ระวังปัญหาบังคับใช้ ก.ม.ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ

ระวังปัญหาบังคับใช้ ก.ม.ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ

รัฐบาลเตรียมเสนอกฎหมาย ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ

ทั้งระบบ โดยจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมาดูแลรัฐวิสาหกิจทั้งหมด รวมทั้งมีการกำหนดกฎกติกาต่างๆ มากมาย เพื่อสร้างความโปร่งใสและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจ อีกทั้งเป็นการป้องกันการหาประโยชน์จากฝ่ายการเมือง ที่เข้ามาแทรกแซงรัฐวิสาหกิจมานานกว่าครึ่งศตวรรษ และที่สำคัญจะมีการตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ หรือ โฮลดิ้งคอมปานีย์ เข้ามาดูแลรัฐวิสาหกิจหลายแห่งที่กระทรวงการคลังถือหุ้น

หากย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงต้นของรัฐบาล ซึ่งได้ประกาศนโยบายการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ แต่เรื่องนี้ได้เงียบหายไปนาน คนเกิดข้อสงสัยว่าไม่สามารถทำได้หรืออาจถูกต่อต้านจากรัฐวิสาหกิจ แต่ในที่สุดรัฐบาลก็สามารถผลักดันเป็นร่างกฎหมายออกมาได้ และหากพิจารณาสาระของกฎหมายแล้ว เราเชื่อว่าในรัฐบาลปกติเหมือนที่ผ่านมา กฎหมายลักษณะเดียวกันนี้คงเป็นเรื่องยากที่จะผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพราะผลประโยชน์ในรัฐวิสาหกิจมีความหลากหลายจนยากจะหาจุดร่วมกันได้

ประเด็นที่ยังเป็นเรื่องท้าทายสำหรับการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจในครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องแนวความคิดและหลักการปฏิรูป เพราะเรื่องการปฏิรูปให้รัฐวิสาหกิจให้เกิดประสิทธิภาพ และให้เกิดความโปร่งใสในการบริหารงานนั้น เป็นเรื่องที่รู้กันมานานแล้วว่าจะทำอย่างไร แต่ปัญหาที่แท้จริงกลับเป็นเรื่องในทางปฏิบัติว่าจะทำการปฏิรูปอย่างไรให้เกิดผลโดยเร็วที่สุด ซึ่งการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่พูดๆ กันมาแทบทุกรัฐบาลจนกลายเป็นสูตรสำเร็จนั้น เอาเข้าจริงแล้วก็เป็นปัญหาทางปฏิบัติมาโดยตลอด

ความยุ่งยากของการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่ผ่านมา อาจแบ่งได้เป็นสองด้าน กล่าวคือ ด้านภายในของรัฐวิสาหกิจเอง โดยการปฏิรูปหลายเรื่องที่รัฐบาลพยายามผลักดันมักจะได้รับการต่อต้านจากคนภายในเองเพราะเกรงว่าจะได้รับผลกระทบ หรือไม่ก็เป็นเรื่องวัฒนธรรมของคนในรัฐวิสาหกิจเองที่อยู่อย่างสงบสุขมานาน จนรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลง แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เราก็เห็นการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะการให้บริการประชาชนมีการปรับปรุงดีขึ้นอย่างมาก

ปัญหาอีกด้านคือมาจากภายนอก ซึ่งปัญหาใหญ่และเป็นปัญหาสำคัญที่สุด คือการแสวงหาประโยชน์ในรัฐวิสาหกิจจากฝ่ายการเมือง หรือที่เรียกกันอย่างสุภาพว่าเป็นการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง ซึ่งประเด็นนี้มีการกล่าวถึงกันมานานพอๆกับเรื่องประสิทธิภาพการทำงาน และหากจะกล่าวกันจริงๆแล้วเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องลึกลับซับซ้อนแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงการเมืองทุกครั้งก็จะมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการรัฐวิสาหกิจเสมอ และในบางกรณีคนที่แต่งตั้งเข้าไปเป็นกรรมการแทบไม่มีความรู้ใดๆเลย

แน่นอนว่าร่างกฎหมายฉบับนี้มีการศึกษากันมานาน และแนวทางการปฏิรูปก็มีการถกเถียงมาโดยตลอด เราเชื่อว่าผู้ที่รับผิดชอบในเรื่องนี้รู้ปัญหาอย่างดี และได้หาวิธีป้องกันเพื่อไม่ให้การปฏิรูปในครั้งต้องสะดุดลง ดังนั้นเมื่อมีกฎหมายลักษณะนี้บังคับใช้ ก็เท่ากับว่ามีเครื่องมือสำคัญในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งปัญหาสำคัญคือจะสามารถทำได้ตามร่างกฎหมายหรือไม่ และความต่อเนื่องของการปฏิรูปก็ถือว่าเป็นประเด็นสำคัญที่เป็นตัวบ่งชี้ว่านโยบายนี้จะไปรอดหรือไม่ 

ดังนั้น ความท้าทายสำคัญนับจากนี้ไปคือการบังคับใช้กฎหมาย จะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา ในสังคมไทยมีตัวอย่างของเรื่องนี้มากมาย สังคมไทยในหลายเรื่องมีกฎหมายครบถ้วน แต่มักจะเป็นปัญหาการบังคับใช้ ซึ่งการผลักดันร่างกฎหมายปฏิรูปรัฐวิสาหกิจครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้น แต่ผลสำเร็จจริงๆจะอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดการปฏิรูปที่แท้จริง