ภาพถ่ายความหมายของการเห็นและความทรงจำ

ภาพถ่ายความหมายของการเห็นและความทรงจำ

เมื่อประมาณเดือนที่แล้ว ผมได้รับเกียรติให้ไปร่วมแสดงความคิดเห็นในนิทรรศการภาพถ่าย ที่จัดโดยมูลนิธิญี่ปุ่น

ในหัวเรื่อง "การเปลี่ยนแปลงของญี่ปุ่นหลังสงคราม” (The Metamorphosis of Japan After the War 1945-1964) ซึ่งเป็นผลงานภาพถ่ายของช่างภาพชาวญี่ปุ่น 11 ท่าน ในช่วงหลังสงครามจนถึง พ.ศ.2507 มีภาพทั้งสิ้น 123 ภาพ ผมจึงขอนำประเด็นที่มองเห็นมาเสนอท่านผู้อ่านครับ

ภาพทั้งหมดถูกจัดเรียงในกรอบความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้น โดยจัดแบ่งเป็น 3 ช่วงเวลา ได้แก่ ช่วงแรก ผลจากสงคราม ช่วงที่สอง ระหว่างขนบธรรมเนียมประเพณีกับความเป็นสมัยใหม่ และช่วงที่สาม สู่การเป็นญี่ปุ่นยุคใหม่

ช่างภาพทั้ง 11 ท่าน ถ่ายภาพและปรารถนาที่จะถ่ายทอดความรู้สึกของท่าน ในแต่ละภาพแตกต่างกันออกไป แต่เมื่อถูกนำมาจัดเรียงเข้าในกรอบเวลาดังกล่าว ภาพหนึ่งๆ ที่จริงๆ แล้ว อาจจะต้องการเสนอความคิดความรู้สึกอีกอย่างหนึ่งกลับถูก"กรอบเวลา" กำกับ/ชักนำความรู้สึก/ความหมายของผู้ชมที่มีต่อภาพหนึ่งๆ ให้ดำเนินไปตามความหมายของช่วงเวลา

หากพิจารณาการกำกับ/ชักนำเช่นนี้ ก็กล่าวได้ว่าจะ"ภาพ" แต่ละภาพ ถือได้ว่าเป็นส่วนที่ถูกเน้น (Foreground) ขณะเดียวกัน "กรอบเวลา" การจัดเรียงรูปกลายเป็นส่วนพื้นหลัง (Background) แต่ที่สำคัญก็คือ ส่วนพื้นหลังกลับมาเป็นตัวกำกับ/กำหนดความหมายการรับรู้และความรู้สึกของส่วนที่เป็น Foreground

การมองด้วยสายตาของเราก็ทำหน้าที่เหมือนกับภาพถ่าย การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า เรามองเห็นแยกกันระหว่างส่วนที่เป็น Foreground กับส่วนที่เป็น Background และการเห็นก็จะถ่ายทอดไปสู่ระบบความทรงจำของเราทั้งสองส่วน หากลองระลึกถึงภาพในอดีตดูนะครับ เราจะมีภาพ Foreground ขึ้นมาลอยเด่น แต่ความรู้สึกที่เกิดกลับจะขึ้นอยู่กับ Background

ตัวอย่าง การหวนระลึกถึงเพื่อนเก่าโรงเรียนเดิม เราจะนึกถึงเหตุการณ์หรือภาพเรากับเพื่อนทำอะไรสักอย่างหนึ่งซึ่งเป็น Foreground แต่ความรู้สึกที่เข้ามากำกับให้เกิดความรู้สึกโหยหา กลับเป็นส่วนทั้งหมดของความสัมพันธ์ในโรงเรียนเก่าซึ่งเป็น Background

ประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือ Foreground นั้นไม่มีความเปลี่ยนแปลง หากแต่การรับรู้และให้ความหมายต่อ Background กลับเปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขของชีวิตผู้คน ซึ่งส่งผลทำให้เราเปลี่ยนแปลงการให้ความหมายของ Foreground และอาจจะเปลี่ยนไปในระดับหน้ามือเป็นหลังมือก็ได้ เมื่อชีวิตในปัจจุบันของเราตีความ Background ไปในอีกทางหนึ่ง

ภาพความทรงจำเพื่อนในโรงเรียนเก่า ย่อมมีความหมายและความรู้สึกไม่เหมือนกันในห้วงคำนึงของเพื่อนที่ประสบความสำเร็จกับเพื่อนที่ล้มเหลวในชีวิต

ความทรงจำของเราที่แบ่งได้เป็นสองส่วน ที่สัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น อันได้แก่ ความทรงจำอดีตเฉพาะของเรา กับความทรงจำที่เป็นของสังคม ซึ่งในส่วนของสังคมจะเป็นส่วนสำคัญของ Background ที่จะเข้ามากำกับความทรงจำส่วนเฉพาะของเราที่มีลักษณะเป็น Foreground

ถึงตรงนี้ เราก็จะพอเข้าใจได้ว่า ทำไมผู้คนจำนวนมากที่ครั้งหนึ่งเคยอุทิศ "ชีวิต ความคิด และศรัทธา" มอบให้แก่มวลมหาประชาชน (ที่ไม่ใช่ของท่านลุงสุเทพ) ในสมัยก่อนจึงสามารถที่จะกลืนผสมเอาการยอมรับเผด็จการทหารได้อย่างไม่กังวลใจใดๆ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ Background ในความทรงจำถูกแปรเปลี่ยนไป ตามจังหวะของชีวิตและสถานะของเขาในปัจจุบัน ในทำนองกลับกัน คนที่เป็น "ขวา" ในสมัยก่อนก็อาจจะเป็น "ซ้าย" ในปัจจุบันได้

การทำความเข้าใจ "ความทรงจำ" และ "การลืม" ของคนในสังคมไทยจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เรามักจะเชื่อกันว่า คนไทยลืมง่าย เพราะคนไทยจะไม่แสดงตนไปในแบบเดิมๆ อย่างที่เคยทำกันมา ซึ่งเหมือนกับว่าพวกเขาได้ลืมอะไรที่เคยแสดงเอาไว้ไปหมด แต่ในความเป็นจริง พวกเขากำลังสร้าง "ความทรงจำ" ชุดใหม่ โดยที่เชื่ออย่างบริสุทธิใจว่า เป็น "ความทรงจำ" เดิม เพราะว่าจะมี Foreground อัน/ชุดเดิมตั้งเด่นอยู่ ซึ่งหมายความว่าพวกเขาไม่ได้ลืมง่ายหรอก แต่พวกเขากำลังเปลี่ยนภาพและความหมายของ "ความทรงจำ" จนทำให้ไม่สามารถแสดงตนได้อย่างที่เคยทำมา

การทำความเข้าใจ "การจำ" และ "การลืม" จึงจำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงปัจจุบันกาล ที่คนดำรงชีวิตอยู่  พร้อมไปกับการทำความเข้าใจ "ความทรงจำ" เดิมว่า ก่อกำเนิดให้จำกันมาในเงื่อนไขบริบททางสังคมอย่างไร  เพื่อที่จะนำสองส่วนนี้มาพิจารณาถึง "ความทรงจำ" ในปัจจุบัน ลองนึกถึงผู้คนที่สนับสนุนนายโดนัล ดั๊ก  เอ้ย ไม่ใช่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ดูซิครับ ผมว่าหากลองศึกษา "ความทรงจำ" ของคนกลุ่มนี้จะพบว่า พวกเขาจดจำ "อดีต" ของสหรัฐอเมริกาอีกลักษณะหนึ่งที่แตกต่างไปจากที่เคยจำมาอย่างแน่นอน

สังคมไทยน่าจะต้องเร่งทำความเข้าใจในเรื่อง "ความทรงจำ/การจำ และการลืม" กันให้มากขึ้นนะครับ เพราะ Background ของคนไทยเปลี่ยนแปลงเร็วมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อ Foreground ที่จดจำกันมาอย่างแน่นอนครับ