พื้นฐานการกำกับดูแลกิจการที่ดีของธุรกิจ

พื้นฐานการกำกับดูแลกิจการที่ดีของธุรกิจ

การกำกับดูแลกิจการที่ดี คนส่วนใหญ่มักคิดว่าเป็นเรื่องของธุรกิจขนาดใหญ่หรือบริษัทในตลาดฯ ที่หากธุรกิจประสบปัญหาจะสร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง

ส่วนธุรกิจเล็กๆ หรือธุรกิจเอสเอ็มอี อาจยังไม่จำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องการกำกับดูแลกิจการของตนเอง

แต่ความเข้าในดังกล่าว ถูกต้องเพียงส่วนเดียวเท่านั้น!!

ความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดีของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก จะอยู่ที่การนำพาธุรกิจที่เป็นเจ้าของหรือเป็นผู้บริหารต้องรับผิดชอบเพื่อนำธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน ไม่ล้มหายตายจากไปจากตลาดโดยง่ายอย่างเป็นที่น่าเสียดายเวลาที่สะสมมาในการสร้างธุรกิจขึ้น

แม้ว่าความหมายของคำว่า “การดูแลกิจการที่ดี” อาจมีความไม่แน่นอนชัดเจน เนื่องจากการดูแลกิจการที่ดี จะต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่างมาประกอบกัน

เช่น  สถานการณ์ของเศรษฐกิจในระดับประเทศ ระดับพื้นฐานของจริยธรรมทางสังคมโดยรวม ขนาดของธุรกิจ ระดับการแข่งขันทางธุรกิจ ฯลฯ เป็นต้น

แต่เราอาจมองความหมายของ “การกำกับดูแลกิจการที่ดี” ได้ใน 2 มิติ คือ ในมิติเชิงกว้าง และในมิติเชิงลึก

ในมิติเชิงกว้าง จะหมายถึง ความรับผิดชอบของธุรกิจ ต่อการรักษากฎหมาย กฎระเบียบทางการค้า และกฎกติกาที่เป็นที่ยอมรับและใช้กันอยู่ระหว่างธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ธุรกิจต้องมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้อง

ในมิติเชิงลึก จะหมายถึง ความรับผิดชอบของธุรกิจ ต่อ ผู้บริหาร เพื่อนร่วมงาน และผู้ที่เป็นหุ้นส่วน รวมไปถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเชิงธุรกิจและสังคม เช่น คู่ค้า ลูกค้า สถาบันการเงิน หน่วยงานภาครัฐ ชุมชนโดยรอบ และสังคมทั่วไป

โดยทั่วไปแล้ว การกำกับดูแลกิจการที่ดี มักจะเกิดขึ้นจากสามัญสำนึกและความจริงใจของผู้บริหารหรือเจ้าของธุรกิจ โดยไม่จำเป็นต้องมีการบังคับ เพื่อนำไปสู่วัตถุประสงค์สำคัญจากการดำเนินธุรกิจ คือ การสร้างความยั่งยืนให้แก่ธุรกิจอย่างยาวนาน

รวมไปถึง ภาพลักษณ์และชื่อเสียงของธุรกิจ ที่จะเป็นผลดีต่อการได้รับความเชื่อถือ นำไปสู่ผลประกอบการที่เติบโต และความสามารถในการสร้างกำไรที่มั่นคง ตลอดจนการได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากแหล่งภายนอกต่างๆ สำหรับการขยายธุรกิจ หรือการดำเนินธุรกิจต่อไปได้โดยไม่เกิดอุปสรรคใดๆ

พื้นฐานสำคัญที่จะนำธุรกิจไปสู่การมีระบบเพื่อการบริหารจัดการการกำกับดูแลธุรกิจ ได้แก่ โครงสร้างของการบริหารจัดการ ซึ่งรวมถึง โครงสร้างของความเป็นเจ้าของ หรือโครงสร้างของผู้ถือหุ้น โครงสร้างของการบริหารจัดการ โครงสร้างของการจดทะเบียนธุรกิจ

ในส่วนของผู้รับผิดชอบสูงสุดของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารในธุรกิจที่มีเจ้าของหลายรายร่วมกัน หรือผู้บริหารของธุรกิจที่มีเจ้าของคนเดียว การกำกับดูแลกิจการที่ดี มักจะเกิดขึ้นจากความตระหนักในการรับผิดชอบส่วนตัว การถูกบังคับหรือเงื่อนไขจากข้อผูกพันหรือสัญญาทางธุรกิจ หรือจากอิทธิพลภายนอกต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากผู้มีส่วนได้เสียต่อธุรกิจ

องค์ประกอบของการกำกับดูแลกิจการที่ดี ได้แก่

๐ หลักของความยุติธรรมและความเท่าเทียมกันของผู้มีส่วนได้เสีย

เริ่มตั้งแต่การให้ความสำคัญของผู้ถือหุ้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีส่วนเป็นเจ้าของธุรกิจ ควรได้รับความยุติธรรมในการได้รับส่วนแบ่งจากผลประกอบการธุรกิจ ผู้บริหารและพนักงาน ควรได้รับความยุติธรรมในการได้รับค่าจ้างเงินเดือนตามหน้าที่งาน ความรับผิดชอบ และผลการทำงาน คู่ค้าและลูกค้า ควรได้รับความยุติธรรมในเรื่องของราคาซื้อขายหรือมูลค่าทางธุรกิจอย่างเหมาะสม

๐ หลักของความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจและการเปิดเผยข้อมูล

ธุรกิจควรให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลที่มีสาระสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจอย่างเพียงพอ ทันเหตุการณ์และทันเวลา เช่น การเปิดเผยข้อมูลด้านการเงินและผลประกอบการ รวมไปถึงการจัดให้มีระบบที่แสดงความน่าเชื่อถือของข้อมูล เช่น การได้รับการรับรองจากองค์กรหรือบุคคลภายนอกที่ไม่มีส่วนได้เสียกับธุรกิจ

๐ หลักของความมีเหตุผลในการกำหนดทิศทางของธุรกิจ

การกำหนดและเปิดเผยเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าหมายของธุรกิจ พร้อมกับการมีระบบดูแล ติดตาม และประเมินผล ที่จะแสดงให้เห็นได้ว่า ธุรกิจได้ดำเนินไปตามวิสัยทัศน์และนโยบาย ได้ประสบความสำเร็จหรือไม่ เกิดอุปสรรคใดๆ และธุรกิจปรับแก้อุปสรรคต่างๆ ได้อย่างไร

๐ หลักของความรับผิดชอบและยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง

ได้แก่ การระบุความรับผิดชอบของเจ้าของ หุ้นส่วน และผู้บริหารระดับต่างๆ อย่างชัดเจน การระบุความรับผิดชอบตามกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และการใช้ทรัพยากรของโลกอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

การกำกับดูแลกิจการ เป็นเครื่องมือการบริหารจัดการธุรกิจ ที่โลกของธุรกิจจะให้ความสำคัญมากขึ้นอย่างรวดเร็วและเข้มข้น ธุรกิจไม่ว่าจะมีขนาดใหญ่หรือเล็ก จำเป็นที่จะต้องมีระบบและแนวทางในการกำกับดูแลกิจการของตนเอง และแสดงให้เห็นต่อสังคมในวงกว้าง

เพื่อที่จะสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ สังคม และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศชาติได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป