ความทรงจำกับความรู้สึก

ความทรงจำกับความรู้สึก

ผมขออนุญาต “มั่วนิ่ม” โดยจะคิดเอาเองว่า ท่านผู้อ่านในวันนี้คงได้อ่านบทความคราวที่แล้วของผมครับ

เพราะหลังจากบทความตีพิมพ์แล้ว ผมได้คิดอะไรต่อไปอีก และอยากจะทำให้ความคิดความเห็นสมบูรณ์มากขึ้น จึงขอเขียนต่อ แบบไม่บอกไม่กล่าวกันก่อนน่ะครับ

ประเด็นหลักที่อยากจะเพิ่มก็คือความทรงจำ/การลืมเป็นส่วนที่จะต้องผูกพันอย่างแนบแน่นกับ อารมณ์ความรู้สึกเสมอ ไม่มีความทรงจำใดในสมองของมนุษย์และในสังคมดำรงอยู่ได้โดยปราศจาก “อารมณ์ความรู้สึก”

กล่าวได้ว่า “ความทรงจำ” จะผูกพันโยงใยก่อให้เกิด “อารมณ์ความรู้สึก” ขณะเดียวกันในอีกทางหนึ่ง “อารมณ์ความรู้สึก” ที่ก่อเกิดขึ้นก็เข้าไปก่อรูปเปลี่ยนแปลงความหมายของความทรงจำด้วยเช่นกันนักคิดตะวันตกที่ยิ่งใหญ่กล่าวทำนองว่า อารมณ์ความรู้สึกกำหนดความหมายการดำรงอยู่ของมนุษย์” (We find ourselves in the world or belong to a world through a mood: ขอบคุณอาจารย์สิงห์ สุวรรณกิจ แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่กรุณาให้ความรู้ในเรื่องนี้ครับ)

ดังนั้น เราจึงจะไม่สามารถเข้าใจ “ความเป็นมนุษย์” ในแต่ละช่วงสมัยได้ หากเราไม่สามารถทำความเข้าใจ “อารมณ์ความรู้สึก” ที่เป็นเนื้อเดียวกับ “ความทรงจำ” ขณะเดียวกันเราก็ไม่สามารถที่เข้าใจ “สังคมมนุษย์” ได้หากไม่เข้าใจ “ระบอบอารมณ์ความรู้สึก” ของยุคสมัย และ “ความทรงจำร่วม” ของสังคม

ชีวิตส่วนตัวความทรงจำอารมณ์ความรู้สึกของแต่ละคนที่ก่อให้เราแต่ละคน ซึ่งเราคิดและเข้าใจกันโดยทั่วไปแล้วว่ามีทั้งความเหมือนและความแตกต่างนั้น ไม่ใช่เรื่องเฉพาะตัวเราคนเดียวโดดๆ ในโลกใบนี้ หากแต่จะมีส่วนโยงใยสัมพันธ์เหนียวแน่นกับความหมายของแต่ละคนที่ดำรงอยู่ร่วมกันในสังคมซึ่งจัดระบบความสัมพันธ์ของความหมายผ่านมิติของระบอบอารมณ์ความรู้สึกของสังคม จึงกล่าวได้ว่ามนุษย์จะไม่สามารถที่จะมีความรู้สึกเยี่ยงมนุษย์ได้ หากปราศจากซึ่ง “ความทรงจำ

นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักคิดที่สำคัญของสังคมไทยท่านหนึ่ง ที่เล็งเห็นความสำคัญของอารมณ์ความรู้สึกในหลายด้านและโดยเฉพาะด้านของการแสวงหาความรู้ ท่านได้กล่าวไว้ทำนองว่าการศึกษา “อารมณ์ความรู้สึก” เป็นฐานที่สำคัญแสวงหาความรู้โดยกล่าวว่า “การคิดด้วยความรู้สึกในโลกปัจจุบัน ถ้าเราบอกว่าเราคิดด้วยความรู้สึกคนทั่วไปอาจจะมองว่า เป็นบ้าแต่ผมคิดว่าความรู้สึกเป็นพื้นฐานในการทำให้มองเห็นมิติอะไรบางอย่างในความจริงที่คนไม่ได้มีความรู้สึกมองไม่เห็น”

แต่เราจะเข้าใจ “อารมณ์ความรู้สึก” ได้อย่างไร ความรู้ทางด้านจิตวิทยาของโลกมักจะมองเห็นเพียงแค่ “ความรู้สึกของปัจเจกชน” ซึ่งมักจะถูกปิดป้ายว่า “จิตวิทยาแบบปัจเจกบุคคล” (The psychology of the individual) ซึ่งในท้ายที่สุดก็ไม่สามารถจะแก้ไขปัญหาอะไรได้ไปมากกว่าการใช้ยาเคมี เพื่อเข้าไปควบคุมการหลั่งสารบางอย่างบางชนิดเท่านั้น ซึ่งเป็นเพียงการรักษาที่วางอยู่บนปลายของความเข้าใจมนุษย์

การศึกษาทางด้านสังคมศาสตร์/มนุษยศาสตร์ที่หันมาสนใจ “อารมณ์ความรู้สึก” หรือ “ความทรงจำ” จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเชื่อมต่อกันทั้งสองเรื่องนี้ให้เป็นเป็นเนื้อเดียวกันให้ได้ เพื่อที่จะเข้าใจความสลับซับซ้อนและความลึกซึ้งของมนุษย์และสังคมมนุษย์

หากเราพิจารณา “ความทรงจำ” กับ “อารมณ์ความรู้สึก” อย่างไม่แยกจากกัน ก็จะพบเห็นได้ว่าท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมที่ทำให้ผู้คนเปลี่ยนแปลงตำแหน่งแห่งที่ทางสังคม ก็จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการให้ความหมายแก่ “วัตถุแห่งความทรงจำเดิม” พร้อมไปกับความเปลี่ยนแปลงของ “อารมณ์ความรู้สึก” ที่มีต่อ “วัตถุแห่งความทรงจำ” นั้นๆ ซึ่งความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เป็นเรื่องธรรมดาของโลกนะครับหมายความว่าที่ไหนๆ ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ทั้งสิ้น

การความเปลี่ยนแปลงที่ว่ามานี้อาจจะเรียกกว้างๆ ได้ว่าเป็น “การต่อสู้/ต่อรองบนพื้นที่ความทรงจำ” ซึ่งความทรงจำชุดใดจะครองอำนาจเหนือกว่าก็ขึ้นอยู่กับความเปลี่ยนแปลงของ “อารมณ์ความรู้สึก” ที่เกิดขึ้นมานั้น จะสามารถสร้าง/ก่อให้เกิด “ความรู้สึกร่วม” ในกลุ่มคนในสังคมกันมากน้อยเพียงใดในสังคมลองคิดถึงช่วงเวลาก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง/สังคมครั้งสำคัญๆ ในโลกดูซิครับ กระบวนการเปลี่ยนแปลงการให้ความหมายแก่ “ความทรงจำ” จะนำไปสู่ “อารมณ์ความรู้สึก” ชุดใหม่ที่ผูกพันผู้คนให้ลุกขึ้นมาทำอะไรได้มากมายทีเดียว

“การต่อสู้/ต่อรองพบพื้นที่ความทรงจำ” จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องเข้าใจ เพราะเราก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนี้ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่สำคัญเราจะได้เข้าใจมากขึ้นว่า ไม่มีอะไรที่จะอยู่คงที่ โดยไม่มีความเปลี่ยนแปลงและจะทำเพิ่มความสามารถของเราทุกคนในการเข้าไปเผชิญหน้า และสามารถจัดการกับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ