทำหน้าที่ 1 ใน 2 แบบ คือ

งานบางอย่างต้องใช้พลังสมองเพื่อคิดตอบโจทย์และปัญหาต่างๆที่ไม่คุ้นเคย ยามนั้น น้องสมองต้องปลอดโปร่ง ห้ามอื้อ ห้ามตื้อ พร้อมให้เรารื้อหน่วยความจำ ทำให้เราคิดแก้ปัญหาได้อย่างฉับไวเฉียบคมงานบางอย่างต้องใช้ความชำนาญที่เกิดจากความเชี่ยวชาญที่สั่งสมไว้ จนกลายเป็นเรื่องกึ่งอัตโนมัติ น้องสมองต้องไม่ใช้วิธีข้างบน ที่เอื้อให้เราคิดมาก จนยากที่จะเข้าถึงความชำนาญกึ่งอัตโนมัติ

หากเราไม่มีทักษะในการสะกดใจให้นิ่ง น้องสมองจะสับสน ผลจึงจะเป็นเช่นนี้..

ยามที่เราชี้แจงโครงการในที่ประชุมระดับหัวหน้า ต้องตอบคำถามที่ไม่รู้จะมาไม้ไหน

น้องสมองต้องโปร่งเบา ให้เรารื้นค้นประมวลหาคำตอบอย่างราบรื่นฉับไว

แต่หากใจเครียด ประหม่า กังวล

สมองคนเราจะแกล้งทื่อขึ้นมาอย่างฉับพลัน

ดังนั้น คำถามทั้งง่ายและยาก จะกลายเป็นเรื่องลำบากที่จะตอบอย่างฉะฉานเฉียบคม

ในทางตรงกันข้าม ยามที่เราอยากให้สมองหยุดคิดมาก ปล่อยให้เราสามารถทำอะไรได้ตามธรรมชาติและความชำนาญ ที่ได้จากการทำซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันว่ายน้ำ นำเสนอ หรือ เล่นดนตรีที่ซักซ้อมจนคล่องแคล่ว

หากควบคุมอารมณ์หรือใจไม่ได้

กลายเป็นกังวล จนสมองคิดวนไปมา เขาจึงพาป่วน รวนความชำนาญที่เราเคยทำได้จนคล้ายอัตโนมัติ สกัดให้กลายเป็นสะดุด หยุดกึก นึกไม่ออก

หลายท่านที่เป็นมือใหม่ในการนำเสนอ มักมีประสบการณ์ที่เพียรท่องแล้วท่องอีก จนขึ้นใจ แต่เมื่อได้นำเสนอจริง สิ่งที่ท่องคล่องแคล่ว..แป่ว! หายไปเสียเฉยๆ

ดังนั้น ทักษะในการสั่งให้ “จิตนิ่ง” จึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งต่อนักสู้มืออาชีพ

นักกีฬาโอลิมปิกใช้หลากหลายวิธีในการฝึกจิตให้นิ่ง อาทิ

Visualization หรือ มโนขั้นเทพ เพื่อตัดสิ่งเร้ารอบตัวออกไป ดังที่คุยกันตอนที่แล้ว

นักกีฬาบางท่าน ใช้วิธีผ่อนคลายด้วยการฟังเพลงโปรด จะได้เอาใจออกจากความเครียด และการคิดวกวน

หลายทีมเน้น ฝึกทำสมาธิ เรียกสติให้อยู่กับตัว

ไม่ต้องดูอื่นไกล เห็นได้จากทีมนักวอลเล่ย์บอลหญิงขั้นเทพ ขวัญใจคนไทย

แม้สรีระ โดยเฉพาะความสูง และปัจจัยแวดล้อมหลากหลาย ถือเป็นรองคู่แข่งระดับโลก

แต่สิ่งที่ไม่เคยเป็นรองใคร คือ ใจและ สติ

โค้ชอ๊อด ผู้พลิกโฉมกีฬานี้ให้ชาวไทย ฟันธงไม่ต่างจากโค้ชระดับโลกท่านอื่น โดยเน้นว่า นักกีฬาต้องฝึกซ้อมใจ ควบคู่ไปกับกาย

“คุณภาพทางจิตต้องดี ไม่หวั่นไหว เวลาแข่งสามารถควบคุมอารมณ์ได้ดี”

โค้ชอ๊อดมักจำลองสถานการณ์กดดัน ให้ทีมได้ฝึกสติและสมาธิ อาทิ เล่นดี แกล้งบอกไม่ดี! ตีลง แกล้งบอกไม่ลง!

หากสตินักกีฬากระเจิงไปกับความท้าทาย ที่เขาคุมไม่ได้รายรอบตัว จะทำให้เริ่มเล่นมั่ว..แพ้เห็นๆ

ทีมหญิงของเราจึงฝึกซักซ้อมใจบ่อย จนเชี่ยวชาญในการดึงสติให้กลับมาอยู่กับวินาทีปัจจุบันได้ในชั่วพริบตา ไม่หมกมุ่นกับปัญหาที่เกิดแล้ว หรืออนาคตที่ยังไม่มาถึง

จึงเป็นที่ชื่นชมของคนดู หรือแม้คู่แข่งทั่วโลก ในด้านการควบคุมอารมณ์ ที่นักกีฬาขั้นเทพจากที่ใด ก็ไม่อาจเทียบทาน

สรุปว่า อารมณ์ และทัศนคติ เป็นสิ่งที่เจ้าของเลือกได้

และที่สำคัญ ฝึกได้ค่ะ