หลัง 7 สิงหาฯ สำคัญกว่า 7 สิงหาฯ

หลัง 7 สิงหาฯ สำคัญกว่า 7 สิงหาฯ

หากสำรวจอย่างจริงจัง ว่าคนไทยกี่คนได้อ่านเนื้อหา

ของร่างรัฐธรรมนูญกันอย่างละเอียดรอบด้าน และตัดสินใจจะเข้าคูหาวันลงประชามติที่ 7 ส.ค.บนพื้นฐานของสาระจริงๆ แล้ว เราอาจจะเกิดอาการตกใจอย่างยิ่งก็ได้

เพราะผมสอบถามผู้คนที่ได้พบปะในระยะหลังนี้ ส่วนใหญ่ยังไม่ได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญ และมีไม่กี่คนที่แสดงความกระตือรือร้น ว่าจะไปนั่งอ่านแต่ละบทแต่ละมาตรา อย่างใจจดใจจ่อเพื่อช่วยการตัดสินใจ ในวันสำคัญทางการเมือง

ส่วนใหญ่ที่บอกว่าจะให้ผ่านกับไม่ให้ผ่านนั้น มีเหตุผลที่ไม่เกี่ยวกับเนื้อหา ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องต่อต้านนักการเมืองคดโกง หรือการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากเกินไป

ในการสำรวจส่วนตัวของผมพบว่า ส่วนใหญ่ที่ตัดสินว่าจะกาเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบนั้น มาจากความชอบหรือไม่ชอบ คสช. รัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีคนนี้

ที่น่าตกใจไปกว่านั้นก็คือ เส้นแบ่งระหว่างคนที่เอาด้วยและไม่เอาด้วย กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นเส้นเดียวกับที่แบ่งระหว่างสีแดงกับสีเหลือง ระหว่าง นปช. กับ กปปส.

ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเนื้อหาของกฎหมาย ที่จะมากำหนดกติกาของบ้านเมืองแต่ประการใด

อีกส่วนหนึ่งที่บอกว่า “ยังไม่ได้ตัดสินใจ” แม้ในช่วงสิบวันก่อนวันประชามติ ก็ไม่ได้บอกว่ากำลังจะขอความกระจ่าง หรือคำอธิบายในบางประเด็นที่ต้องการ หากแต่กำลังคิดไม่ตกว่าบ้านเมืองจะเป็นอย่างไรหลังวันที่ 7 ส.ค.

หรือไม่ก็มีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่รู้ว่าจะกาคำถามที่หนึ่ง กับคำถามพ่วงไปทางเดียวกันหรือคนละทาง และผลของการกาสองช่องนี้ไปคนละทางจะทำให้เกิดภาวะ ทางตัน ของบ้านเมืองหรือไม่

สำหรับผม ไม่ว่าผลการลงประชามติจะออกมาอย่างไร ประเทศชาติก็ต้องเดินหน้าต่อไป และการแสวงหา กติกาสูงสุด ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคนไทยส่วนใหญ่ก็จะไม่ยุติลง

เพราะไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับไหนมีความ “สมบูรณ์” ที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันได้

มีแต่รัฐธรรมนูญที่สะท้อนถึงการแก้ปัญหาของบ้านเมืองในขณะนั้น และรัฐธรรมนูญที่ปูทางสำหรับการยกระดับ มาตรฐานของประเทศชาติให้สูงกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อให้ลูกหลานของเราก้าวผ่านความขัดแย้ง ที่กลายเป็นอุปสรรคขัดขวางการสร้างชาติสร้างบ้านเมืองมาถึงวันนี้

บางคนบอกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย

คนที่ต้องการให้ผ่านอ้างว่าถ้ามีข้อดีทำไมไม่ลงคะแนนให้ผ่าน

คนที่ไม่ต้องการให้ผ่านบอกว่าถ้ามีข้อไม่ดีทำไมจึงไม่ลงคะแนนให้ไม่ผ่าน

ทั้งคนที่จะให้ผ่านและไม่ให้ผ่าน ยังไม่สามารถตอบได้ว่าหลังจากมติออกมาวันที่ 7 ส.ค.แล้ว การผ่านหรือไม่ผ่านร่างนี้จะนำประเทศชาติไปสู่สถานการณ์อย่างไร

เพราะเราไม่พยายามร่วมกัน แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง และไม่มีความพยายามที่จะช่วยกันแสวงหาความเห็น จากประชาชนทุกภาคส่วน ในการที่จะเขียนกติกาสูงสุด ที่สอดคล้องกับความฝันความต้องการของคนรุ่นนี้และรุ่นต่อไปอย่างแท้จริง

ความขัดแย้งวันนี้จำกัดอยู่แค่คนไม่กี่กลุ่มที่เป็น ตัวละคร ของดราม่าการเมืองที่ยังยึดอยู่กับวิธีคิด และความต้องการของตนและกลุ่มตน มากกว่าที่จะช่วยกันเปิดกว้างให้มีการแสดงความคิดเห็น ที่สะท้อนถึงความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ จะผ่านการลงประชามติวันที่ 7 ส.ค.หรือไม่

ประเด็นสำคัญกว่านั้นคือหลังวันที่ 7 ส.ค. ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร เราในฐานะเป็นเจ้าของประเทศร่วมกันจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร?