โอกาสธุรกิจไทยโกอินเตอร์ ‘พี่จูงน้อง’ไปเวียดนาม

โอกาสธุรกิจไทยโกอินเตอร์ ‘พี่จูงน้อง’ไปเวียดนาม

นับเป็นยุคทองของผู้ประกอบการ

ขนาดกลางและย่อม แม้กระทั่ง รายใหญ่ ด้วยกันที่ก้าวย่างเปิดตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะแถบ เพื่อนบ้าน มีแนวทางสนับสนุนอย่างจริงจังจากองค์กรภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคเอกชนในฐานะ ผู้บุกเบิก ต่างเสนอตัวเป็น แกนนำ หรือ พี่เลี้ยง กรุยทางนำร่องนักธุรกิจไทยที่ต้องการขยายตลาด เฉพาะรอบประเทศไทย เวียดนาม เป็นตลาดใกล้สุดที่บรรดาทุนไทยไม่น่าจะพลาดโอกาส!! ด้วยฐานประชากร 94 ล้านคน กว่า 70% เป็นผู้คนในวัย กำลังทำงาน เป็นกลุ่มที่ใช้เงิน ที่สำคัญมีวิถีชีวิตและไลฟ์สไตล์ในแบบฉบับคนรุ่นใหม่ แม้ยังไม่บูมเทียบเท่าไทยที่สังคมเมืองอยู่ในช่วงเบ่งบานและขยายสู่รอบนอก แต่ด้วยเศรษฐกิจเวียดนามที่เติบโตอย่างรวดเร็ว การลงทุนจากทั่วโลกหลั่งไหลสู่ตลาดใหญ่ เรียกว่า กำลังซื้อเข้าใกล้ 100 ล้านคนในไม่ช้า คือ โอกาสทางธุรกิจมหาศาล

ข้อมูลจาก สภาธุรกิจไทย-เวียดนาม ประเมินโอกาสการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและเวียดนาม จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ภายในปี 2563 ขณะที่ 6 เดือนแรกของปีนี้ “ไทย” มีสถานะเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของเวียดนามในกลุ่มประเทศอาเซียน ด้วยมูลค่าการส่งออก 5,670 ล้านดอลลาร์ โดยจะมีมูลค่าการค้าระหว่างไทย-เวียดนาม 14,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ ส่วนการลงทุนทางตรงในเวียดนามของไทยอยู่อันดับที่ 11 ด้วยมูลค่าเงินลงทุน 8,079.16 ล้านดอลลาร์ เมื่อสิ้นปี 2558 มูลค่าเงินลงทุนทางตรงของไทยส่วนที่เพิ่มขึ้นใหม่ 6 เดือนแรก อยู่อันดับที่ 7 มีมูลค่า 391 ล้านดอลลาร์

นอกเหนือจากกลุ่มซีพี ที่เข้าไปสร้างอาณาจักรอาหารสัตว์ในเวียดนามตั้งแต่ปี 2533 ยังมีบริษัทไทยขนาดใหญ่หลายราย เดินหน้าลงทุนในเวียดนาม อาทิ การลงทุนในกิจการเมโทร ( Metro) โดยกลุ่มเบอร์ลี่ยุคเกอร์กว่า 800 ล้านดอลลาร์ การลงทุนในกิจการบิ๊กซี โดยกลุ่มเซ็นทรัลกว่า 1,400 ล้านดอลลาร์ กลุ่มปูนซีเมนต์ไทยลงทุนในเวียดนามหลายโครงการ มูลค่ารวม 860 ล้านดอลลาร์ สิงห์ เอเซียโฮลดิ้ง เครือบริษัทบุญรอดบริเวอรี่ ลงทุนในหุ้นเมซานกรุ๊ปราว 25% มูลค่ารวม 1,100 ล้านดอลลาร์ กลุ่มอมตะคอร์ปอเรชั่น จะลงทุนนิคมอุตสาหกรรมแห่งที่ 2 ชื่อ “อมตะ เอ็กซ์เพรส ซิตี้” มูลค่าประมาณ 600 ล้านดอลลาร์ บริษัท ปูนซิเมนต์นครหลวง ลงนามลงทุนในหุ้น 65% ในโฮลซิม (เวียดนาม) มูลค่า 524 ล้านดอลลาร์ กลุ่ม ปตท.มีแผนลงทุนโรงกลั่นน้ำมันและโรงงานปิโตรเคมี มูลค่า 22,000 ล้านดอลลาร์ กลุ่มปูนซีเนต์ไทยมีแผนลงทุนโรงงานปิโตรเคมี มูลค่า 4,500 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งกลุ่มธนาคารไทย เช่น ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ขยายการให้บริการในเวียดนาม

แม้ตลาดเวียดนามจะมีโอกาสสูง แต่มีความเสี่ยงและอุปสรรคหลายด้านเช่นกัน โดยเฉพาะ กฏหมายท้องถิ่น แม้จะเอื้อต่อนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น แต่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อย และมีกฎหมายจำนวนมากที่ต้องศึกษาอย่างละเอียด รอบคอบ เป็นข้อจำกัดของการ ฉายเดี่ยว  

น่าสนใจและน่าศึกษาไม่น้อยสำหรับโมเดลของ สภาธุรกิจไทย-เวียดนาม นอกเหนือจากโครงการ พี่จูงน้อง ที่ใช้บรรดายักษ์ใหญ่เป็นหัวหอก ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมที่จะเข้าไปลงทุนในเวียดนาม ยังมุ่งผลักดันจัดตั้ง ทีม "ไทยแลนด์ พลัส"  ซึ่งจะประกอบด้วยท่านเอกอัครราชทูตไทยประจำเวียดนาม เป็นหัวหน้าทีมภาครัฐ และ ประธานสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม เป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน สร้างความร่วมมือและทำงานร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนการค้าการลงทุนระหว่างกัน ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพสูงสุด

ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถใช้ประโยชน์จาก รายใหญ่ เพื่อ ต่อยอดธุรกิจ ได้เช่นกัน ทำให้การเปิดประตูออกสู่นอกบ้านไม่ยากเกินเอื้อมอีกต่อไป