โชติช่วงชัชวาลรอบใหม่ (3)

โชติช่วงชัชวาลรอบใหม่ (3)

ผมมีความเห็นว่าการพัฒนาประเทศไทยไปข้างหน้านั้น น่าจะไม่ใช่การคาดหวังว่าพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง

จะเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนา และในกรณีของ Eastern Seaboard เมื่อ 30 ปีก่อนหน้านั้น พื้นที่ดังกล่าวเป็นศูนย์รวมของการพัฒนาประเทศด้วยเหตุบังเอิญที่ปัจจัยที่เป็นส่วนประกอบหลักของการขับเคลื่อนการพัฒนาอยู่ที่บริเวณดังกล่าว หมายความว่า

1.เราพบก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่ล้ำค่ายิ่งในอ่าวไทย การลงทุนนำเอาทรัพยากรดังกล่าวมาขึ้นฝั่งที่ Eastern Seaboard จึงเป็นเรื่องที่สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นโดยด่วนที่สุด

2.เมื่อได้ก๊าซธรรมชาติมาแล้ว ก็ต้องนำขึ้นฝั่งมาใช้เป็นพลังงานและต่อยอดเพื่อสร้างอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

3.จึงจำเป็นต้องสร้างนิคมอุตสาหกรรมซึ่งใช้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติและเพื่อจัดตั้งอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

4.เนื่องจากมีการลงทุนต้องมีขนาดใหญ่จึงจะคุ้มทุน (economy of scale) จึงสามารถทำให้เกิดผลผลิตมากเกินความต้องการในประเทศ ส่วนเกินจึงควรส่งออก จึงควรมีท่าเรือน้ำลึกใช้ทำการค้า-ขายอีกด้วย

ดังนั้น “ยุทธศาสตร์” การพัฒนาเศรษฐกิจจึงเกิดความชัดเจน กล่าวคือการนำเอาก๊าซธรรมชาติมาใช้สร้างอุตสาหกรรมหนัก (จากเดิมที่ทำอุตสาหกรรมเบา) เพื่อการส่งออก จึงไม่แปลกใจที่เศรษฐกิจไทยนั้นพึ่งพาเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากสถิติของสหประชาชาติที่คำนวณว่าสัดส่วนของการส่งออกสินค้าและบริการของไทยเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด

จะเห็นได้ว่าในช่วง 1975 ที่ไทยส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเบานั้น เราพึ่งพาความต้องการของตลาดโลกเพียง 18.4% ของจีดีพีของประเทศทั้งหมด และต่อมาก็พึ่งพาเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นเรื่อยมาจนสัดส่วนการขายสินค้าและบริการในตลาดโลกเพิ่มขึ้นเป็น 25.6% ในปี 1986 และต่อมาสูงขึ้นถึง 36.8% ในปี 1993 และ 39% ในปี 1996 ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจในปี 1997

หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 1997 และไทยต้องยอมให้ไอเอ็มเอฟเข้ามาฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยเพื่อแลกกับการกู้เงินฉุกเฉินมาทดแทนทุนสำรองระหว่างประเทศที่หมดลงไปในช่วงดังกล่าว ประเทศไทยก็มี “ยุทธศาสตร์” การฟื้นฟูประเทศ กล่าวคือการลดค่าเงินบาทและกดกำลังซื้อภายในประเทศ (ภายใต้การบงการของไอเอ็มเอฟ) เพื่อจัดสรรทรัพยากรไปผลิตสินค้าและบริการเพื่อขายให้ตลาดต่างประเทศเพื่อนำเอารายได้จากการส่งออกมาใช้คืนเจ้าหนี้ต่างประเทศ และเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมคนไทยที่เดิมทีใช้จ่ายเกินตัว (ประเทศไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเฉลี่ย 3-4% ต่อปี และก่อนวิกฤติขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากถึง 8% ต่อปี) ผลคือสัดส่วนการส่งออกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดมาเป็น 69% ในปัจจุบันนี้

สรุปได้ว่าเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจเปิดและต้องพึ่งพากำลังซื้อจากเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จึงทำให้ต้องพิจารณาว่ายุทธศาสตร์ในการปฏิรูปและพัฒนาเศรษฐกิจไทยในอนาคตนั้น ควรเน้นการส่งออกเป็นหัวจักรในการขับเคลื่อนจีดีพีต่อไปอีกหรือไม่ เพราะหากผลักดันให้การส่งออก (ทั้งสินค้าและบริการคือการท่องเที่ยว) ขยายตัวสูงกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจภาคอื่นๆ ก็แปลว่าสัดส่วนของการส่งออกสินค้าและบริการต่อจีดีพีจะเพิ่มขึ้นไปอีก ในความเห็นของผมนั้นหากจะต้องเพิ่มขึ้นอีกบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะการส่งออกที่ขยายตัวสูงย่อมเป็นการบังคับให้สินค้าและบริการของประเทศไทยต้องแข่งขันในตลาดโลก และตลาดโลกย่อมจะมีขนาดใหญ่กว่าและมีศักยภาพในการขยายตัวสูงกว่าตลาดในประเทศไทย ตรงกันข้ามการเพิ่มยอดขายในประเทศนั้น บางกรณีผู้ประกอบการอาจพยายามผูกขาดตลาดและกีดกันคู่แข่งโดยการล็อบบี้รัฐบาล ซึ่งจะทำให้เป็นผลเสียต่อผู้บริโภคและต่อประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว

แต่ในยุคปัจจุบันซึ่งมีกระแสกีดกันการค้าและต่อต้านการรวมตัวของเศรษฐกิจโลก (globalization) นั้น การพึ่งพาการส่งออกเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง เมื่อไม่นานมานี้ผู้แทนพรรครีพับลิกันในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ นายโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวสุนทรพจน์ใจความสำคัญว่านโยบายเศรษฐกิจของเขาคือการปฏิเสธ Globalism แต่จะยึดนโยบาย Americanism แทนที่ หมายความว่าเขาไม่ยอมรับข้อตกลงการค้าทีพีพีและจะรื้อข้อตกลงการค้านาฟต้า (เขตการค้าเสรีสหรัฐ แคนาดาและเม็กซิโก) ซึ่งมีมานาน 25 ปีแล้ว ทั้งๆ ที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นแกนนำพรรครีพับลิกัน คือนายพอล ไรอัน สนับสนุนทีพีพีอย่างเต็มที่ เพราะจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจสหรัฐกับทวีปเอเชีย ซึ่งหากนายทรัมป์ได้รับการเลือกตั้งก็คงจะแน่นอนว่าโลกจะเสี่ยงต่อการเกิดสงครามทางการค้าอย่างแน่นอน

เพราะแม้ว่าจีนจะไม่ได้เป็นสมาชิกทีพีพี แต่นายทรัมป์ก็ขู่ว่า จะปรับขึ้นภาษีเพื่อกีดกันการนำเข้าสินค้าจากจีน โดยอ้างว่าจีนบิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยน กล่าวคือนโยบายของทรัมป์จะทำให้เกิดความปั่นป่วนของเศรษฐกิจโลก และโลกาภิวัตน์ ก็จะต้องเสื่อมถอยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับผู้สมัครของพรรคเดโมแครตคือนางฮิลลารี คลินตันนั้น ก็จำต้องประกาศนโยบายกีดกันการค้าเพื่อเอาใจฐานเสียงของนายแซนเดอร์ส ผู้ซึ่งได้รับความนิยมจากฐานเสียงของพรรคอย่างมาก

การปฏิเสธโลกาภิวัตน์ย่อมจะเป็นภัยอันตรายอย่างยิ่งต่อประเทศที่มีเศรษฐกิจเปิดเช่นไทย และการจัดทำกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงควรที่จะหาทางรับมือกับความเสี่ยงดังกล่าวครับ