ต้องฝ่าฟันอีกหลายด่าน

ต้องฝ่าฟันอีกหลายด่าน

การตัดสินใจถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป

 เริ่มส่งผลกระทบต่อประเทศต้นทางคืออังกฤษ เพราะฉุดรั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้ดำดิ่งลงมากที่สุดในรอบ 6 ปี ประเด็นที่คนอังกฤษวิตกเป็นพิเศษคือมูลค่าบ้าน และมีการฝากความหวังไว้ที่การใช้จ่ายของผู้บริโภค ว่าจะช่วยดันอังกฤษให้รอดพ้นภาวะถดถอยได้ แต่บรรดาร้านค้าปลีกรายงานยอดขายที่ลดลงมากหลังจากการลงประชามติ ในส่วนของกิจกรรมการก่อสร้างก็ลดลงเช่นกัน ซึ่งสัญญาณของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจเหล่านี้ นำไปสู่การคาดหมายว่าธนาคารกลางอังกฤษจะเคลื่อนไหวในวันที่ 4 สิงหาคม โดยอาจมีการลดดอกเบี้ยหรือเริ่มเข้าซื้อพันธบัตรอีกครั้ง

นอกจากการคาดหมายเกี่ยวกับธนาคารกลางอังกฤษ ว่าจะดำเนินมาตรการประคองเศรษฐกิจแล้ว ประเทศยักษ์ใหญ่เศรษฐกิจอันดับ 3 ของโลกอย่างญี่ปุ่นก็กำลังถูกจับตาเช่นกัน ว่าจะมีการเพิ่มมาตรการกระตุ้นหรือไม่ หลังจากผู้นำญี่ปุ่นส่งสัญญาณที่ชัดเจน ด้วยการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 28 ล้านล้านเยน และมีการมองกันว่าลำพังธนาคารกลางญี่ปุ่นหรือบีโอเจ จะเคลื่อนไหวเพียงลำพังนั้นอาจไม่สามารถขับดันตลาดได้มากนัก ดังนั้นจึงสมควรมีการจัดทำมาตรการควบคู่กับภาครัฐ ทั้งในส่วนของนโยบายการคลังและการเงิน จึงจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ดังที่หวังไว้

มาตรการที่ผู้นำญี่ปุ่นประกาศนำร่องมานั้น สูงกว่าการคาดหมายเบื้องต้นว่าจะอยู่ที่ 20 ล้านล้านเยน ทั้งยังคิดเป็นเกือบ 6% ของขนาดเศรษฐกิจญี่ปุ่น แต่ยังไม่มีรายละเอียดมากนัก ทราบคร่าวๆ เพียงว่าประกอบด้วยการปล่อยเงินกู้ 15 ล้านล้านเยนจากสถาบันการเงินกึ่งรัฐบาล การค้ำประกันเงินกู้ และการให้เงินอุดหนุนแก่บริษัทเอกชน ส่วนการใช้จ่ายด้านการคลังโดยตรงจะมีเพียงประมาณ 7 ล้านล้านเยน หรือ 1 ใน 4 ของมูลค่ามาตรการกระตุ้นทั้งหมด ส่วนอีก 6 ล้านล้านเยนจะเป็นโครงการลงทุนเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภาคเอกชน อย่างก่อสร้างรถไฟพลังแม่เหล็ก

ขณะที่ในอีกฟากหนึ่งของโลกอย่างสหรัฐ ปรากฏว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เคลื่อนไหวตามการคาดหมาย ด้วยการตรึงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม 0.25-0.5% พร้อมชี้ว่าการจ้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวในระดับพอประมาณนับตั้งแต่การประชุมครั้งหลังสุด เช่นเดียวกับการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นมาก เฟดแสดงท่าทีว่า“เบร็กซิท”ไม่ได้กระทบต่อสหรัฐมากนัก ด้วยการระบุว่าความเสี่ยงระยะสั้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจลดน้อยลงไป ในส่วนของเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำในอนาคตอันใกล้ อันทำให้มีการตีความว่าเฟดไม่รีบร้อนที่จะขึ้นดอกเบี้ยและต้องการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เพื่อให้มั่นใจก่อนเคลื่อนไหว ซึ่งมีแนวโน้มว่าอาจมีการปรับขึ้นในการประชุมเดือนธันวาคม

สภาพการณ์ที่เฟดยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย รวมถึง“เบร็กซิท” ทำให้กระแสเงินทุนไหลไปสู่การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง อย่างตลาดเกิดใหม่ที่เข้ามาเกือบ 25,000 ล้านดอลลาร์ช่วงเดือนกรกฎาคม และตลาดเกิดใหม่ในเอเชียก็ดึงดูดกระแสทุนได้มากที่สุด เป็นจำนวน 19,100 ล้านดอลลาร์ แต่ในภาพรวมแล้วการที่เศรษฐกิจขนาดใหญ่ๆ ของโลกยังไม่สามารถขยายตัวได้ในระดับสูงนัก และยังต้องอาศัยมาตรการในการประคับประคอง รวมถึงความไม่แน่นอนกรณีอังกฤษถอนตัวจากสหภาพยุโรป ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจและการค้าโลกไม่สดใส เพราะชัดเจนว่ายังมีการท้าทายอีกมากมายที่รออยู่ข้างหน้า