'โซลาร์หยอดเหรียญ'

'โซลาร์หยอดเหรียญ'

"โซลาร์หยอดเหรียญ"

ท่านผู้อ่านครับผมขอเขียนเรื่องพลังงานจากแสงอาทิตย์ต่ออีกนิดเพราะมีเรื่องที่น่าสนใจชวนติดตาม คือเรื่องราคาที่ขายเข้า Grid นั่นเองไม่น่าเชื่อเลยว่าเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาการประมูลซื้อขายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ดูไบมีราคาลดลงมากต่ำกว่ายูนิตละ 3 เซ็นสหรัฐเทียบกับเงินไทยไม่ถึง1 บาท ถูกกว่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเสียอีกและในเดือนเดียวกันนี้ที่ประเทศอังกฤษที่มีอากาศขมุกขมัวแต่กลับมีการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ได้มากกว่าไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหินเป็นสัญญาณว่าการผลิตพลังงานของโลกเรากำลังมาถึงจุดเปลี่ยนจากยุคที่ต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่โลกแห่งพลังงานคาร์บอนต่ำมากขึ้น ซึ่งดีต่อโลกของเรา

แนวโน้มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไม่ได้พัฒนาเฉพาะโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เท่านั้น ช่วง4-5ปีที่ผ่านมามีการลงทุนในรูปแบบการติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ตามหลังคาอาคารบ้านเรือน(Solar Rooftop)กำลังเป็นที่นิยมกันมากในหลายประเทศรวมถึงทั้งประเทศไทยของเราล่าสุดคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เปิดรับผู้เข้าร่วมโครงการนำร่องการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอย่างเสรี ตั้งเป้าหมายกำลังผลิตติดตั้งของโครงการรวม 100 เมกะวัตต์

ทั้งนี้การติดตั้งระบบเซลล์แสงอาทิตย์ตามหลังคาบ้านหรืออาคารแม้จะช่วยลดปริมาณไฟฟ้าที่ต้องซื้อจากการไฟฟ้าทำให้ประหยัดค่าไฟบ้านหรืออาคารในแต่ละเดือนได้ก็ตามแต่การติดตั้งระบบเองยังคงต้องใช้เงินลงทุนสูงมากพอสมควรในระยะอันใกล้นี้

อย่างไรก็ตามคาดว่าในช่วงปลายทศวรรษนี้ หรือปี 2020 ต้นทุนแผง PV ซึ่งเป็นอุปกรณ์หลักของโรงไฟฟ้าโซลาร์จะลดลงมาอยู่ที่30เซ็นสหรัฐหรือประมาณ 10 บาทต่อวัตต์จะทำให้ต้นทุนไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เข้าสู่ Grid Parity คือมีราคาแข่งขันได้กับค่าการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าประเภทอื่นๆ ทำให้น่าลงทุนมากขึ้น

มีสิ่งที่น่าตื่นเต้นในช่วงนี้คือ มีผู้คิดนวัตกรรมการซื้อ-ขายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบ“โซลาร์หยอดเหรียญ” หรือที่ฝรั่งเรียกว่า“Prepaid Solar” ซึ่งมีหลักการคล้ายกับ Prepaid Mobile หรือโทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินที่มีใช้อยู่ทั่วไปในบ้านเรา

หลักการทำงานของระบบPrepaid Solar คือ ในเบื้องต้นผู้ประกอบการจะทำการติดตั้งระบบเซลล์แสงอาทิตย์ไว้ตามหลังคาบ้านเรือนต่างๆ ซึ่งเจ้าของบ้านที่ได้รับการติดตั้งระบบเซลล์แสงอาทิตย์นั้นไม่ต้องจ่ายค่าติดตั้งใดๆ ทั้งสิ้น แค่เพียงลงทะเบียนเพื่อสร้างบัญชีสำหรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ขายผ่านทางเว็บไซต์หรือใน Application บนมือถือที่บริษัทผู้ผลิตและขายไฟฟ้า Solar Roof กำหนดไว้

เมื่อเจ้าของบ้านต้องการใช้ไฟฟ้าก็เพียงแค่เติมเงินเข้าในบัญชีลงทะเบียนไว้เพื่อซื้อไฟฟ้าโดยการเติมเงินผ่านตู้หยอดเหรียญที่ผู้ประกอบการติดตั้งไว้ตามจุดต่างๆ หรือร้านสะดวกซื้อ หรือเติมเงินออนไลน์ผ่านเว็บไซต์หรือ Application จากนั้นหลังจากเติมเงินแล้วเมื่อต้องการใช้ไฟก็โทรแจ้งผู้ที่มาติดตั้งให้เปิดสวิทซ์ทางโทรศัพท์ แล้วไฟฟ้าที่ซื้อไว้ซึ่งผลิตจากเซลล์บนหลังคาก็จะวิ่งเข้าบ้านเมื่อเสียบปลั๊กหรือเปิดสวิตซ์ไฟภายในบ้านทันทีและเมื่อเลิกก็โทรแจ้งเพื่อหยุดการจ่ายไฟ โดยเจ้าของบ้านสามารถตรวจดูปริมาณไฟฟ้าที่ซื้อใช้และเงินในบัญชีทางเว็บไซต์หรือใน Application บนมือถือได้ตลอดเวลานอกจากนี้ในบางโครงการเจ้าของบ้านยังอาจได้รับส่วนแบ่งหากบริษัทเจ้าของโครงการนำไฟที่ผลิตได้จากเซลล์บนหลังคาไปจ่ายเพื่อขายไฟให้กับบ้านหลังอื่นๆ ด้วย
ระบบSolar Prepaid ถือเป็นโมเดลที่สามารถเจาะตลาดกลุ่มผู้บริโภคไฟฟ้าที่มีรายได้น้อยตามชนบท โดยเฉพาะในชุมชนในเขตห่างไกลสายส่งหรือ Off-grid ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากผู้บริโภคไม่ต้องออกเงินลงทุน และสามารถซื้อไฟฟ้าตามงบประมาณที่มีระบบ Prepaid Solarที่ว่านี้มีการนำมาใช้แล้วในหลายประเทศ เช่น อินเดีย แทนซาเนีย เคนย่า อูกันดาเป็นต้น

สำหรับประเทศไทยหากรัฐมีการปรับกฎเกณฑ์ควบคุมการจำหน่ายไฟฟ้าให้สามารถนำระบบ Prepaid มาใช้ก็จะช่วยดึงดูดให้ประชาชนที่ไม่ได้มีเงินทุนหรือมีรายได้สูงหันมาใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้นถือเป็นการขยายฐานผู้บริโภค รวมทั้งช่วยลดความจำเป็นในการพึ่งพาไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิลอื่นๆ ในช่วงกลางวันซึ่งมักเป็นช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้าสูงมาก (On-peak Period)

จุดอ่อนของระบบผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์อย่างที่เราทราบคือสามารถผลิตไฟฟ้าได้เฉพาะช่วงเวลากลางวันเท่านั้น ในช่วงกลางคืนอาจต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากแหล่งอื่น เช่น ไฟฟ้าจากระบบสายส่ง ระบบเก็บสะสมพลังงาน (Energy Storage)เป็นต้นซึ่งรัฐบาลจะต้องช่วยผลักดันสนับสนุนการติดตั้งระบบเก็บสะสมพลังงานเพิ่มเติมสำหรับโครงการที่อยู่ห่างไกลสายส่งก็จะช่วยแก้ไขข้อจำกัดได้

ผมเชื่อว่าในอนาคตระบบ Prepaid Solar จะสามารถขยายฐานลูกค้าได้อย่างแพร่หลายแล้วยังถือว่าเป็นการกระจายแหล่งผลิตไฟฟ้า(Distributed Power Generation) ไม่ให้กระจุกตัวอยู่แค่ตามโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพื่อลดปัญหาระบบสายส่งคับคั่ง เหมือนกับระบบ IT ที่เปลี่ยนผ่านจาก Onpremise Server เป็นระบบ Cloud

โซล่าร์หยอดเหรียญ หรือ Prepaid Solar นี่แหละครับจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับรัฐบาลที่จะผลักดันให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนให้เติบโตในเมืองไทยของเราได้โดยให้มีหุ้นส่วนรายย่อยใหม่ๆ มีส่วนร่วมมากขึ้น