บีโอเจทุ่ม6ล้านล้านเยน กระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่น

บีโอเจทุ่ม6ล้านล้านเยน กระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่น

ในที่สุดมติ 7 ต่อ 2 ของบอร์ดธนาคารกลางญี่ปุ่น

 (บีโอเจ) ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบที่ 0.1% และรักษาฐานเงินไว้เท่าเดิม แต่กลับยอมทุ่มเงินอีก 6 ล้านล้านเยน หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัวเพื่อซื้อกองทุน ETF ซึ่งเป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้น เพื่อจะบริหารสินทรัพย์ให้ได้ผลตอบแทนตามดัชนีอ้างอิง ที่ออกจำหน่ายในรูปเงินดอลลาร์โดยเน้นให้เกิดการลงทุนในภาครัฐบาล ขานรับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ที่ประกาศในวันพฤหัสบดีว่าจะใช้งบประมาณมากถึง 28 ล้านล้านเยน รวมเป็นยอดการใช้จ่ายเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในรอบนี้ราว 35 ล้านล้านเยน ทั้งนี้ สิ่งที่รัฐบาลตัดสินใจดำเนินการครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่นายเบน เบอร์นันเก้ อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้เสนอแนะให้ใช้มาตรการอัดฉีดเงิน QE อย่างเต็มที่เหมือนกับที่เฟดที่ได้ดำเนินการแก้ไขวิกฤติการเงินสหรัฐที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2008 จนสำเร็จในขณะนี้

แผนการใช้จ่ายเงินงบประมาณโดยตรงของรัฐบาลญี่ปุ่น จะดำเนินการผ่านทางการคลัง 7.5 ล้านล้านเยน การลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐาน 10.7 ล้านล้านเยน และสนับสนุนบรรยากาศการลงทุนของ SMEs อีก 10.9 ล้านล้านเยน รวมถึงแรงสนับสนุนการเข้าซื้อกองทุน ETF ของบีโอเจอีก 6 ล้านล้านเยน โดยที่นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการบีโอเจได้แถลงภายหลังการประชุมนโยบายการเงินว่า จะยังคงเดินหน้านโยบายผ่อนคลายทางการการเงินต่อไป จนกว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับเป้าหมาย 2% โดยการผ่อนคลายนโยบายการเงินนั้น จะช่วยสนับสนุนการดำเนินของทางรัฐบาลญี่ปุ่น โดยคาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีทิศทางการฟื้นตัวในระดับปานกลาง และย้ำว่าการซื้อกองทุน ETF ยังเป็นนโยบายที่จำเป็นในปัจจุบัน พร้อมกับยืนยันว่านโยบายผ่อนคลายนโยบายการเงินที่เป็นอยู่ ยังไม่ถึงเพดานสูงสุดที่เป็นข้อจำกัดอยู่

ทั้งนี้มาตรการของบีโอเจดังกล่าวจะทำให้ตลาดรู้สึกผิดหวังอยู่บ้าง เนื่องจากมีการคาดการณ์ก่อนหน้าการประชุมของบีโอเจว่า จะมีการใช้นโยบายโปรยเงินแบบเฮลิคอปเตอร์ มันนี้ ตามที่นายเบน เบอร์นันเก้ ชี้แนะ โดยเพิ่มฐานเงินจาก 80 ล้านล้านเยน เป็น 100 ล้านล้านเยน และเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบมากขึ้นจาก -0'1% เป็น -0.3% ทำให้นักลงทุนต้องตามลุ้นต่อในการประชุมของบีโอเจครั้งต่อในช่วงวันที่ 21-22 กันยายนนี้ หากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น อีกทั้งก่อนหน้านี้บีโอเจปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปีงบประมาณ 2559 ลงเหลือ 0.1% จาก 0.5% ที่คาดการณ์ไว้ในเดือนเมษายน และยังได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจลงสู่ระดับ 1.0% จาก 1.2% ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจทั่วโลกจะชะลอตัวลง อันเนื่องมาจากผลกระทบของ Brexit ซึ่งทำให้อังกฤษต้องถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปภายใน 2 ปี

ท่ามกลางความพยายามในการผลักดันนโยบายผ่อนคลายทางการเงินของบีโอเจ และการเพิ่มงบประมาณใช้จ่ายอีกมหาศาลของกระทรวงการคลังญี่ปุ่นนั้น กลับส่งผลให้เงินเยนเกิดอาการผันผวนตามมา จากที่อ่อนค่าลงแตะ 106 เยนในวันพฤหัสฯ แต่พอถึงวันศุกร์กลับสวิงตัวแข็งค่าขึ้นมาแตะระดับ 103.21 การแข็งค่าขึ้นของเงินเยนอย่างฉับพลันถึง 2 เยนเศษในวันเดียว ส่งผลให้ตลาดพันธบัตรรัฐบาลล่วงหน้าประเภทอายุ 2 ปี เกิดความปั่นป่วนต้องระงับซื้อขายชั่วคราว (halt trading) นาน 21 นาทีระหว่างช่วงเวลา 09.51-10.12 น.ของช่วงเช้าวันศุกร์โดยอยู่ในระหว่างตรวจสอบสาเหตุของฝ่ายกำกับดูแลตลาดทุนญี่ปุ่นนั้น ย่อมสะท้อนให้มองเห็นแนวโน้มที่ความผันผวนจะยังคงมีต่อค่าของเงินเยน และเม็ดเงินสภาพคล่องจำนวนมหาศาล ที่กระจายเข้าซื้อขายและลงทุนในตลาดหุ้น และตลาดพันธบัตรทั่วโลกจะเกิดความเสี่ยงที่สูงขึ้นตามมา