สมัยนี้...โลกหมุนด้วยอัตราเร่ง

สมัยนี้...โลกหมุนด้วยอัตราเร่ง

เพราะโลกยุคนี้ (2536) มันเปลี่ยนเร็ว ไม่ขยันอ่าน ไม่ขยันทำ เอาแต่กินของเก่า..ทำไปเรื่อยๆพวกคุณจะเซื่องซึม แล้วก็จะโง่...แล้วจะโดนรุ่นน้องแซง

เมื่อเร็วๆนี้ ผมมีโอกาสได้บรรยายเรื่อง 'งานดีในสายตาคน 4 เจนเนอเรชั่น' ให้นักศึกษากลุ่มหนึ่งที่กำลังจะจบการศึกษา เนื้อหาประมาณเบบี้บูมเมอร์, Gen X, Gen Y, และ Gen Z (Millennium) ว่าคนต่างวัย ต่างยุคสมัย เติบโตมาในบริบทสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน ย่อมมีทัศนคติต่อชีวิตและงานที่ต่างกันและอะไรคือโอกาสในการทำงานของคนในยุคนี้

เผอิญ มีว่าที่นักศึกษามหาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่กำลังจะเริ่มเข้าเรียนปี 1 มาแอบฟังด้วย และตามผมมาคุยนอกรอบ ... เขาถามผมว่า 20 ปีก่อน โลกของวิศวกรจบใหม่อย่างผมเป็นแบบไหนกัน ?

ผมตอบไปว่า มันคือ โลกที่.. วิศวกรจบใหม่ เงินเดือนสตาร์ท 15,500 บาท … โดยที่... ราคาน้ำมันเบนซิน 95 ลิตรละ 9 บาทกว่า, ตั๋วหนังในห้างใบละ 80บาท , บุฟเฟ่ต์โรงแรมดีๆหัวละแค่ 200 บาท

น้องร้อง 'โอ้วโน้วว' … โลกปัจจุบันทำไมมันยากขึ้นจังครับพี่ ...ก็เพราะโลกทุกวันนี้ .. วิศวกรจบใหม่ เงินเดือนสตาร์ท ยังแถวๆ15,000-19,000 บาทโดยที่... ราคาน้ำมันเบนซิน 95 ลิตรละ 30 อัพ, ตั๋วหนังในห้างใบละ 150อัพ , บุฟเฟ่ต์โรงแรมหัวละ 500 อัพทุกอย่างราคาแพงขึ้น 2-3 เท่าตัว

ผมคิดว่า คำบ่นของน้องนั้น ถูกแค่ส่วนเดียว คือโลกปัจจุบันมันมีต้นทุนการใช้ชีวิต ที่สูงกว่า สมัยก่อนมากๆ แต่อนิจจา ... 20 ปีที่ผ่านมา เงินเดือนมันไม่ขึ้นตามค่าครองชีพแต่นั่นยังไม่ใช่สิ่งที่ "น่ากลัว" ที่สุด

สำหรับผมแล้ว ... ความน่ากลัวของโลกยุคใหม่ มันคือ 'ความไวของการเปลี่ยน' เพราะถ้าปี 2559 คุณเป็นเด็กมหาวิทยาลัยปี 1โลกการทำงานในปีที่คุณเรียนจบรับปริญญาในปี 2563 จะแตกต่างจากโลกปี 2559 อย่างมากมายอนาคตที่กำลังจะมาถึง จะถูกเปลี่ยนด้วยอัตราเร่ง

สมัยผมเรียนจบ ... วิศวกรโทรคมนาคม อยู่ในโลกของโทรศัพท์บ้าน และโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เพิ่งเริ่มต้น ผมอ่านคู่มือเทคนิคคัลManualของอุปกรณ์อีริคสัน อัลคาเทล ซีเมนส์ไม่กี่วันก็นั่งรถกระบะออกไปทำงานร่วมกับกองงานเน้นลูกขยัน ลูกอึด ลูกถึก
สมัยนี้อาจไม่พอ ต้องใส่ลูกขวนขวาย และลูกปรับตัว ลงไปอีกมากมาย

ยุคนี้...ไม่พูดกันเรื่องโครงข่ายโทรศัพท์เท่าไหร่แล้วครับ ... ปี 2563 ยุคที่น้องเรียนจบ สิ่งเหล่านี้จะพูดถึงมากจนกลายเป็นกระแสหลักเลย เช่น AI (Artificial Intelligence), IOT (Internet of Things), Cloud Computing, Big Data, BI (Business Intelligence), Augmented Reality (อย่างเกมโปเกมอนโก) ฯลฯ

นั่นหมายความว่า... ความรู้ที่คุณเรียนจากมหาวิทยาลัย 4 ปีจากนี้ มันอาจจะใช้ได้เพียง 'บางส่วน' ในอีก 4 ปีข้างหน้าเพราะ โลกเปลี่ยนทุกวัน วันพรุ่งนี้ก็จะเปลี่ยนไปอีก... ไม่ต้องพูดถึง 4 ปีข้างหน้าเลย

ดังนั้น ความสามารถของเด็กไทย ที่ต้องถูกฝึกในมหาวิทยาลัย มันควรจะต้องปรับเปลี่ยนบ้างไหม???ยุคของการสอนแบบโบราณ โดยอาจารย์ที่ ก้มหน้าก้มตาพูดและกดสไลด์รัวๆ ที่สมัยก่อนเรียกดร.แผ่นใส สมัยนี้คือ อาจารย์พาวเวอร์พอยท์พูดไปเรื่อยๆ บางทีแทบไม่เงยหน้ามองนักศึกษา แล้วออกข้อสอบ ระบบสื่อสารทางเดียวแบบนี้อาจจะต้องทบทวน ลดลงบ้าง แล้วลองเพิ่มเวลากระตุ้นให้นักศึกษาขวนขวาย เรียนรู้จากคนประกอบอาชีพนั้นๆจริงๆ และเพิ่มทักษะชีวิตกันดีไหม? โดยเฉพาะควรเพิ่มทักษะภาษาอังกฤษ ภาษาจีน การเงินส่วนบุคคล การ Pitchingนำเสนอฯลฯ มาลงให้นักศึกษาทุกคณะจะดีไหม ?

ผมเขียนบทความนี้ไป ใจก็แอบนึกถึง 24 ปีก่อน อาจารย์ที่วิศวะ ลาดกระบังท่านนึง สอนวิชาภาคคอมพิวเตอร์ (ผมลืมชื่อท่านไปแล้ว ขออภัยจริงๆ)ในปี 2536 แกบอกนักศึกษาว่า ...

คุณเรียนจบไป ทำงาน 10 ปี ...
พวกคุณไม่ใช่วิศวกรประสบการณ์ 10 ปี แต่พวกคุณคือ วิศวกรอายุงาน 2 ปี 5 ครั้ง !!!

เพราะโลกยุคนี้(2536) มันเปลี่ยนเร็ว ไม่ขยันอ่าน ไม่ขยันทำ เอาแต่กินของเก่า...ทำไปเรื่อยๆพวกคุณจะเซื่องซึม แล้วก็จะโง่...แล้วจะโดนรุ่นน้องแซง...จะโดนทิ้งไว้ข้างหลัง (ที่วิศวะ ลาดกระบัง 24 ปีก่อน อาจารย์เป็นรุ่นพี่ การสอนจะเป็นแบบพี่น้อง คำพูด ลีลาจะมันส์มาก)

นี่คือคำพูด Inspiration คลาสสุดท้ายก่อนปิดภาคสำหรับผม มันคือปัจฉิมนิเทศฉบับย่อ ที่จำจนทุกวันนี้

และคิดว่า มันคลาสสิก เหนือกาลเวลา และยังใช้ได้กับนักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ด้วยเช่นกัน