มองผ่านการเลือกตั้งในอเมริกา(2)

มองผ่านการเลือกตั้งในอเมริกา(2)

สัปดาห์นี้ พรรคเดโมแครตประชุมใหญ่เพื่อคัดตัวแทนส่งลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกับนายโดนัลด์ ทรัมป์

เป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่านางฮิลลารี คลินตัน จะเป็นตัวแทนเพราะได้คะแนนจากสมาชิกส่วนใหญ่ในการหยั่งเสียงเบื้องต้น ผู้ติดตามความเป็นไปในอเมริกาย่อมทราบแล้วว่า นางคลินตันเป็นใครหลายคนวิตกว่าถ้าเธอชนะการเลือกตั้ง เมืองไทยจะได้รับผลกระทบสูงกว่า ผมมองว่าไม่น่าวิตก ไม่ว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดี ผลกระทบที่จะมีต่อเมืองไทยจะไม่ต่างกันนัก หากคนไทยไม่ดำเนินนโยบายที่ทำลายบ้านเมือง ยิ่งไม่น่าวิตก ผมสรุปจากมุมมองของการเสียกรุงศรีอยุธยา พม่าคงเผาเมืองได้ยากหากคนไทยไม่ทำความระยำเสียเอง

ผมติดตามความเคลื่อนไหวของนางคลินตันมานานและได้เล่าเรื่องของเธอไว้ในหนังสือชื่อ “เสือ สิงห์ กระทิง แรด” (ดาวโหลดได้จากเว็บไซต์ www.bannareader.com ซึ่งมีบทคัดย่อและบทวิพากษ์ของหนังสือที่จะอ้างถึงต่อไปพร้อมกับอีกกว่าร้อยเล่ม) นางคลินตันเป็นอเมริกันกระแสหลัก แนวนโยบายจึงจะไม่ออกไปนอกกรอบเดิม นั่นหมายความว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่จะยังมองไม่เห็นกับดักความคิดที่ตนติดอยู่ ชาวอเมริกันส่วนน้อยที่มองเห็นคงทำอะไรไม่ได้มากนอกจากจะดำเนินชีวิตไปตามแนวคิดของตน ข้อมูลบ่งว่าราวร้อยละ 25 ของชาวอเมริกันมองเห็นปัญหาอันเกิดจากกับดัก ข้อมูลนี้มีอยู่ในหนังสือชื่อ The Chaos Point ของ Irvin Laszlo ซึ่งพิมพ์ออกมา 10 ปีแล้ว ข้อมูลอาจเปลี่ยนไปบ้างหลังเวลาผ่านไป 10 ปีแต่คงมิได้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ นักวิชาการจึงออกมาเตือนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งในหนังสือเรื่อง Are We Rome? ของ Cullen Murphy และเรื่อง Freefall กับเรื่อง The Price of Inequality ของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล Joseph Stiglitz

หนังสือเหล่านั้นกล่าวถึงหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาซึ่งจะผลักดันให้อเมริกาล่มสลายในแนวของอาณาจักรโรมัน ปัจจัยสำคัญที่สุด ได้แก่ความเสื่อมทรามทางศีลธรรมจรรยาซึ่งผมมองว่าสาเหตุพื้นฐานเป็นการแย่งชิงทรัพยากร การแย่งชิงเกิดขึ้นเพราะกับดัก ซึ่งเกิดจากแนวคิดที่ว่ายิ่งร่ำรวย หรือบริโภคมากขึ้นเท่าไร ยิ่งมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น แม้การวิจัยจะได้แย้งว่าไม่เป็นความจริงแล้วก็ตาม (หนังสือซึ่งผมอ้างถึงในตอนแรกเรื่อง “ฝากภูมิปัญญาชาติไทยไว้กับครู” นำข้อสรุปของผลการวิจัยมาเสนอไว้ในปัจฉิมบทและนิตยสาร Time ฉบับประจำวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีผลการวิจัยที่เสริมให้ข้อสรุปนี้หนักแน่นยิ่งขึ้น)

ความเสื่อมทรามทางศีลธรรมจรรยาผลักดันให้เศรษฐีอเมริกันใช้สารพัดวิธีที่จะทำให้พวกตนร่ำรวยมากขึ้น และได้สัดส่วนของทรัพยากรสูงขึ้น ความสำเร็จของพวกเขาทำให้ความเหลื่อมล้ำเลวร้ายจนเป็นอันตรายแก่ประเทศ ซึ่งหนังสือที่อ้างถึงชี้ให้เห็นวิธีหนึ่งซึ่งชาวอเมริกันใช้กันอย่างแพร่หลาย ได้แก่การรวมกลุ่มกันเป็นสมาพันธ์เพื่อสนับสนุนนักการเมืองที่เอื้อประโยชน์แก่พวกตน ในกรุงวอชิงตันจึงมีสมาพันธ์อยู่หลายพันไม่ว่าจะเป็นของบริษัทยา พ่อค้าปืน บริษัทน้ำมัน หรือสถาบันการเงิน นอกจากสมาพันธ์แล้ว ยังมีการใช้มือปืนรับจ้าง (lobbyists) ให้ช่วยวิ่งเต้นแทนอีกด้วย มือปืนรับจ้างเหล่านี้มักมีอดีตนักการเมืองรวมอยู่ ซึ่งคนไทยคงได้รับรู้บ้างแล้วว่านักการเมืองไทยไปจ้างเพื่อช่วยกรุยทางให้ตนกลับสู่อำนาจ แม้มันอาจจะทำความเสียหายให้เมืองไทยก็ตาม

ท่ามกลางความเสื่อมทรามทางศีลธรรมจรรยานี้ มีมหาเศรษฐีอเมริกันกลุ่มหนึ่งซึ่งสวนกระแส ผู้นำได้แก่ บิล เกตส์ และวอร์เรน บัฟเฟตต์ ซึ่งร่ำรวยเป็นอันดับ 1 และ 2 ของอเมริกา สองคนนี้ร่ำรวยมหาศาลจากการทำธุรกิจตามครรลองของระบบตลาดเสรี แต่มีความเป็นอยู่คล้ายชนชั้นกลางทั่วไป พวกเขาได้เริ่มบริจาคทรัพย์สินจำนวนมหาศาลให้โครงการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์แล้วพร้อมกับได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะบริจาคทรัพย์สินเกือบทั้งหมดเมื่อวันที่พวกเขาจากโลกไป นอกจากนั้น พวกเขายังได้ชักชวนมหาเศรษฐีด้วยกันให้เขาร่วมอุดมการณ์อีกด้วย ตอนนี้มีมหาเศรษฐีจาก 17 ประเทศเข้าร่วมแล้ว 155 คนดังมีรายละเอียดอยู่ในเว็บไซต์ www.givingpledge.org 

ผมมองว่าเมืองไทยไม่ต่างกับอเมริกาในด้านการเสื่อมทรามทางศีลธรรมจรรยา ส่วนมหาเศรษฐีอันดับ 1 และ 2 ของไทยไม่มีทีท่าว่าจะหาทางช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันตามแนวของบิล เกตส์ และวอร์เรน บัฟเฟตต์ ตรงข้ามพวกเขายังพยายามกอบโกยอย่างเต็มที่แม้จะต้องละเมิดกฎเกณฑ์ของตลาดเสรีด้วยวิธีผูกขาดก็ตาม