ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์กับเสรีภาพในโลกออนไลน์

ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์กับเสรีภาพในโลกออนไลน์

ในการพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.. ซึ่งเป็นการปรับปรุงจาก พ.ร.บ.

ฉบับเดิม ชื่อเดียวกันที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2550 สำหรับกิจกรรมและพฤติกรรมต่างๆ ในโลกออนไลน์ โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งร่าง พ.ร.บ.นี้เป็นหนึ่งใน ชุดกฎหมายความมั่นคงดิจิตัลโดยมีการแก้ไขในหลายมาตรา และหลายภาคส่วนก็ได้ตั้งข้อสังเกตในประเด็นสิทธิเสรีภาพ ซึ่งดูเหมือนจะมีปัญหาเป็นพิเศษภายใต้ คสช.

หน่วยงานรัฐด้านความมั่นคงและรักษาความสงบภายในค่อนข้างเห็นตรงกันว่า สิทธิเสรีภาพในโลกออนไลน์มีมากจนล้นเหลือ ทำให้เกิดการละเมิดและการทำร้ายทำลายจนนำไปสู่ความแตกแยกในสังคมอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ดังนั้นจึงสมเหตุสมผลในโอกาสของปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว ที่จะเสริมอำนาจให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐมากขึ้นเพื่อจะจัดการกับกรณีความผิดต่างๆ บนโลกออนไลน์ได้เด็ดขาดและคล่องตัวขึ้น

ขณะนักวิชาการและองค์กรพัฒนาสิทธิเสรีภาพกลับมองในทางตรงกันข้ามว่า สิทธิเสรีภาพในโลกออนไลน์อยู่ในภาวะถดถอยนับแต่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้เมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้วอันเนื่องมาจากบทบัญญัติที่ไม่ชัดเจน ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองที่รุมเร้า โดยเฉพาะบริบทภายใต้ คสช.ที่น่ากังวลมากขึ้น เมื่อกฎหมายนี้ถูกบังคับใช้ควบคู่กับกฎหมายอื่นๆ อย่างกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงอื่นๆ เพราะฉะนั้น มุมมองของฝ่ายนี้จึงค่อนข้างเห็นไปในทางที่ว่า หากจะแก้ไขกฎหมายก็ควรที่จะสร้างความชัดเจนให้เกิดขึ้นและคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ช่วงสองปีตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ มีผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมฯ จนถึงพฤษภาคม 2559 พบว่ามี 66 ราย ถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 14 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันจะนำไปสู่ความเสียหายในลักษณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเท็จ ข้อมูลหมิ่นประมาท ข้อมูลที่นำไปสู่ความตื่นตระหนก ข้อมูลที่ผิดกฎหมายความมั่นคงหรือการก่อการร้าย ไปจนถึงข้อมูลลามกอนาจาร สรุปง่ายๆ คือเป็นความผิดเกี่ยวกับเนื้อหา

ในส่วนวรรคหนึ่งของมาตรา 14(1) มีวัตถุประสงค์ดั้งเดิมเพื่อมุ่งเอาผิดการทำเว็บไซต์ปลอมเพื่อหลอกลวงผู้บริโภคให้เข้าใจผิดว่าเป็นเว็บไซต์จริง หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Phishing แต่ที่ผ่านมา มาตรานี้มักถูกตีความไปใช้ลงโทษการโพสต์ข้อความในลักษณะหมิ่นประมาทบุคคลอื่น หรือการทำให้ถูกเข้าใจผิดและเสื่อมเสียชื่อเสียงบนโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นการตีความและบังคับใช้กฎหมายที่ผิดวัตถุประสงค์ โดยในช่วงหลังรัฐประหาร 2557 มีผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหานี้ 18 คน นับว่ามีส่วนโดยตรงในการสร้างบรรยากาศความกลัวและจำกัดการแสดงความคิดเห็น หรือวิพากษ์วิจารณ์บนโลกออนไลน์

ในร่างใหม่ได้กำหนดว่าผู้กระทำต้องมีเจตนา “โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง” ซึ่งคำว่า โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา หมายความว่า “เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น” ทำให้เกิดความชัดเจนขึ้นว่ามาตรา 14(1) มีวัตถุประสงค์ใช้เอาผิดการกระทำที่มุ่งต่อประโยชน์ทางทรัพย์สิน ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นออนไลน์ และการกระทำที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 14(1) จะต้องมีพฤติการณ์ที่จะสร้างความเสียหายแก่ประชาชน หรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงต่างจากมาตรา 14(1) เดิม ซึ่งระบุการกระทำที่สร้างความเสียหายต่อบุคคลหนึ่งก็เป็นความผิดได้

แต่จากการตีความของ iLAW หรือโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน เห็นว่า การเขียนมาตรา 14(1) ตามร่างฉบับนี้ก็ยังเปิดช่องให้เกิดการตีความนำไปใช้ลงโทษกับการหมิ่นประมาทออนไลน์ได้อยู่บ้าง โดยอาจมีผู้เข้าใจผิดตีความไปได้ว่า การโพสต์เนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตที่ไม่เป็นความจริงและทำให้ประชาชนทั่วไปสับสน เป็นเจตนา “โดยหลอกลวง” และยกเอามาตรา 14(1) มาใช้ดำเนินคดีกับการแสดงความคิดเห็นต่อไปอีก ทำให้เจตนาที่จะจำกัดมาตรานี้ไว้เฉพาะเพียงเรื่อง Phishing เป็นอันต้องยกเลิกไป

ในอีกประเด็นหนึ่งซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในเครือข่ายพลเมืองเน็ต ก็คือมาตรา 20 (4) ของร่างที่แก้ไขใหม่เรื่องการปิดกั้นเว็บไซต์ ซึ่งสามารถจะส่งผลให้ถูก บล็อคได้ แม้ว่าข้อมูลบนเว็บไซต์ดังกล่าวจะไม่ผิดกฎหมายใดๆ แต่หากคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์เห็นว่าเนื้อหา “ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี”

ทั้งนี้ ร่างแก้ไขฉบับใหม่ได้เพิ่มเติมกฎหมายเดิม ให้มีคณะกรรมการกลั่นกรอง 5 คน ซึ่งทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งของรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจดิจิตัล และร่างกฎหมายไม่ได้กำหนดคุณสมบัติที่ชัดเจนของกรรมการ ทำให้ไม่สามารถแน่ใจได้ว่าผลประโยชน์และสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะเป็นองค์ประกอบในการพิจารณา และยังส่งผลกระทบกับการทำงานของสื่อมวลชน และการสื่อสารของประชาชน

อีกมาตราหนึ่งซึ่งส่งผลโดยตรงกับสิทธิเสรีภาพในพื้นที่ออนไลน์คือ มาตรา 15 เดิมที่กำหนดว่า กำหนดไว้ว่า ผู้ให้บริการที่ “จงใจสนับสนุนหรือยินยอม ให้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นในระบบคอมพิวเตอร์ที่ดูแลอยู่ ต้องรับโทษเท่ากับผู้กระทำความผิด ซึ่งเป็นการสร้างภาระทางกฎหมายให้ผู้ดูแลเว็บไซต์ ช่วงหลายปีที่ผ่านมาเว็บไซต์หลายแห่งจึงยกเลิกบริการพื้นที่แสดงความคิดเห็น และต้องคอยเซ็นเซอร์เนื้อหาบนโลกออนไลน์ที่ผิดกฎหมาย เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง

ยิ่งไปกว่านั้น มาตรานี้ยังได้สร้างความกลัวให้ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจำนวนมาก ผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ อย่าง กูเกิลหรือ เฟซบุ๊กไม่กล้ามาจัดตั้งศูนย์ข้อมูล ซึ่งจะเป็นจุดเชื่อมต่อเครือข่ายการสื่อสารของบริษัทที่จะโยงใยไปในภูมิภาคและทั่วโลกขึ้นในไทยทั้งๆ ที่เรามีทำเลที่ตั้งได้เปรียบและมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าสิงคโปร์ หรือฮ่องกง

อย่างไรก็ดี มาตรา 15 ของร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับที่เสนอในปี 2559 นี้ แม้จะยังกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องรับผิดเท่ากับผู้กระทำความผิด แต่ก็เพิ่มบทบัญญัติขึ้นมาว่า

“ผู้ให้บริการผู้ใดให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจ ให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิด ตามมาตรา 14 ให้รัฐมนตรีออกประกาศกำหนดขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนำข้อมูลนั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ถ้าผู้ให้บริการพิสูจน์ได้ว่าตนได้ปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามวรรคสอง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ”

การ "ให้ความร่วมมือ“ หรือ ”รู้เห็นเป็นใจ“ อาจต้องชัดเจนว่าผู้ให้บริการมีเจตนากระทำความผิดร่วมกับผู้ที่โพสต์เนื้อหาผิดกฎหมายเองด้วย แต่คำว่า ”ยินยอม" ยังเป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ว่า กรณีใดผู้ให้บริการพบเห็นข้อความแล้วแต่มีเจตนาที่จะยินยอมให้อยู่ต่อไป หรือกรณีใดที่ผู้ให้บริการไม่ได้ยินยอมแต่ทำหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อ ตรวจสอบไม่พบเนื้อหาผิดกฎหมาย หรือเนื่องจากความผิดพลาดส่วนบุคคลโดยไม่ได้ตั้งใจ

เรามักได้ยินวาทกรรม “Thailand 4.0” "Digital Startups” “Smart Economy” อันล้วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนฐานเศรษฐกิจของประเทศไปสู่การสร้างมูลค่าและคุณค่าที่สูงกว่าในเชิงผลผลิตและกระบวนการจากนวัตกรรม โดยส่วนหนึ่งมาจากนวัตกรรมด้านการสื่อสารอันเป็นเทคโนโลยีแห่งยุคสมัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ก็ได้แต่หวังว่า ผลกระทบจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้โดยเฉพาะในมาตรา 15 จะไม่ไปดับฝันอันบรรเจิดของผู้นำประเทศหลายๆ ท่านที่ขยันขายให้เป็นข่าวด้วยการจัดให้มีการลงนามความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ หรือการเปิดพื้นที่เพื่อสร้าง Startups ทางดิจิตัลแทบจะไม่เว้นแต่ละวัน

ไม่อย่างนั้น ประเทศเราก็คงติดกับดักการสร้าง “วาทกรรมทางนโยบายแบบปลาตายน้ำตื้นได้อย่างง่ายๆ และน่าเสียดาย