ผลตอบแทนบอนด์รัฐเริ่มฟื้น ตามทิศทางเศรษฐกิจ

ผลตอบแทนบอนด์รัฐเริ่มฟื้น ตามทิศทางเศรษฐกิจ

แนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยในระยะเวลาอันใกล้นี้ ยังคงผันผวนและอาจปรับตัวขึ้นได้ จากอิทธิพลของตลาดต่างประเทศที่สำคัญ




              เช่น สหรัฐอเมริกา ที่ตัวเลขเศรษฐกิจออกมาค่อนข้างดี ทำให้ตลาดปรับคาดการณ์โอกาสการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมสัก 1 ครั้งใน 3 ครั้งที่เหลือของปีนี้ ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจของไทยถือว่าฟื้นตัวอย่างอย่างค่อยเป็นค่อยไป เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเล็กน้อย                     สอดคล้องกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่รายงาน GDP ในไตรมาสที่สองขยายตัว 3.5% โดยมาจากการบริโภคภาคเอกชน (+3.8%) การลงทุนภาครัฐ (+10.4%) และการท่องเที่ยว (+12.1%) แม้การลงทุนภาคเอกชนยังคงชะลอตัว (+0.1%) เนื่องจากการหดตัวในการก่อสร้างและการส่งออกสินค้าที่ยังคงอ่อนแอ (-3.1%)  แต่อย่างไรก็ดี สศช. คงประมาณการ GDP ในปีนี้ไว้ที่ 3.0-3.5%                    ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปิดเผยรายงานนโยบายการเงิน ซึ่งผลการประชุมล่าสุดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% และคงการคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ไว้ที่ 3.1% แต่ปรับลดของปี 2560 ลงเหลือร้อยละ 3.2 โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในช่วงครึ่งปีหลัง                   ด้านภาวะการเงินอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จากอัตราดอกเบี้ยแท้จริงที่อยู่ในระดับต่ำ และการระดมทุนโดยรวมของภาคธุรกิจและสินเชื่อภาคครัวเรือนยังขยายตัวได้ แม้ธุรกิจบางกลุ่มจะมีข้อจำกัดในการได้รับสินเชื่อ ดังนั้นจึงมองได้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยไม่น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก  สำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาค่อนข้างผันผวน ตราสารหนี้อายุไม่เกิน 5 ปีปรับลดลง 0.01-0.03% ส่วนในช่วงอายุ 10-20 ปี เพิ่มขึ้นประมาณ 0.03-0.10% โดยในภาพรวมตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากเหตุการณ์ Brexit ซึ่งทำให้ธนาคารกลางในประเทศสำคัญรอประเมินผลจากเหตุการณ์นี้ก่อนปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินในระยะอันใกล้  ดังนั้น ผลการประชุมของธนาคารกลางประเทศสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, ยุโรป และญี่ปุ่น จึงต่างคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและ/หรือวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เอาไว้           

       ส่วนความเคลื่อนไหวในตลาดแรก มีการประมูลพันธบัตรระยะยาวจำนวน 3 รุ่น โดยรุ่นอายุ 6 ปีและ 15 ปีได้รับความสนใจจากนักลงทุนสถาบัน ส่วนรุ่นอายุ 20 ปีที่จัดประมูลในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกลับได้รับความนิยมน้อยกว่า ตลอดทั้งเดือนเงินลงทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ไทยลดลงประมาณ 13,290 ล้านบาท โดยเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้อายุมากกว่า 1 ปีจำนวน 4,493 ล้านบาท และซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้นจำนวน 6,226 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ครบกำหนดอายุจำนวน 24,008 ล้านบาท (ข้อมูลจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย)