จากเทคโนโลยีสุดล้ำกลับสู่ความเป็นมนุษย์(2)

จากเทคโนโลยีสุดล้ำกลับสู่ความเป็นมนุษย์(2)

ต่อเนื่องมาจากกระแสการใช้ชีวิตแบบดิจิทัลไลฟ์ที่สวนทางกับการพัฒนาด้านจิตใจ

มาจนถึงบทบาทของเทคโนโลยีสุดล้ำที่มีความเป็นคนในการปฎิสัมพันธ์มากขึ้น อีกเทรนด์ในตระกูลความเป็นมนุษย์เพื่อมนุษยชาติที่น่าจับตามอง คือ การใช้เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์เพื่อความดีงาม

Creativity for Good สร้างสรรค์เพื่อสรรสร้างความดีงาม เมื่อมาดูในงานอวอร์ดโฆษณาต่างๆระดับโลก ในปีก่อนๆเรามักจะเห็นความหวือหวาของการใช้เทคโนโลยี ทั้งในสื่อดิจิทัลและโซเชียล ที่ล้วนแต่เป็นการสร้างสีสันและความน่าตื่นเต้น ที่หลายๆนักการตลาดจะอิงกับงานลักษณะนี้ว่าเป็นการตลาดที่เน้นสร้างประสบการณ์ผ่านเทคโนโลยีและสื่อใหม่ (Experiential Marketing) ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้ก็จะยังคงเน้นผลักดันประสบการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน ตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง และเป็นการต่อยอดไปเรื่อยๆ

มิติใหม่ที่เปลี่ยนไปและเห็นได้ชัดในปี 2559 นี้ คือ งานที่ได้รับรางวัลส่วนใหญ่จะมีรูปแบบการใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์เพื่อตอบโจทย์ปัญหาสังคมที่เป็นประเด็นอยู่ในยุคปัจจุบัน โดยบทบาทของแบรนด์นั้นไม่ได้อยู่ในกรอบของการโฆษณาเพื่อขายสินค้าอย่างยุคเดิมๆ

ประเด็นหนึ่งที่ถือว่ามาแรงในปีที่ผ่านมาและไม่พูดถึงคงไม่ได้ คือ กระแสความเท่าเทียมกัน (Equality) ตั้งแต่ กระแสสีรุ้ง (Gay Pride) มาจนถึงการปฏิวัติมุมมองที่คนมีต่อผู้หญิงที่อ่อนแอและด้อยกว่าผู้ชาย (Feminism) จนไปถึงเชื้อชาติซึ่งกำลังเป็นกระแสในโซเชียลทุกวันนี้ (Black Lives Matter) จริงๆแล้วเรื่องเหล่านี้มากันมาหลายยุคหลายสมัย แต่กำลังเป็นโอกาสใหม่ๆสำหรับแบรนด์ในการสร้างจุดยืนของตัวเองเพื่อรณรงค์สรรสร้างความดีงามที่สอดคล้องกับตัวเอง

อีกประเด็นมาแรงไม่แพ้กัน คือ การสร้างความรับรู้เรื่องโรคและสุขภาพ ในยุคที่โรคร้ายและสุขภาพกำลังเป็นเทรนด์อยู่รอบตัวเราก็ว่าได้ ในแง่การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์เพื่อรณรงค์การรับรู้เรื่องโรคร้าย วิธีการตรวจสอบเบื้องต้น และการป้องกันตัวเอง ก็ถือว่าอีกโอกาสหนึ่งของแบรนด์โดยเฉพาะการสื่อสารเฉพาะกลุ่มฐานลูกค้า เช่น ผู้หญิงและการตรวจสอบมะเร็งเต้านม หรือ การใช้เทคโนโลยีมาเป็นแรงผลักดันการออกกำลังกายให้บรรลุถึงเป้าหมายสุขภาพสำหรับกลุ่มรักสุขภาพ เป็นต้น โดยหัวใจหลักคือการให้ผู้บริโภครู้สึกไม่เป็นเหยื่อต่อโรคแต่หันมากำหนดการใช้ชีวิตตัวเองให้ดีขึ้น

             ประเด็นของการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส และรูปแบบการบริจาคก็มีมิติใหม่ๆที่เปลี่ยนไป เรื่องของคุณภาพชีวิตเด็กด้อยโอกาสไปจนถึงเรื่องของสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ยังขาดแคลน เช่น น้ำดื่มน้ำใช้ ความสะอาดในชีวิตประจำวัน ก็เป็นโอกาสสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคที่ต่างหันมามีบทบาท ทั้งการประกาศจุดยืนของตนประกอบไปกับรูปแบบการส่งเสริมโครงการดีๆในระยะยาวผ่านพันธมิตรต่างๆ หรือ สำหรับสินค้าเทคโนโลยีและสมาร์ทโฟนก็หันมาพัฒนานวัตกรรมแก้ปัญหาของผู้ด้อยโอกาสให้ใช้ชีวิตได้อย่างคนทั่วไป

ในยุคที่ The Human Trend ความเป็นมนุษย์ ความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ เป็นเทรนด์มาแรง สวนกระแสความพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่ไม่เน้นการเติบโตในแง่คุณธรรมและจิตใจ การก้าวทันเทคโนโลยีอย่างเดียวคงไม่พอ

แบรนด์ต้องย้อนกระแสกลับสู่ความเป็นมนุษย์ในมุมมองที่มีตัวตนและจุดยืนต่อสังคมอย่างชัดเจน