ฉากทัศน์ VS วิสัยทัศน์นักท่องเที่ยวไทย 2568

ฉากทัศน์ VS วิสัยทัศน์นักท่องเที่ยวไทย 2568

ศ.เทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานกรรมการสาขาเศรษฐศาสตร์ สภาวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ผู้เขียนดำเนินการจัดทำยุทธ

ศาสตร์วิจัยด้านเศรษฐกิจท่องเที่ยว จึงลองทำฉากทัศน์ (scenarios) มาเป็นตุ๊กตา เพื่อเป็นจุดตั้งต้นให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียวิพากษ์เพื่อให้ได้ประเด็นยุทธศาสตร์และแนวทางการวิจัยต่อไป

การทำฉากทัศน์เริ่มจากการดูตัวแปรสำคัญๆ ที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนอนาคต ซึ่งมี 2 กลุ่ม กลุ่มที่กระแสและแนวโน้มแน่นอน เช่น การเข้าสู่สังคมสูงวัยของทั้งประเทศที่ใช้บริการท่องเที่ยวของเราและของสังคมไทย จำนวนนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาเรื่อยๆ อิทธิพลของเทคโนโลยีดิจิตัลที่ทำให้เกิดสังคมก้มหน้า ปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องเข้าใจ และพิจารณาผลกระทบอย่างถ้วนถี่ในการวางยุทธศาสตร์ เพื่อจะดูว่าเราจะมีโอกาสและเผชิญกับความท้าทายอะไรบ้าง แต่ไม่ใช่ปัจจัยที่มาสร้างฉากทัศน์

ปัจจัยที่นำมาสร้างฉากทัศน์จะเป็นปัจจัยที่มีโอกาสเปลี่ยนแปลงสูง ซึ่งจะทำให้ภาพอนาคตพลิกผันอย่างเห็นได้ชัด หรือจากหน้ามือเป็นหลังมือ เช่นการเปลี่ยนแปลงระบอบทางการเมือง หรือเช่นการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร และตัวแปรที่อาจผันผวนเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องมีการเตรียมการรองรับ การเลือกปัจจัยผันผวนก็ควรเลือกปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญสำหรับเรื่องทั่วไปหรือเรื่องอื่น แต่ไม่ใช่เรื่องที่เป็นพันธกิจหลักของเรา

ผู้เขียนลองเลือกการลงทุนจากต่างประเทศและแรงงานข้ามชาติ เป็นตัวแปรในการสร้างฉากทัศน์ หากการลงทุนจากต่างประเทศ เป็นการลงทุนในโครงการตลาดบน พละกำลังในการทำตลาดบนก็จะยิ่งสูง ผลที่ได้มีหลายฉากทัศน์ แต่จะแยกเป็น 2 ฉากทัศน์ที่สุดโต่งมาดูกันก่อน คือ ฉากทัศน์ที่ตั้งชื่อให้จำง่ายว่า “พระกระโดดกำแพง” ซึ่งเป็นชื่ออาหารแพงระยับ ประกอบไปด้วยวัตถุดิบราคาแพงฉากทัศน์นี้เกิดจากการลงทุนต่างชาติและคนไทยเป็นการลงทุนเพื่อตลาดบน (Hi-end market) แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาเป็นแรงงานทักษะสูง เช่น แพทย์ พยาบาล ผลก็คือไทยเป็นประเทศที่นักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูงเข้ามาท่องเที่ยว มารับบริการ Medical hub มาก แต่จะมีจีนเป็นชาติสำคัญทั้งในด้านการลงทุนและการท่องเที่ยว

ข้อดีก็คือ สิ่งแวดล้อมไม่ทรุดโทรมมากนัก เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวไม่สูงมาก เพราะไทยมีราคาค่าท่องเที่ยวแพง แต่ข้อด้อยก็คือ ค่าครองชีพคนไทยจะสูง การรักษาพยาบาลราคาแพง การกระจายรายได้ไม่ทั่วถึง ผลประโยชน์ตกกับผู้ประกอบการและแรงงานต่างชาติที่มีทักษะระดับสูงมากกว่า

ฉากทัศน์ที่ 2 เป็นฉากทัศน์ ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” คือไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับมวลชน มีนักลงทุนต่างชาติและท้องถิ่น ลงทุนกระจัดกระจายเป็นรายเล็กรายน้อยแทรกซึมไปทุกพื้นที่ ข้อดีของอนาคตเช่นนี้ก็คือ การกระจายรายได้ดีกว่า“พระกระโดดกำแพง” แรงงานไทยและนายทุนไทยก็มีโอกาสมีส่วนร่วม แต่ผลตอบแทนไม่สูงเพราะเป็นตลาดล่าง อีกทั้งมีการแข่งขันค่อนข้างสูงจากแรงงานข้ามชาติไร้ทักษะ และผู้ลงทุนรายย่อยจากต่างประเทศ โดยเฉพาะนักลงทุนจีน ซึ่งมีความสามารถในการลงทุนทุกระดับประทับใจ ข้อด้อยของฉากทัศน์นี้ก็คือ ไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวราคาถูก มีนักท่องเที่ยวจีนทะลักเข้ามาอย่างล้นหลาม หากการกำกับแหล่งท่องเที่ยวยังเป็นเช่นในปัจจุบัน ที่ขาดระบบกำจัดน้ำเสีย กำจัดขยะที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการกำกับดูแลทรัพยากรท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรท่องเที่ยวก็จะทรุดโทรมลงไปเรื่อยๆ

ทั้ง 2 ฉากทัศน์นี้เป็นอนาคตที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ไม่ใช่อนาคตที่พึงประสงค์ อนาคตที่พึงประสงค์เราอาจเรียกว่า วิสัยทัศน์ จะขอสมุญานามว่าผัดไทยกุ้งสด” ซึ่งเป็นอาหารที่เสริมได้ทั้งในโรงแรม 5 ดาว และตลาดโต้รุ่ง เป็นอาหารที่มีเอกลักษณ์ไทย (ไม่เคยเห็นที่ไหนใส่มะขามเปียกในการผัดก๋วยเตี๋ยว) ภายใต้วิสัยทัศน์นี้จะมีความลงตัวระหว่างความมั่งคั่ง ความยั่งยืน และความเป็นธรรม ผู้ประกอบการไทยและต่างชาติที่เสียภาษีและลงทุนตามกติกาได้รับการส่งเสริมและต้อนรับจากชุมชน ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรท่องเที่ยวตามกติกาอย่างชาญฉลาดและยั่งยืน

เมื่อเราทำฉากทัศน์และวิสัยทัศน์เสร็จ เราก็ได้ประเด็นยุทธศาสตร์อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น (หมายความว่า ก่อนจะถึงฉากทัศน์ จะมีการทำการศึกษาแนวโน้มของปัจจัยหลักกลุ่มที่ 1 ที่มีแนวโน้มชัดเจน และทำ SWOT ขององค์กรที่เราจะทำฉากทัศน์ให้ซึ่งจะไม่กล่าวในที่นี้) ซึ่งจะแบ่งเป็นประเด็นยุทธศาสตร์ คือ (1) การกระจายรายได้ท่องเที่ยวอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม (2) การเพิ่มรายได้ท่องเที่ยวจากตลาดระดับสูง (3) การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติด้านการท่องเที่ยวให้ยั่งยืน (4) การพัฒนาทักษะของบุคลากรท่องเที่ยว

ยุทธศาสตร์ของการบริหารจัดการการท่องเที่ยวก็จะเป็นไปตามประเด็นเหล่านี้ เช่น ในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติก็จะเน้นมาตรการกำกับจำนวนนักท่องเที่ยวให้เหมาะกับกำลังรองรับ และการใช้มาตรการทางการคลัง (ภาษีและค่าธรรมเนียม) ที่เหมาะสมในการกำกับนักท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ การออกแบบภาษีและค่าธรรมเนียมจากการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ค่าธรรมเนียมสัมปทานปีนเขา ค่าธรรมเนียมดำน้ำ ค่าธรรมเนียมการใช้หาด

ส่วนการวิจัยที่ต้องมีก็คือ การศึกษาเพื่อกำหนดกำลังรองรับในพื้นที่เปราะบาง การศึกษาความยินดีที่จะจ่ายค่าธรรมเนียมการใช้ประโยชน์ทรัพยากรท่องเที่ยว สำหรับประเด็นยุทธศาสตร์อื่นๆ ก็จะหาแนวทาง นโยบาย มาตรการในทำนองเดียวกัน

สำหรับผู้สนใจยุทธศาสตร์วิจัย ด้านการท่องเที่ยวขอเชิญไปฟังการอภิปรายเรื่อง ฉากทัศน์ของการวิจัยของไทยใน 2 ทศวรรษข้างหน้า จัดโดยสภาวิจัยแห่งชาติ ห้องโลตัส 1-2 ชั้น 22 บางกอกคอนเวนชั่น เซ็นทารา ไม่มีค่าใช้จ่ายแต่ต้องลงทะเบียนล่วงหน้าทางอินเทอร์เน็ต พบกันตัวเป็นๆ วันนั้นค่ะ