ยุทธศาสตร์บริหารประสิทธิสภาพ 8E โมเดล E6 ประสิทธิคูณ (2)

ยุทธศาสตร์บริหารประสิทธิสภาพ 8E โมเดล E6 ประสิทธิคูณ (2)

บทความนี้ยังคงเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์การบริหารจากโมเดลการบริหารประสิทธิสภาพ 8E ที่ได้ดำเนินมาถึงยุทธศาสตร์

การบริหาร E ตัวที่ 6 แล้ว นั่นคือ ยุทธศาสตร์การบริหารเพื่อทวีคูณผลลัพธ์ที่เลอค่า หรือเรียกว่า การบริหารอย่างมีประสิทธิคูณ (Exponentiality)

สำหรับผม สิ่งที่ “เลอค่า” ควรได้รับการทวีคูณและกระจายผลกระทบออกสู่ภายนอก จึงสร้างศัพท์คำว่า ประสิทธิคูณ” ขึ้นมา ซึ่งเกิดจากการรวมคำศัพท์ 2 คำ เข้าด้วยกัน ได้แก่ คำว่า ประสิทธิ+ทวีคูณ เพื่ออธิบายความหมายของการทำให้ความสำเร็จหรือผลลัพธ์ที่ เลอค่า” ทวีคูณและขยายตัวออกเป็นวงกว้าง โดยการสร้างให้เกิดผลกระทบขยายอย่างมากมายเป็นวงกว้าง ทำได้โดยแนวทางและเครื่องมือ เช่น

1.การตลาดแบบไวรัล (Viral Marketing) คือเทคนิคการทำการตลาดที่ใช้สื่อ Social Medias ที่มีอยู่แล้ว เช่น Facebook, Twitter และอีกมากมายนับไม่ถ้วน ในการทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น หรือเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางการตลาดด้านอื่นด้วย เช่น สามารถขายผลิตภัณฑ์ได้ โดยเปรียบเสมือนกับกระบวนการแพร่ไวรัส ซึ่งเป็นลักษณะการบอกต่อ ปากต่อปาก

การใช้สื่อสังคมออนไลน์ ช่วยให้เกิดการทวีคูณได้อย่างมากมาย เนื่องจากเป็นสื่อกลางที่มีผู้ใช้เป็นผู้สื่อสาร เขียนเล่าหรือแบ่งปันเรื่องราวต่างๆ ผ่านข้อความ รูปภาพ เพลง วิดีโอ โดยจำนวนผู้ใช้ Social media ของประเทศไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2014 พบว่า จำนวนผู้ใช้ Facebook ในไทยและเป็น Active Users อยู่ที่ 30 ล้านคน บริการวิดีโอออนไลน์ชื่อดัง YouTube มียอดผู้ใช้งานอยู่ที่ 26.25 ล้านคน ผู้ใช้งาน Twitter มียอดผู้ใช้งานอยู่ที่ 4.5 ล้าน และ Instagram มียอดผู้ใช้งานชาวไทยอยู่ที่ 1.7 ล้านคน

การทำ Viral Marketing ผ่าน Social media จะทำให้เกิดพลังทวีคูณ เป็นประโยชน์ในการสร้างภาพลักษณ์ การสร้างความร่วมมือ การรณรงค์และการเผยแพร่แนวคิด การระดมทุนจากสาธารณะ ยกตัวอย่างเช่น โครงการ ไอซ์ บั๊กเก็ต แชลเลนจ (The Ice Bucket Challenge) ที่รณรงค์หาเงินช่วยเหลือผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ด้วยการเอาน้ำเย็นจากน้ำแข็งที่อยู่ในถังราดหัวตัวเอง มีการท้าทายต่อๆ กันไป โดยแคมเปญถูกออกแบบไว้ หากราดน้ำแข็งใส่ตัวบริจาค 10 ดอลลาร์ แต่ถ้าไม่ทำบริจาค 100 ดอลลาร์ โดยคนที่เทน้ำที่มีน้ำแข็งใส่ตัวจะต้องทำคลิปวีดีโอส่งต่อเพื่อนอีก 3 คน ภายใน 24 ชั่วโมงนับตั้งแต่มีผู้ท้า ซึ่งผลจากแคมเปญ พบว่า ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค.- 21 ส.ค. 2014 สมาคมเอแอลเอส (ALS Association) องค์กรไม่แสวงหากำไรของสหรัฐอเมริกาที่หาเงินทุนเพื่อทำการวิจัยและบริการคนไข้โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Amyotrophic Lateral Sclerosis :ALS) ได้รับเงินบริจาคมากถึง 41.8 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 26 เท่าจาก 1.6 ล้านดอลลาร์ปี 2013 และมีจำนวนผู้บริจาครายใหม่มากกว่า 739,000 คน

2. การสร้างเครือข่าย เห็นได้ชัดในธุรกิจเครือข่าย ที่ใช้หลักการนี้ในการกระจายสินค้าและบริการไปยังผู้บริโภคในเครือข่าย โดยมีผลตอบแทนให้คนที่สร้างเครือข่ายเป็นลำดับชั้น และบอกถึงประโยชน์ของการที่สามารถสร้างเครือข่ายได้ แต่นอกจากการใช้เครือข่ายในงานธุรกิจแล้ว การสร้างเครือข่ายยังมีความสำคัญต่องานพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ อีก เช่น การบริหารมหาวิทยาลัย กล่าวคือ เครือข่ายถือเป็นทรัพยากรหนึ่งของมหาวิทยาลัยที่ต้องมีการจัดการ อาทิ เครือข่ายศิษย์เก่า เครือข่ายผู้ปกครอง เครือข่ายนักศึกษา เครือข่ายอาจารย์ นักวิชาการ เครือข่ายนักวิจัย เครือข่ายภาคธุรกิจ ภาคประชาชน โดยจัดให้มีกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง มีช่องทางการติดต่อสื่อสาร การประชุม พบปะสังสรรค์ ให้สิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจให้เข้าร่วม การมอบรางวัลเชิดชูเกียรติ เครือข่ายเหล่านี้จะเอื้อต่อการสร้างประสิทธิคูณ ทั้งจากการเข้ามามีส่วนร่วม การเผยแพร่แนวคิดและวิธีปฏิบัติ การระดมทรัพยากร

มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดขับเคลื่อนสู่มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลก เกิดจากการใช้ยุทธศาสตร์สร้างเครือข่ายศิษย์เก่า ให้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนากิจการของมหาวิทยาลัย กล่าวกันว่า เครือข่ายที่เข้มแข็งของบรรดาศิษย์เก่าทั่วโลกที่ได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัย และเป็นแหล่งหาทุนสนับสนุนค่าใช้จ่ายทางการศึกษา เครือข่ายศิษย์เก่าจึงนับเป็นเครื่องมือส่งเสริมการก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยได้อย่างมาก

โดยวิธีการสร้างเครือข่ายของมหาวิทยาลัย คือ

- สร้างช่องทางศิษย์เก่าทั่วโลกรวมตัวกัน เพื่อทำหน้าที่เป็นแกนหลักของกลุ่มศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในทุกระดับชั้น และทุกคณะในมหาวิทยาลัย ทำให้เกิดการขยายเครือข่ายของศิษย์เก่าในทุกภูมิภาค และนำมาซึ่งการสร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย ศิษย์เก่า และภาคีอื่นในทุกภูมิภาค

- วางระบบองค์กรเพื่อประสานงาน สร้างความกระตือรือร้นในการสร้างสรรค์กิจกรรม

- การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างเครือข่ายศิษย์เก่าและภาคีต่างๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดความร่วมมืออย่างต่อเนื่องและจริงจัง

3. การพัฒนาผู้ฝึกอบรม คือ พัฒนาบุคลากรระดับหัวหน้างานให้เป็นผู้ฝึกอบรมภายใน ทำได้โดย การส่งหัวหน้าไปอบรมและมาอบรมทีมงานอีกทอดหนึ่ง นับว่าเป็นทำให้เกิดการทวีคูณผลลัพธ์จากการฝึกอบรม ซึ่งดีกว่าการว่าจ้างผู้อบรมจากภายนอก เนื่องจาก เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า รวมถึงผู้อบรมที่เป็นบุคลากรภายในย่อมมีความเข้าใจบริบทองค์กรมากกว่า

ผู้บริหารที่ยอดเยี่ยมจึงต้องไม่เพียงบริหารให้ได้ผลลัพธ์ที่เลอค่า แต่จะต้องทำให้เกิดการทวีคูณผลลัพธ์ที่เลอค่าด้วย เครื่องมือเหล่านี้ช่วยให้เกิดการทวีคูณได้จริง แต่อาจจะไม่ได้ทวีคูณสิ่งที่มีคุณค่าหรือเลอค่าก็เป็นได้ ด้วยเหตุนี้ผู้บริหารจึงจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะควบคุมและประยุกต์ใช้เครื่องมือ และชัดเจนในหลักการว่าสิ่งใดเลอค่าและควรค่าแก่การทวีคูณผลลัพธ์ด้วย

----------------------------

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์

นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)

[email protected],http://www.kriengsak.com