สตาร์ทอัพ กับ เอสเอ็มอี

สตาร์ทอัพ กับ เอสเอ็มอี

ยังมีหลายคนสงสัยว่า“สตาร์ทอัพ”กับ“เอสเอ็มอี”นั้นมีความต่างกันอย่างไรหรือไม่ จนอาจได้ยินศัพท์พิเศษขึ้นมาอีก 1 คำ คือ“สตาร์ทอัพเอสเอ็มอี”

ทำไมเมื่อ 5 – 6 ปีที่ผ่านมา ผู้คนใฝ่ฝันที่จะเป็น “เอสเอ็มอี” แต่ในขณะนี้ต่างใฝ่ฝันที่จะเป็น “สตาร์ทอัพ” กันไปทั้งสิ้น

ความจริงแล้ว ทั้ง สตาร์ทอัพ และ เอสเอ็มอี ล้วนเป็นผู้ที่มีจิตวิญญาณที่จะเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเหมือนๆ กัน แต่อยู่ในยุคสมัยและความคิดพื้นฐานของการทำธุรกิจที่แตกต่างกัน

ว่ากันว่า ในสมัยที่ เอสเอ็มอี กำลังเป็นที่สนใจ ผู้ที่ต้องการประอาชีพเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ ต่างมีความหวังว่าจะได้สลัดสภาวะจำยอมจากการทำงานในรูปแบบการเป็น “ลูกจ้าง” ให้ออกมาสู่ความเป็นอิสระเสรีในการสร้างรายได้ให้กับตนเองในฐานะของ “เถ้าแก่” หรือ “เจ้าของกิจการ”

ดังนั้น เป้าหมายของ เอสเอ็มอี ในยุคนั้น ก็คือการสร้างธุรกิจด้วยตัวเอง ให้เกิดการเติบโตอย่างมั่นคง สร้างฐานะทางการเงินที่ยั่งยืนให้กับธุรกิจ ซึ่งก็หมายถึงรายได้ของตนเองจาก “เงินเดือน” ในตำแหน่ง “กรรมการผู้จัดการ” หรือ “เจ้าของธุรกิจ” นั่นเอง

เอสเอ็มอี จึงมุ่งสร้างธุรกิจที่มีความแปลกใหม่ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือการบริการพิเศษไปจากสิ่งที่มีอยู่ในตลาด เพื่อสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าหรือผู้บริโภคที่อยากได้สัมผัสกับความแปลกใหม่เหล่านั้น ซึ่งในขณะนั้น เรียกกันว่า “นวัตกรรม”

แต่สำหรับสตาร์ทอัพ ในยุคนี้ น่าจะเป็นผู้ประกอบการที่ต้องการสร้างธุรกิจให้มีความเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยอาศัยช่องว่างที่ธุรกิจที่กำลังดำเนินอยู่แล้วมองไม่เห็น ไม่ทันสนใจ หรือไม่คาดว่าจะเป็นแหล่งสร้างรายได้เพิ่มที่อาจมีศักยภาพสูง

ช่องว่างที่เป็นโอกาสเหล่านี้ อาจไม่ใช่ผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ แต่เป็นของเดิมที่เพิ่มความสะดวกสบายในการใช้งาน เพิ่มความรวดเร็ว เพิ่มประสิทธิภาพ

ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจที่ตลาดจะรู้จักกันดีอยู่แล้ว เช่น ฟินเทค ในธุรกิจการเงินการธนาคาร ธุรกิจจองโรงแรม ธุรกิจแท๊กซี่ ธุรกิจด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาล ฯลฯ

โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ ซึ่งก็เรียกกันว่าเป็น “นวัตกรรม” เช่นกัน

เมื่อทดลองเป็นผู้ริเริ่มในการผลักดันธุรกิจที่ไปตอบสนองกับช่องว่างและโอกาส จนสามารถสร้างธุรกิจขึ้นมาได้เป็นตัวตน สร้างแนวโน้มการเติบโตของรายได้ที่ก้าวกระโดดจนเป็นที่สะดุดตาของบริษัทใหญ่หรือบริษัทที่ต้องการขยายกิจการ ก็ตัดสินใจขายบริษัทสตาร์ทอัพของตนออกไป เพื่อไปสร้างธุรกิจใหม่

ปรัชญาและจิตวิญญาณในการทำธุรกิจที่แตกต่างกันนี้ น่าจะเป็นข้อแตกต่างที่จะตอบคำถามได้ชัดเจนขึ้นว่า สตาร์ทอัพ ต่างจาก เอสเอ็มอี อย่างไร

เอสเอ็มอี มองความสำเร็จทางธุรกิจจากความสามารถในการรักษาความเป็นเจ้าของธุรกิจของตนเองไว้ได้อย่างยาวนาน ในขณะที่ สตาร์ทอัพ วัดความสำเร็จทางธุรกิจจากความสามารถในการขายกิจการของตนเองออกไปโดยมีมูลค่าสูงสุด โดยใช้เวลาที่สั้นที่สุด

ส่วนใหญ่ของ เอสเอ็มอี มักจะเริ่มจากการเป็นผู้ประกอบการตัวคนเดียว หรือเป็นธุรกิจในครอบครัว ส่วน สตาร์ทอัพ มักจะเริ่มธุรกิจกันเป็นทีม โดยอาศัยความรู้ความชำนาญในแต่ละด้านของเพื่อนร่วมทีม ที่มีวิสัยทัศน์และแนวคิดทางธุรกิจที่เหมือนหรือคล้ายๆ กัน องค์ประกอบของทีม อาจเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย หากพบว่า พฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมเกิดเป็นอุปสรรค ต่อความก้าวหน้าของธุรกิจ

ในขณะที่ เอสเอ็มอี ชื่นชมความสำเร็จของตนเองจากความเสี่ยง หยาดเหงื่อ และแรงงาน ของตนเอง ท่องสูตรสำเร็จว่า เอสเอ็มอี 10 ราย จะประสบความสำเร็จเพียง 2 รายเท่านั้น จึงมุ่งหน้าไปสู่การเป็น 1 ใน 2 รายที่จะประสบความสำเร็จ ก่อร่างสร้างธุรกิจของตนเองจากธุรกิจขนาดเล็ก ไปเป็นธุรกิจขนาดกลาง และไปเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ในที่สุด

ส่วน สตาร์ทอัพ จะชื่นชมความสำเร็จของตนเอง จากความท้าทาย ความมันในชีวิต ไม่กลัวความเสี่ยงหรือความล้มเหลว และพร้อมที่จะเริ่มต้นใหม่เพื่อแสวงหาโอกาสต่อไป ท่องสูตรสำเร็จว่า สตาร์ทอัพ 10 จะล้มเหลวไป 8 ราย จึงไม่หวั่นไหวกับการเป็น 1 ใน 8 ราย ที่พร้อมจะเปลี่ยนโมเดลธุรกิจใหม่ ให้มีความเฉียบคมและโดดเด่น เพื่อให้ธุรกิจมีมูลค่ามากขึ้น

ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า สตาร์ทอัพในปัจจุบัน อาจมีอายุเฉลี่ยที่น้อยลง ทำให้ยังมีเวลาอีกมากในการสร้างประสบการณ์และทักษะในสมรภูมิการค้าอีกยาวนาน

ในความเหมือนกัน ไม่ว่า “เอสเอ็มอี” หรือ “สตาร์ทอัพ” ต่างต้องมีจิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการ มีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและต่อผู้บริโภค มีความรับผิดชอบต่อสังคมและเศรษฐกิจ เนื่องจากถือได้ว่า ต่างก็เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ นั่นเอง