ปี 2020 เฟซบุ๊คและไลน์ ยังจะ..ดังหรือดับ?

ปี 2020 เฟซบุ๊คและไลน์ ยังจะ..ดังหรือดับ?

ปัจจุบันนี้ ถ้าพูดถึงโซเชียลเน็ตเวิร์คของคนไทยแล้ว เกือบทุกคนจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าคือเฟซบุ๊คและไลน์

ซึ่งผลการสำรวจจาก Statista ปลายปี 2558 ชี้ให้เห็นว่ามากกว่าครึ่งของประชากรไทยมีความเคลื่อนไหวอยู่บนเฟซบุ๊คถึง 32 ล้านคนซึ่งเป็นโซเชียลที่คนไทยใช้มากที่สุด โดยกลุ่มช่วงอายุที่ใช้เฟซบุ๊คมากที่สุดคือ 20-29 ปีมีจำนวนถึง 14 ล้านคน และประชากรที่ใช้เฟซบุ๊คส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร ขณะที่มีการใช้ไลน์อยู่ถึง 29 ล้านคน

จากผลการสำรวจพฤติกรรมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยประจำปี 2558 ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) พบว่า กลุ่มผู้ที่นิยมเล่นไลน์มีอายุระหว่าง 20-34 ปี และส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในโลก ผู้ใช้งานเฟซบุ๊คนำโด่งมาเป็นที่ 1 รองลงมาคือ วอสแอป ส่วนไลน์ที่คนไทยนิยมมากอยู่ที่อันดับที่ 14 ของโลก

แต่ทว่าทั้งสองเครื่องมือนี้จะยังอยู่กับคนไทยไปอีกนานเท่าไหร่ ปี 2020 ผู้บริโภคคนไทยยังคงใช้เครื่องมือเหล่านี้ต่อไปอีกหรือไม่ เพราะกระแสความนิยมของโลกเปลี่ยนแปลงไป ผู้บริโภคคนไทยก็ย่อมเปลี่ยนไปตามกระแสความนิยมของโลก ขณะที่องค์กรย่อมตระหนักว่าในอนาคตอันใกล้นั้นมีเทรนด์โซเชียลเน็ตเวิร์ครูปแบบใหม่ที่จะมาแทนที่เฟซบุ๊คและไลน์ ในไทยหรือไม่ เพื่อองค์กรจะได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้ทันท่วงทีในการเป็นผู้นำตลาดในยุคดิจิทัล

เมื่อปี 2555 Eric Jackson ผู้ก่อตั้งสถาบัน Ironfire Capital ได้ออกมาพูดในรายการ Squawk on the Street ช่อง CNBC ว่า “ในอนาคตนี้ เฟซบุ๊คจะหายไปจากโลกอินเทอร์เน็ตเหมือนที่ยาฮูได้หายไป” แต่อย่างไรก็ตามยาฮูก็ยังสามารถทำเงินได้ ถึงแม้ว่ามันจะมีมูลค่าเพียงแค่ 10% จากราคาตลาดสมัยที่ยาฮูรุ่งที่สุดเมื่อปี 2000 ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า เฟซบุ๊คยังไม่สามารถปรับตัวได้ดีในยุคปัจจุบันนี้ ซึ่งเป็นยุคธุรกิจผ่านโทรศัพท์มือถือ พวกเราคงต้องรอดูต่อไปว่าเฟซบุ๊คจะสามารถปรับตัวเองให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วหรือไม่

ถ้าเฟซบุ๊คและไลน์ไม่แก้ไขข้อจำกัดที่เกิดขึ้นนั้น ก็ย่อมมีโซเชียลเน็ตเวิร์ค แพลตฟอร์มใหม่ขึ้นมาแทนที่ในปี 2020 อย่างแน่นอน

ดิฉันเชื่อว่าถ้าเฟซบุ๊คไม่แก้ไขข้อจำกัดที่เกิดขึ้นนั้น ก็ย่อมมีโซเชียลเน็ตเวิร์คแพลตฟอร์มใหม่ขึ้นมาแทนที่ในปี 2020 อย่างแน่นอน ซึ่งโซเชียลเน็ตเวิร์คแพลตฟอร์มใหม่นั้น จะต้องมาแทนที่ข้อจำกัดต่างๆ ของเฟซบุ๊คได้ กล่าวคือ 1. แอพพลิเคชั่นใหม่นั้นต้องสามารถใช้ผ่านมือถือได้อย่างง่าย สามารถจัดการการตั้งค่าต่างๆ ผ่านแอพได้โดยตรงเนื่องจากเฟซบุ๊คมีฟังก์ชั่นการใช้งานบางอย่างที่เป็นข้อจำกัดที่ไม่สามารถใช้ผ่านแอพพลิเคชั่นได้ 2. แอพใหม่นั้นควรมีฟังก์ชั่นในการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวได้มากกว่าฟังก์ชั่นในเฟซบุ๊คที่มีอยู่ ซึ่งปัจจุบันข้อมูลของเราที่ถูกแท็กจากเพื่อนโพสต์รูป เราก็ยากที่จะจัดการลบทิ้งออกไปจากโลกออนไลน์ได้

3) แอพใหม่นั้นควรมีระบบการลบแอคเคานท์โดยอัตโนมัติสำหรับแอคเคานท์ที่ไม่ได้ใช้งานในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ทุกปีควรมีระบบตรวจสอบสำหรับผู้ที่ไม่ได้เข้ามาใช้งานในแอ็คเคานท์ตนเองเลย ซึ่งเฟซบุ๊คยังไม่มีระบบลบแอคเคานท์สำหรับคนที่จากไปแล้ว เป็นเรื่องที่น่าเกรงว่า แอคเคานท์ของคนที่จากไปแล้วจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นๆ ทุกปี 4. แอพใหม่ไม่ควรมีโฆษณา ซึ่งจะเข้ามารบกวนผู้ใช้งานบ่อยครั้ง อาจทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกไม่เป็นมิตรกับแอพพลิเคชั่น 5. แอพใหม่ต้องแก้ไขข้อจำกัดต่างๆ ของเฟซบุ๊คในเรื่องของการจำกัดขนาดของรูปและจำนวนข้อความที่โพสต์จำกัดจำนวนผู้ที่สามารถเห็นจากโพสต์ของเราได้ และจำกัดจำนวนของยอดแอทเพิ่มเป็นเพื่อน

สำหรับการใช้งานไลน์ซึ่งเป็นโปรแกรมสนทนาบนสมาร์ทโฟนของคนไทยนอกจากเป็นแอพแชทแล้ว ยังเป็นเครื่องมือให้บริการทางออนไลน์ที่ครบวงจรรวมถึงการสร้างกลุ่ม การสร้างไทม์ไลน์ การส่งข้อความ โพสต์รูป โทรคุยแบบเสียง และการเล่นเกมส์ เป็นต้นไลน์เป็นแอพแรกสุดที่โดดเด่นในเรื่องระบบการขายสติ๊กเกอร์ตัวการ์ตูน สติ๊กเกอร์นั้นสามารถแสดงอารมณ์และความรู้สึกของผู้ใช้ที่หลากหลาย สติ๊กเกอร์ตามเทศกาลและวันสำคัญ รวมถึงสติ๊กเกอร์การ์ตูนที่มีชื่อเสียงซึ่งจะเห็นว่าแอพแชทอื่นๆ ก็พัฒนาสติ๊กเกอร์ติดตามมานอกจากนี้ไลน์ยังเป็นแอพแรกที่สามารถแอดคุยกันได้

โดยไม่ต้องบันทึกเบอร์มือถือของอีกคนลงเครื่องไลน์ยังโดดเด่นในเรื่องออฟฟิตเชียว แอคเคานท์สำหรับลูกค้าองค์กร ทำให้ไลน์ในประเทศไทยแข็งแกร่งขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาประวัติย้อนหลังถึงการใช้งานแอพแชทของพฤติกรรมของคนไทย ก็ได้มีการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้แอพแชทมาหลายครั้ง

แอพใหม่ที่เกิดขึ้นในปี 2020 ก็ต้องสามารถทดแทนข้อจำกัดต่างๆ ของไลน์ได้ 1. แอพใหม่ควรมีความสามารถในการสร้างกลุ่มแชทได้มากกว่า 200 คน ซึ่งไลน์จำกัดจำนวนสูงสุดไม่เกิน 200 คน 2. ปัจจุบันไลน์มีดิวกับโฆษณาของบริษัทต่างๆมากมาย ซึ่งทำให้ไลน์ดูเป็นแอพคอมเมอสเกินไป 3. ไลน์กำหนดว่าผู้ใช้สมาร์ทโฟน 1 เครื่อง จะมีไอดีไลน์สำหรับการเข้าใช้ล็อคอินได้ 1 ไอดีเท่านั้น และไม่สามารถลงทะเบียนได้ด้วยวิธีอื่น

ถ้าเฟซบุ๊คและไลน์ไม่พยายามปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และข้อจำกัดต่างๆ ที่มีอยู่ ก็ย่อมมีโอกาสที่แอพพลิเคชั่นใหม่จะเข้ามาแทนที่ได้ในอนาคตอันใกล้ และถ้าเมื่อคู่แข่งบุกมาถึง...ก็ช้าไปแล้ว ที่พวกเขาจะปรับเปลี่ยนตัวเองให้ทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เฟซบุ๊คก็อาจจะเป็นเหมือนสถานการณ์ของยาฮูในอดีต ส่วนไลน์ก็อาจจะเป็นเหมือนเอ็มเอสเอ็นในอดีตเฉกเช่นกัน

--------------------

ดร.พิมพ์ สุ่นสวัสดิ์

ภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย