ปัจจัยกระทบเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้าย 2016

ปัจจัยกระทบเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้าย 2016

เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ น่าจะฟื้นตัวดีขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง ภายหลังความกังวลต่อผลการลงประชามติผ่าน

ร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมผ่านพ้นไป ทั้งเรื่องความวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้นแต่รัฐก็สามารถดูแลให้การลงประชามติเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ทำให้มีความชัดเจนทางการเมืองมากขึ้นว่า จะเดินไปตามแผนการดำเนินงานที่วางไว้และน่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปได้ในปลายปี 2560

ประกอบกับประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของไตรมาสที่สองออกมาว่า เติบโตได้ในอัตราร้อยละ 3.5 (เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน) สูงกว่าคาดการณ์ของตลาดที่ร้อยละ 3.3 ทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปีนี้อยู่ที่ระดับร้อยละ 3.4 จึงมีคาดการณ์ว่าทั้งปี 2516 นี้ เศรษฐกิจจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 3.0-3.5 ได้ เนื่องจากกำลังซื้อของประชาชนดีขึ้น และความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น รัฐบาลเองก็จะเดินหน้าการลงทุนในโครงการต่างๆ โดยเฉพาะโครงการพื้นฐานขนาดใหญ่ๆ

เป็นที่น่าเสียใจอย่างยิ่งว่าในวันมหามงคลของประชาชนชาวไทยคือ วันที่ 11 ต่อกับวันที่ 12 สิงหาคม ได้เกิดเหตุอันไม่พึงประสงค์ คือการก่อวินาศกรรมและการเผาห้างสรรพสินค้าขึ้น 11 ครั้งใน 7 จังหวัดภาคใต้ของประเทศ ที่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากของประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่มีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ การกระทำที่เลวร้ายดังกล่าวได้ถูกประณามจากชาวไทยทั้งต่างประเทศ ทั้งผู้ลงมือกระทำการและผู้บงการว่าจะเป็นใครก็ตาม จะต้องรับผลกรรมที่ก่อขึ้นในครั้งนี้ในไม่ช้านี้ ก็ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถจับตัวผู้กระทำการมาดำเนินคดีต่อไปด้วยในการสร้างความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา

ปัญหาภัยแล้งและขาดแคลนน้ำที่เป็นอีกความกังวลของคนทั่วไป ก็ได้คลี่คลายดีขึ้นเพราะมีปริมาณฝนจำนวนมากทั้งในภาคเหนือและภาคอีสาน จนทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักเพิ่มขึ้นจนผ่านพ้นภาวะวิกฤติไปแล้ว ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรเองก็เริ่มกระเตื้องขึ้นจึงจะทำให้กำลังซื้อของประชาชนในชนบทดีขึ้น

สำหรับปัจจัยต่างประเทศนั้น ภายหลังเศรษฐกิจและตลาดการเงินได้ปรับตัวรองรับผลกระทบต่อการออกจากสหภาพยุโรปของยุโรปของประเทศอังกฤษ (Brexit) ด้วยการร่วมมือกันใช้มาตรการต่างๆ รองรับกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างเต็มที่ ทำให้ภาวะความผันผวนของตลาดเงิน ตลาดทุนกลับเข้าสู่ระดับปกติได้โดยเร็วภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์

แต่อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าผลกระทบของ Brexit จะจบลงไปแล้ว แต่กระบวนการลาออกเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น และยังมีความไม่แน่นอนสูงในอีก 1-3 ปีข้างหน้า ขึ้นอยู่กับผลการเจรจาต่อรองระหว่างอังกฤษกับสหภาพยุโรป และระหว่างอังกฤษกับประเทศอื่นๆ ซึ่งเชื่อกันว่าจะทำให้เศรษฐกิจของอังกฤษและสหภาพยุโรปจะเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลง

ผลกระทบของ Brexit ประการหนึ่งคือ ทำให้หลายประเทศต้องคงอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษไปอีกระยะหนึ่ง (อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบ) ในการกระตุ้นธุรกรรมทางเศรษฐกิจ และอีกเหตุผลที่ต้องคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำจนติดลบ คือ ในหลายๆ ประเทศมีหนี้สินภาครัฐที่เพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัวในการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวนมหาศาลต่อเนื่องนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา

สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์กำลังจับตามองก็ คือ นโยบายอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา จากเดิมได้มีคาดการณ์กันว่าจะมีการปรับขึ้นในเดือน มิถุนายนของปีนี้ แต่ก็ได้ถูกเลื่อนออกไปเพราะรอดูผลกระทบของ Brexit ที่มีความเสี่ยงว่าอาจจะทำเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงที่อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่ในปัจจุบันความกังวลเรื่องดอกเบี้ยดังกล่าวได้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง

ขณะนี้ตลาดรอฟังคำแถลงของประธานคณะกรรมการกลางทางการเงินของสหรัฐอเมริกาที่จะมีขึ้นในวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคมนี้หลังการประชุมประจำปีของคณะกรรมการธนาคารกลางที่มีขึ้นที่เมือง Jackson Hole มลรัฐไวโอมิง ก่อนหน้านี้เริ่มมีคณะกรรมการฯ ที่ต้องการให้สหรัฐอเมริกาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง ทั้งนี้ข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจสำคัญในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง คือ ทั้งอัตราการว่างงาน และอัตราเงินเฟ้อ อยู่ในภาวะที่เอื้ออำนวยต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงจากระดับร้อยละ 0.25-0.50 ในปัจจุบัน

ตลาดคาดว่าปีนี้ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาน่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงขึ้นอย่างน้อย 1 ครั้ง เพราะข้อมูลด้านการจ้างงานที่แข็งแกร่งที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมมีจำนวน 292,000 และ 255,000 ตำแหน่งงา นตามลำดับ ส่วนอัตราเงินเฟ้อแม้จะอยู่ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายร้อยละ 2.0 อยู่ แต่ในระยะปานกลางแล้วอัตราเงินเฟ้อก็จะเข้าสู่เป้าหมาย เมื่อการบริโภคของประชาชนและราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น

เมื่อคำนึงว่าการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางในปีนี้ที่เหลืออยู่อีก 3 ครั้ง (20-21 กันยายน 1-2 พฤศจิกายน และ 13-14 ธันวาคม) แล้ว มีความเป็นไปได้ว่าหากจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในเดือนกันยายนหรือเดือนธันวาคม เพราะในเดือนพฤศจิกายน (วันที่ 8 พฤศจิกายน) จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี จึงไม่น่าที่จะสร้างความสับสนให้กับตลาดในช่วงระยะเวลาดังกล่าว

โดยในปัจจุบันน้ำหนักไปอยู่ที่เดือนธันวาคมมากที่สุด ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกาย่อมจะมีผลกระทบต่อการไหลของเงินทุน

ทำให้ตลาดหุ้นและราคาทองคำของตลาดโลกอ่อนตัว